เพมฟิกัส หรือ โรคตุ่มน้ำพอง (Pemphigus)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- เพมฟิกัสเกิดได้อย่างไร?มีกี่ชนิด?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค?
- เพมฟิกัสมีอาการอย่างไร?
- อะไรอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเพมฟิกัสได้อย่างไร?
- รักษาโรคเพมฟิกัสอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เพมฟิกัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันโรคเพมฟิกัสได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- เพนนิซิลลามีน (Penicillamine)
- ไพโรซิแคม (Piroxicam)
- อะซาไธโอพรีน (Azathioprine)
- ริทูซิแมบ (Rituximab)
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
เพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง(Pemphigus) คือ โรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อเมือกที่ส่งผลให้เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง/ตุ่มหนองซึ่งต่อมาแตกกลายเป็นแผลติดเชื้อ เจ็บมาก, เมื่อไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ โรคจะกระจายทั่วผิวหนังและ/หรือที่เนื้อเยื่อเมือกได้ทุกส่วนของร่างกาย, โรคนี้’ไม่ใช่โรคติดต่อ’ เป็นโรคพบน้อย พบทั้ง2เพศ เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆตลอดชีวิต
เพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง พบทั่วโลก พบน้อย พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย สถิติเกิดที่รวมถึงอายุ, เพศ, และชนิดย่อยของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและทวีป เพราะขึ้นกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น บางภูมิภาคพบได้ประมาณ 0.5รายต่อประชากร1ล้านคน แต่บางภูมิภาคพบประมาณ16-50รายต่อประชากร 1ล้านคน, บางภูมิภาคพบโรคชนิดย่อยบางชนิด สูงในวัยหนุ่มสาว, บางภูมิภาค บางชนิดพบในผู้ใหญ่วัยกลางคน หรือในผู้สูงอายุ เป็นต้น
อนึ่ง: เพมฟิกัส มาจากภาษากรีก หมายถึง ตุ่มหนองเล็กๆ หรือ ตุ่มพอง
เพมฟิกัสเกิดได้อย่างไร?มีกี่ชนิด?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค?
เพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง มีกลไกเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่สร้างสารภูมิต้านทานผิดปกติมาต่อต้านผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อเมือกโดย ทำให้เกิดเป็นตุ้มน้ำพอง ที่ต่อมาจะแตกเป็นแผลหนองจากแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดการสร้างสารภูมิต้านทานผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคนี้
ปัจจัยเสี่ยงเกิดเพมพิกัส:
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพองที่พบในปัจจุบัน เช่น
- พันธุกรรม: พบพันธุกรมหลายชนิดที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ และพันธุกรรมผิดปกติเหล่านี้ อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละเชื้อชาติ โดยพบในคนตะวันออกกลาง และเชื้อชาติยิวสูงกว่าคนเชื้อชาติอื่น
- สิ่งแวดล้อม: เช่น ลักษณะภูมิอากาศของแต่ละประเทศ หรือ แต่ละทวีป
- มีรายงานประปรายถึงผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการโรคนี้ได้ เช่นยา ยาลดความดันบางตัวในกลุ่มยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์, เพนิซิลลามีน, ไพโรซิแคม, เพนิซิลลิน
ชนิดของเพมฟิกัส:
เพมพิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง มีหลากหลายชนิดย่อย โดยต่างกันที่
