เฟอรัส กลูโคเนต (Ferrous gluconate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เฟอรัส กลูโคเนต (Ferrous gluconate) เป็นยาที่ใช้บำรุงเลือด (บำรุงโลหิต) โดยมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก มักนำมาใช้รักษาอาการโลหิตจาง ช่วยเพิ่มสารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงคือ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) แต่การได้รับเฟอรัส กลูโคเนตเป็นปริมาณมาก สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้เช่น

  • ในเด็กที่รับประทานยา 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสามารถเกิดพิษ (ผลข้างเคียง) จากยา
  • กรณีที่ได้รับยาถึง 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมจะก่อให้เกิดพิษมากจนส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตต่ำและช็อกในที่สุด บางคนอาจพบอาการวิงเวียน ชัก ปวดศีรษะจนเข้าภาวะโคม่า

เคยมีคำถามเปรียบเทียบประสิทธิภาพสูตรตำรับของเฟอรัสในโครงสร้างเคมีที่แตกต่างกันออก ไปเช่น เฟอรัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate) ซึ่งมีสรรพคุณใกล้เคียงกับเฟอรัส กลูโคเนต ต่างกันตรงที่ว่าเฟอรัส กลูโคเนตเป็นสารอินทรีย์ ส่วนเฟอรัส ซัลเฟตเป็นสารอนินทรีย์ และผู้ป่วยบางรายอาจจะมีความรู้สึกว่าการรับประทานเฟอรัส กลูโคเนตจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่าเฟอรัส ซัลเฟต จึงทำให้สูตรโครงสร้างของกลูโคเนตได้รับความนิยมมากกว่า อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาไม่ว่าจะตัวใด ต้องผ่านการคัดกรองและได้รับคำแนะนำจากแพทย์และ/หรือเภสัชกรก่อนเสมอ ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อยามารับประทานเอง

เฟอรัส กลูโคเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เฟอรัส-กลูโคเนต

ยาเฟอรัส กลูโคเนตมีสรรพคุณใช้รักษาภาวะโลหิตจางอันมีสาเหตุจากการขาดธาตุเหล็กของร่างกาย

เฟอรัส กลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟอรัส กลูโคเนตคือ ตัวยาจะถูกร่างกายลำเลียงไปเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดงคือ ฮีโมโกลบิน ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงสมบูรณ์และลดภาวะโลหิตจางลงได้

เฟอรัส กลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟอรัส กลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาวิตามินรวมชนิดเม็ดที่มีตัวยาเฟอรัส กลูโคเนต 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาวิตามินรวมชนิดเม็ดที่มีตัวยาเฟอรัส กลูโคเนต 150 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดที่มีตัวยาเฟอรัส กลูโคเนต 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาวิตามินรวมชนิดแคปซูล ขนาดความแรงเทียบเท่าเฟอรัส 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดหยดสำหรับเด็กเล็ก ขนาดความแรงเทียบเท่าเฟอรัส 8 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร
  • ยาวิตามินรวมชนิดน้ำ ขนาดความแรงเทียบเท่าเฟอรัส 15 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เฟอรัส กลูโคเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟอรัส กลูโคเนตมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาภาวะโลหิตจางดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัมวันละ 2 - 4 ครั้ง โดยขนาดรับประทานเพื่อป้องกัน

การขาดธาตุเหล็กให้รับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง

  • เด็ก: รับประทานครั้งละ 4 - 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 3 ครั้ง

แต่หากอยู่ในภาวะที่ขาดธาตุเหล็กในระดับต่ำๆถึงระดับกลางให้รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 1 - 2 ครั้ง

โดยขนาดรับประทานเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กในเด็กให้รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้เมื่อท้องว่าง หากรู้สึกระคายเคืองกระเพาะหลังรับประทานยานี้สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฟอรัส กลูโคเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเฟอรัส กลูโคเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา และ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟอรัส กลูโคเนตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เฟอรัส กลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟอรัส กลูโคเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ต่างๆดังนี้เช่น ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระสีคล้ำดำ/สีที่เกิดจากยา แสบร้อนกลางหน้าอก ท้องเสีย ปัสสาวะสีจาง ใส

มีข้อควรระวังการใช้เฟอรัส กลูโคเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟอรัส กลูโคเนตดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางชนิดที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก (Haemolytic anemia) หรือภาวะมีธาตุเหล็กมากในร่างกาย (Haemochromatosis)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ (แผลเปบติค)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้นานเกิน 6 เดือนนอกจากผู้ป่วยจะมีภาวะประจำเดือนมาบ่อยอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือแพทย์เป็นผู้สั่งยา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟอรัส กลูโคเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เฟอรัส กลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟอรัส กลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การรับประทานยาเฟอรัส กลูโคเนตร่วมกับยาลดกรดอาจทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง หากต้องรับประทานยาร่วมกันควรเลี่ยงเวลาการรับประทานให้ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การรับประทานยาเฟอรัส กลูโคเนตร่วมกับยา Levodopa (ยารักษาโรคพาร์กินสัน) จะทำให้ร่างกายดูดซึม Levodopa ได้น้อยลงจนอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยง การรับประทานยาพร้อมกัน
  • การรับประทานยาเฟอรัส กลูโคเนตร่วมกับวิตามินซีสามารถเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็กได้มากขึ้น การจะใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาเฟอรัส กลูโคเนตอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟอรัสกลูโคเนตระหว่างอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เฟอรัส กลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟอรัสกลูโคเนตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
B Feron (บี เฟรอน) Greater Pharma
Ferromin (เฟอร์โรมิน) Chinta
Pata-B-Fer (พาตา-บี-เฟอร์) Patar Lab
Sangobion (แซงโกเบียน) Merck
Topper-M (ทอปเปอร์-เอ็ม) Chinta

บรรณานุกรม

1. http://www.mims.com/USA/drug/info/ferrous%20gluconate/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,Jan24]
2. http://www.mims.com/Philippines/drug/info/Sangobion/?type=brief [2015,Jan24]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Topper-M/ [2015,Jan24]
4. http://www.drugs.com/cdi/ferrous-gluconate.html [2015,Jan24]
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Iron%28II%29_gluconate [2015,Jan24]