เบต้าโซลอล (Betaxolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาเบต้าโซลอล (Betaxolol) คือ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคต้อหิน ด้วยมีฤทธิ์ลดความดันลูกตาทำให้ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเส้นประสาทของตา, จัดเป็นยาในกลุ่มซีเลคทีฟ เบต้า-1 รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Selective beta-1 receptor blocker หรือ Beta blocker

รูปแบบยาเบต้าโซลอลที่เป็นยาแผนปัจจุบันในสถานพยาบาลจะมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาหยอดตา

เมื่อยานี้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 89% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14 - 22 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเบต้าโซลอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุการใช้เพื่อรักษาโรคต้อหินและมีรูปแบบการใช้เป็นยาหยอดตา

ยาเบต้าโซลอลมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรค การเลือกใช้ยาตัวนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เบต้าโซลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เบต้าโซลอล

ยาเบต้าโซลอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อใช้:

  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma)
  • รักษาความดันตาสูง

เบต้าโซลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบต้าโซลอลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซพเตอร์ (Beta receptor) ที่อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆส่งผลให้หัวใจเต้นช้า และมีการบีบตัวลดลง นอกจากนี้ยังทำให้ความดันลูกตาลดต่ำจากลดการสร้างของเหลวภายในลูกตา

เบต้าโซลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบต้าโซลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดตา ขนาดความแรง 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เบต้าโซลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบต้าโซลอลมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาความดันโลหิตสูง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประ ทานเป็น 40 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานที่ 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน และแพทย์อาจมีการปรับขนาดรับประทาน ซึ่งขึ้นกับการตอบสนองของอาการผู้ป่วย
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ข้อมูลผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ในเด็กยังไม่มีการศึกษาที่ให้ผลชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • การใช้ยานี้เป็นยาหยอดตาในโรคต้อหินต้องเป็นการสั่งการใช้ยาและขนาดยาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นซึ่งจะแตกต่างกันในแต่บุคคลเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบต้าโซลอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบต้าโซลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบต้าโซลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เบต้าโซลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบต้าโซลอล สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

ก. หากเป็นยาหยอดตา: อาจเกิดอาการ

  • เจ็บตาเล็กน้อย
  • รู้สึกคันตา
  • ระคายเคืองตา
  • ตากลัวแสง/ ตาไม่สู้แสง

ข. หากเป็นยาชนิดรับประทาน: อาจทำให้เกิดอาการ

  • อ่อนเพลีย
  • หมดแรง/ล้า
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • มือ - เท้าเย็น
  • ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
  • หัวใจเต้นช้าโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับประทานยานี้เกินขนาดคือ

  • มักมีอาการหัวใจเต้นช้านำมาก่อน และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวติดตามมา
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หลอดลมหดตัว/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

*ทั้งนี้ หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้เบต้าโซลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้าโซลอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า (Sinus bradycardia)
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากมีพยาธิสภาพของหัวใจ (Cardiogenic shock)
    • ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Overt cardiac failure)
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ใน
    • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
    • ผู้ที่เป็นโรคหืด
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • ผู้ป่วยโรคตับ
    • โรคไต
    • ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันที การหยุดใช้ยานี้แพทย์จะเป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบต้าโซลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบต้าโซลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบต้าโซลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเบต้าโซลอล ร่วมกับยา Reserpine อาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงเรื่องความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเบต้าโซลอล ร่วมกับ ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline อาจส่งผลให้ฤทธิ์การรักษาของเบต้าโซลอลลดลง และทำให้ยา Theophylline ออกฤทธิ์ได้มากขึ้น ซึ่งจะพบอาการคลื่นไส้-อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น และกระสับกระส่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเบต้าโซลอล ร่วมกับยา Diltiazem (ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาเบต้าโซลอลติดตามมาได้มากขึ้น เช่น อ่อนแรง ปวดหัว เป็นลม บวมตามแขน – ขา น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเบต้าโซลอล ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Atazanavir สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการ วิงเวียน เป็นลม ร่วมด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเบต้าโซลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเบต้าโซลอล:

  • เก็บยาภายในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบต้าโซลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบต้าโซลอล มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Betoptic (เบท็อปติก) Alcon
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) Alcon
Kerlone (เคอร์โลน) Sanofi Aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Betaxolol [2021,July24]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/betaxolol?mtype=generic [2021,July24]
  3. https://www.drugs.com/mtm/betaxolol.html [2021,July24]
  4. https://www.drugs.com/imprints/b-kerlone-20-14656.html [2021,July24]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Betoptic%20S/ [2021,July24]