- ตำแหน่งเกิดโรค: เช่น บางชนิดเกิดเฉพาะผิวหนัง, บางชนิดเกิดเฉพาะเนื้อเยื่อเมือก, บางชนิดเกิดทั้งสองตำแหน่งดังกล่าว, บางชนิดเกิดเฉพาะผิวหนังที่ใบหน้า, หรือลำตัว, หรือเฉพาะด้านหลัง, ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุกรรมผิดปกติของชนิดย่อยนั้นๆ
- อาการ: เช่น บางชนิดอาการรุนแรง บางชนิดอาการน้อย บางชนิดมีอาการคันร่วมด้วย บางชนิดไม่มีอาการคัน บางชนิดโรคเกิดกับเนื้อเยื่อเมือกของหลอดอาหาร และ/หรือ หลอดลม(ปอด)
- สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง: บางชนิดสัมพันธ์กับการเกิดโรคในกลุ่มมะเร็งระบบโรคเลือด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล, และ/หรือ เนื้องอกไทโมมา
อนึ่ง: ชนิดย่อยที่พบบ่อย ได้แก่ Pemphigus vulgaris และ Pemphigus foliaceus ส่วนชนิดสัมพันธ์กับมะเร็งและเนื้องอก คือชนิด Paraneoplastic pemphigus
- เพมฟิกัส วัลการิส(Pemphigus vulgaris): เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด มักเกิดตุ่มน้ำพองใน ช่องปาก ช่องคอ ก่อน ต่อมาจึงเกิดที่ผิวหนัง มักเกิดกับเนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนังและบริเวณอื่นๆ เช่น ตา จมูก อวัยวะเพศ และ ปอด ซึ่งตุ่มน้ำจะเจ็บมาก แต่มักไม่ก่ออาการคัน เป็นชนิดหายช้า
- เพมฟิกัส โฟลิเอเชียส(Pemphigus foliaceus): ตุ่มน้ำพองจะเกิดเฉพาะผิวหนังส่วนตื่นๆ ไม่เกิดที่เนื้อเยื่อเมือก มีความรุนแรงโรคน้อยกว่าชนิด เพมฟิกัส วัลการิส
- พารานีโอพลาสติค เพมฟิกัส(Paraneoplastic pemphigus): เป็นชนิดพบน้อยกว่า, ตุ่มน้ำพองเกิดได้ทั้งที่ผิวหนังและที่เนื้อเยื่อเมือกที่มักพบเกิดในช่องปากก่อน และเกิด โรคมะเร็งตามมา ชนิดพบบ่อยคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เพมฟิกัสมีอาการอย่างไร?
อาการหลักของเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง คือ
- มีตุ่มน้ำพองเกิดกระจายตามผิวหนัง อาจเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งตัวขึ้นกับความรุนแรงของโรค
- อาจมีตุ่มน้ำพองเกิดในช่องปาก และ/หรือ อวัยวะเพศ ซึ่งมักเกิดร่วมกับตุ่มน้ำพองที่ผิวหนังเสมอแต่อาจเกิดก่อนหรือหลังก็ได้
- ต่อมาตุ่มน้ำฯเหล่านี้จะแตกเป็นแผล และแผลเกิดติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นการติดเชื้อรุนแรง
- ตุ่มน้ำฯ และแผลจะเจ็บมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญ คือ การนอน และการดื่ม/กินเมื่อเกิดโรคในช่องปากและ/หรือลำคอ
- เมื่อเกิดในช่องปากจะส่งผลให้เจ็บจนกิน ดื่ม ไม่ได้ เกิดภาวะขาดอาหาร และภาวะขาดน้ำ
- เมื่อเกิดที่อวัยวะเพศ จะมีอาการเจ็บ หรือ ลำบากในการขับถ่าย การทำความสะอาด และเพศสัมพันธ์
- เมื่อเกิดที่ตา ตาอาจบอดได้
- ตุ่มน้ำบางชนิดย่อย จะก่ออาการคัน
- มักไม่มีอาการไข้ ยกเว้นเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- เมื่อเกิดโรคกับเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะใด ก็จะเกิดอาการของอวัยวะนั้น เช่น ถ้าเกิดในหลอดลม จะมีอาการไอ และมีเสมหะ เป็นต้น
- นอกจากนั้น กรณีเป็นชนิดย่อยที่เกิดมะเร็งตามมา ก็จะมีอาการของมะเร็งชนิดนั้นๆร่วมด้วย เช่น ซีด มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม/โตที่คลำพบได้และมักไม่เจ็บ(แต่ก็อาจเจ็บได้แต่ไม่มากเมื่อไม่ติดเชื้อ) หรือ ตับม้ามโต
อนึ่ง: หลังการรักษา ตุ่มน้ำจะค่อยๆยุบดีขึ้นใน 2-3วัน แต่ทั่วไปมักใช้เวลาประมาณ 2-4สัปดาห์ที่จะไม่เกิดตุ่มใหม่ และตุ่มจะค่อยๆหายไปใน6-8สัปดาห์โดย’ไม่ทำให้เกิดแผลเป็น’
อะไรอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ?
