เมโทโพรลอล (Metoprolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- เมโทโพรลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เมโทโพรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมโทโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมโทโพรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมโทโพรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมโทโพรลอลอย่างไร?
- เมโทโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมโทโพรลอลอย่างไร?
- เมโทโพรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ไมเกรน (Migraine)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- เลือดเป็นกรด (Acidosis)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) คือ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นยาตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มซีเล็กทีฟ เบต้า1 รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Selective beta1 receptor blocker หรือ Cardioselective beta blockers, หรือยา กลุ่ม Beta blocker) ทั่วไปมีทั้งยารับประทานและยาฉีด
ผลข้างเคียงที่เด่นของยาเมโทโพรลอล คือ
- นอนไม่หลับ
- อาการอ่อนแรง และ
- อาจมีอาการเป็นลมร่วมด้วย
การดูดซึมของยาเมโทโพรลอลจากระบบทางเดินอาหารมีเพียง 12% โดยประมาณ โดยเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาให้เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 7 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเมโทโพรลอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเป็นยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ในการรักษาได้รวดเร็ว การจะใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และห้ามผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยาเองด้วยจะก่อให้เกิดอัน ตรายติดตามมา
เมโทโพรลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเมโทโพรลอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน)
- รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular tachycardia)
- รักษาอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
- รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน(Acute myocardial infarction)
- ป้องกันการเกิดไมเกรน (Migraine)
เมโทโพรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมโทโพรลอลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการบีบตัว ลดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ จากกลไกโดยรวมที่กล่าวมาจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วยเช่นกัน
เมโทโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมโทโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- เป็นยาเม็ด ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
เมโทโพรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมโทโพรลอลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดยาเมื่อเริ่มต้นรับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วันเพียงครั้งเดียว หรือแบ่งรับ ประทานวันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) แต่หากเป็นยาชนิดที่ค่อยๆปลดปล่อยตัวยา (Extended-release) รับประทาน 25 - 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง ทั้งนี้ขนาดยาที่คงระดับการรักษารับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัม/วัน อนึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำการปรับขนาดยา
ข. สำหรับป้องกันไมเกรน: เช่น
- ใหญ่: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัม/วัน หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง)
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยาเมโทโพรลอล ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมโทโพรลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมโทโพรลอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมโทโพรลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เมโทโพรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) อาจเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยได้รับยาเมโทโพรลอลในขนาดสูงๆ โดยอาจจะมีอาการต่อไปนี้ เช่น
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- อ่อนแรง
- ท้องเสีย
- ฝันร้าย
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
- ตาพร่า
- เลือดไปเลี้ยงตามปลายมือ-ปลายเท้าลดลง (รู้สึกเย็นและ/หรือชา)
ส่วนอาการข้างเคียงที่รุนแรงที่อาจพบได้ เช่น
- ภาวะหัวใจเต้นช้าจนเป็นเหตุให้เป็นลมในที่สุด
- นอกจากนี้อาจพบ
- อาการตัวเขียว นิ้
- นิ้วมือ-นิ้วเท้าซีด
- มือ-เท้าบวม
- สมรรถภาพทางเพศด้อยลงไป
- ผมร่วง
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว/ อารมณ์แปรปรวน
- หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- ไอ
- กระหายน้ำ
- เจ็บคอ
- มีไข้
- ตาเหลือง/ ตัวเหลือง
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- บางครั้งยังอาจพบอาการคล้ายแพ้ยาโดยมีผื่นคันขึ้นตามตัว
มีข้อควรระวังการใช้เมโทโพรลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโทโพรลอล เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้ เช่น
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Sick sinus syndrome)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Decompensated heart failure)
- มีความผิดปกติในระบบการไหลเวียนเลือดที่รุนแรง (Severe peripheral arterial circulatory disorders)
- ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคหืด
- ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) ต่ำกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท
- ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคหืดที่ควบคุมโรคไม่ได้)
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และในหญิงให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวชนิด Compensated heart failure, ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก, ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, และผู้ป่วยที่เคยมีประวัติด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาชาด้วยอาจเกิดภาวะกดการทำงานของหัวใจ
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่อง จักรกลเพราะยามีผลให้ง่วงซึมได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมโทโพรลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมโทโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมโทโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเมโทโพรลอล ร่วมกับยา Reserpine (ยาลดความดัน) และยาในกลุ่มเอมเอโอไอ (MAOIs) จะทำให้ฤทธิ์ของยาเมโทโพรลอลเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเมโทโพรลอล ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม (Aluminium, เช่น ยาAluminium hydroxide) หรือเกลือแมกนีเซียม (Magnesium, เช่น ยา Magnesium hydroxide) จะทำให้การดูดซึมยาเมโทโพรลอลมากยิ่งขึ้น จึงควรเลี่ยงการรับประทานร่วมกันหรือปรับเวลาของการรับประทานไม่ให้ตรงกัน
- การใช้ยาเมโทโพรลอล ร่วมกับ ยาบางตัวอาจทำให้ความเข้มข้นของยาเมโทโพรลอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Bupropion, Cimetidine, Diphenhydramine, Fluoxetine, Hydroxycholoquine, Paroxetine, Quinidine, Ritonavir
- การใช้ยาเมโทโพรลอล ร่วมกับ กลุ่มยาชา/ยาสลบอาจเกิดความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และภาวะหัวใจล้มเหลว จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเมโทโพรลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเมโทโพรลอล: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เมโทโพรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมโทโพรลอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cardeloc (คาร์ดิล็อก) | T.O. Chemicals |
Cardoxone R (คาร์ดอกโซน อาร์) | Remedica |
Meloc (เมล็อก) | T. Man Pharma |
Melol (เมลอล) | Central Poly Trading |
Metoblock (เมโทบล็อค) | Silom Medical |
Metoprolol 100 Stada/Metoprolol 200 Stada Retard (เมโทโพรลอล 100 สตาดา/เมโทโพรลอล 200 สตาดา รีทาร์ด) | Stadia |
Metprolol (เมทโพรลอล) | Pharmaland |
Sefloc (เซฟล็อก) | Unison |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metoprolol [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=metoprolol [2021,Aug21]
- https://www.drugs.com/metoprolol.html [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/metoprolol?mtype=generic [2021,Aug21]