ผู้ป่วยต้องคอยหมั่นสังเกตเสมอว่าอะไร/สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นที่อาจทำให้อาการโรคกำเริบ และพยายามหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนั้นๆ ที่มีรายงาน เช่น
- ความเครียด
- มีบาดแผลที่ผิวหนัง หรือ ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ
- อาหาร และ/หรือเครื่องดื่มบางชนิด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับ(กลางคืน)ไม่เพียงพอ
- ยาต่างๆที่รวมถึงวัคซีน
- เครื่องสำอางต่างๆ ที่รวมถึง สบู่ ยาสระผม
- สารเคมีต่างๆ เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ
- แสงแดด
- อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เช่น เย็น ร้อน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคเพมฟิกัสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพองได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการ และลักษณะการเกิดตุ่มน้ำพอง ตัวกระตุ้น อายุ เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด โรคประจำตัว ประวัติโรคในครอบครัว และการใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกายทั่วไป ร่วมกับการตรวจดูผิวหนัง ช่องปาก และอวัยวะเพศ ร่วมกับตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
- การตรวจเชื้อ อาจร่วมกับการเพาะเชื้อจากแผล
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรคนี้
- ตัดชิ้นเนื้อจากตุ่มน้ำฯเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาด้วยการย้อมสีเรืองแสง(Immunofluorescence)ซึ่งเป็นวิธีวินิจฉัยที่แม่นยำ
รักษาโรคเพมฟิกัสอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง มีหลากหลายวิธีซึ่งแพทย์มักใช้ร่วมกันขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน , ยาต้านการอักเสบ, ยาภูมิคุ้มกัน, ยาฆ่าเชื้อต่างๆเมื่อติดเชื้อร่วมด้วยซึ่งมักเป็นการติดเชื้อฉวยโอกาสเพราะร่างกายมักมีภูมิคุ้มกันฯต่ำทั้งจากตัวโรคเองและจากผลข้างเคียงจากยารักษา, การรักษาตามอาการ, และร่วมกับการดูแลตนเอง
ก. ยาต้านการอักเสบ : เช่น
- ยากลุ่มสเตียรอยด์: เช่นยาทาที่รอยโรค, ยากิน และ/หรือ ยาฉีดเข้าในรอยโรค เช่นยา เพรดนิโซโลน, คอร์ติโคสเตียรอยด์
ข. ยากดภูมิคุ้มกัน: เช่นยา
- ยาเคมีบำบัด เช่น ซัยโคลฟอสฟาไมด์, อะซาไธโอพรีน, ยาเมโธเทรกเซท
- ไซโคลสปอริน
ค. ยาภูมิคุ้มกัน: เช่นยา โมโนโคลนอลแอนตีบอดี, ริทูซิแมบ, อิมมิวโนโกลบูลิน
ง. การฟอกพลาสมาเพื่อกำจัดสารภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ(Plasmapheresis)
จ. ยาฆ่าเชื้อ: เช่น
- ยาปฏิชีวนะ กรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
- ยาต้านเชื้อรา กรณีติดโรคเชื้อรา
ฉ. การรักษาตามอาการ: เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยาแก้คัน
- ยาลดไข้
- การให้สารอาหารและสารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีกิน/ดื่มได้น้อย
- การให้เลือดกรณีมีภาวะซีด
- การสูดดมออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ
- การดูแลและทำความสะอาดแผล/ตุ่มน้ำ
(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องยาต่างๆดังกล่าวที่รวมถึงผลข้างเคียงได้จากเว็บhaamor.com)
ช. การดูแลตนเอง: คือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ และร่วมกับการดูแลตนเองทั่วไปดังจะกล่าวใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อนถึงแม้อาการจะดีขึ้น
- สังเกตตนเองเสมอว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ตัวกระตุ้นฯ’) เพื่อการหลีกเลี่ยง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อร่างกายกายและจิตใจแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
- ควรกินอาหารย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทุกประเภทเพราะจะก่อการระคายเคือง เนื้อเยือกเมือกช่องปากและระบบทางเดินอาหาร
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ8-10แก้วเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงถูกแสงแดดโดยตรง เช่น อยู่ในที่ร่มเสมอ ใช้ร่ม สวมหมวก เสื้อผ้า แขนยา ขายาว
- ระวังการสัมผัสสารเคมีต่างๆ
- ใช้สบู่ชนิดอ่อนโยนต่อผิว
- ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและช่องปากและรวมถึงตุ่มน้ำและแผลต่างๆตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- สวมใส่เสื้อผ้าและชุดชั้นใน ที่ไม่รัดแน่น สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี แขนยาว ขายาว เพื่อช่วยปกป้องสัมผัสแสงแดดโดยตรง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- กลับมามีตุ่มน้ำเพิ่มขึ้น
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ
- กังวลในอาการ
เพมฟิกัสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพอง จัดเป็นโรคผิวหนังรุนแรง มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต, เป็นโรคเรื้อรังที่การรักษายุ่งยาก และต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะยาว บางรายอาจตลอดชีวิต, ยาที่ใช้รักษามักมีผลข้างเคียงรุนแรง, และเมื่อรักษาหายแล้วจนแพทย์หยุดการใช้ยา ยังมีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีก, ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อสงสัยกลับมามีอาการอีก
อย่างไรก็ตาม ทั่วไป แพทย์มักให้การรักษาควบคุมอาการโรคได้,และผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติ, แต่ยังต้องมีการรักษาต่อเนื่องและการดูแลจากแพทย์ใกล้ชิด, ผู้ป่วยประมาณ1ใน3 สามารถหายจากโรคได้, แต่บางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วยมีโอกาสถึงตายได้จากการติดเชื้อ
อนึ่ง: มีการรายงานผลการรักษาโรคนี้ในคนไทยจากโรงพยาบาลศิริราชในปี ค.ศ 2011 ซึ่งติดตามการรักษา 10 ปี: ได้แก่
- พบโรคเป็นชนิด Pemphigus vulgaris=79%, ชนิด Pemphigus foliaceus =15.3%, ที่เหลือเป็นชนิดอื่นๆรวมกัน
- เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย 2เท่า
- อายุเฉลี่ยอยู่ในวัยกลางคน 45-57 ปี
- รักษาควบคุมโรคได้ประมาณ 90-95%, โดยสามารถหยุดยารักษาได้ประมาณ 30%
ป้องกันโรคเพมฟิกัสได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันเกิดโรคเพมฟิกัส/โรคตุ่มน้ำพองเพราะเป็นโรคทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก น้อยมากที่พอป้องกันได้ คือ ถ้าพบสาเหตุ(เช่น จากแพ้ยา) การป้องกันคือหยุด/ไม่ใช้ยานั้นๆ
บรรณานุกรม
- Kanokvalai Kulthanan, et al. Asian Pac J Allergy Immunol. 2011 Jun;29(2):161-8.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pemphigus [2022,July2]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5901732/ [2022,July2]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pemphigus/symptoms-causes/syc-20350404 [2022,July2]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21130-pemphigus [2022,July2]
- https://www.aad.org/public/diseases/a-z/pemphigus-self-care [2022,July2]