ยาเบต้าเมทาโซน (Betamethasone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) คือ ยาสเตียรอยด์กลุ่ม Glucocorticoid steroid ที่ใช้รักษาอาการการอักเสบ, อาการแพ้, และกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย, รูปแบบยาแผนปัจจุบันมีทั้งชนิด ยาครีม ยาขี้ผึ้ง โลชั่น  ยาเจล ยาฉีด และยา รับประทาน,  

สำหรับบ้านเรา:

  • จะพบเห็นการใช้ยานี้ในรูปแบบยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอกเสียเป็นส่วนมาก ที่มีทั้งประเภทยาเดี่ยว และยาที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Neomycin, Gentamycin, Calcipotriol (ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน), Clotrimazole, Fucidic acid, และ Salicylic acid,  
  • ส่วนยาฉีด จะพบเห็นการใช้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น
  • สำหรับยาชนิดรับประทาน จะมีใช้ในต่างประเทศ แต่ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ในประเทศไทยสักเท่าไร

หากจะกล่าวถึงประโยชน์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้รักษาอาการโรคของยาเบต้าเมทาโซน เช่น

  • รักษาอาการผื่นคัน อาการแพ้ของผิวหนัง โดยใช้เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง โลชั่น และยาเจล
  • ลดภาวะอักเสบของระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย โดยใช้ในรูปแบบยารับประทาน และยาฉีด

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการกระจายตัวของยาเบต้าเมทาโซนเมื่อเข้าสู่ร่างกาย และพบว่าตัวยาสามารถกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสา มารถซึมผ่านรก น้ำนมมารดา และจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีเมื่อผ่านไปที่ตับ ปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 36 - 54 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเบต้าเมทาโซนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชนที่ควรมีสำรองไว้ตามสถานพยาบาลต่างๆ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์แรงและผลข้างเคียงมีมาก การใช้ยานี้ที่เหมาะสมปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ยาเบต้าเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาเบต้าเมทาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บรรเทาอาการแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคันตามผิวหนัง, ผิวหนังอักเสบ
  • บรรเทาการอักเสบจากโรคเกาต์ โรคข้ออักเสบ  โรคข้อรูมาตอยด์                                                    
  • บรรเทาอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหอบหืด
  • ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ                 
  • บรรเทาอาการโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Malignant lymphoma)                                      
  • รักษาอาการโรคต่อมหมวกไตเจริญผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital adrenal hyperplasia)
  • รักษาปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เอ็นอักเสบ/เอ็นบาดเจ็บ

ยาเบต้าเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบต้าเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ควบคุมการสร้างโปรตีนบางชนิดในร่างกายที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ต่างๆ อีกทั้งชะลอการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่จะมารวมตัวกันตามอวัยวะที่มีการอักเสบ ทำให้ลดการทำลายของอวัยวะเหล่านั้นและเกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ยาเบต้าเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบต้าเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย  เช่น

ก. ยาโลชั่น ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร                              

ข. ยาครีมขนาด 0.64, 1 และ 2 มิลลิกรัม/กรัม

ค. ยาครีมที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น                                                                                                

  • Betamethasone valerate 1 มิลลิกรัม + Neomycin sulfate 3 มิลลิกรัม/กรัม                  
  • Betamethasone dipropionate 0.64 มิลลิกรัม + Gentamicin sulphate 1.7 มิลลิกรัม
  • Clotrimazole 1% + Betamethasone 0.1%                                                                 
  • ยาขี้ผึ้งที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Betamethasone dipropionate 0.064% + Salicylic acid 3%

จ. ยาฉีดที่ประกอบด้วย Betamethasone acetate 3 มิลลิกรัม + Betamethasone  sodium phosphate 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ฉ. ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาเบต้าเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเบต้าเมทาโซนสามารถใช้รักษาได้หลายอาการโรค แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขนาดและรูปแบบการใช้ยา/การบริหารยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น  

ก. ยาทา: สำหรับรักษาผื่นคันตามผิวหนัง ผิวหนังอักเสบประเภทที่ไม่มีแผลเปิด

  • ผู้ใหญ่:เช่น ทายาเพียงบางๆ วันละ 1 - 3 ครั้ง     
  • เด็กที่อายุ 13 ปีขึ้นไป: เช่น ทายาเพียงบางๆ  วันละ 1 - 3 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี: การใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยประเมินระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงจากยาที่จะเพิ่มขึ้นในเด็กช่วงวัยนี้

ข. ยารับประทาน: สำหรับรักษาอาการอักเสบระยะสั้น รักษาโรคข้ออักเสบ โรคข้อรูมาตอยด์

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: เช่น ช่วง 2 – 3 วันแรกให้รับประทาน 0.5 - 5 มิลลิกรัมต่อวัน ทุกๆ 2 - 5 วัน ให้ลดขนาดการรับประทานลงครั้งละ 0.25 – 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี: การใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยประเมินระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงจากยาที่จะเพิ่มมากขึ้นในเด็กช่วงวัยนี้

 *อนึ่ง ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

ค. ยาฉีดสำหรับรักษาปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ: ฉีดยาโดยตรงเข้าในตำแหน่งรอยโรคที่มีอาการ

  • ผู้ใหญ่: เช่น ฉีดครั้งละ 1 มิลลิลิตรในช่วง 1 - 2 สัปดาห์หรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยประเมินระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงจากยาที่จะเพิ่มมากขึ้นในเด็กช่วงวัยนี้

ง. ยาฉีดสำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ข้ออักเสบ: ฉีดยาโดยตรงเข้าในตำแหน่งรอยโรคที่มีอาการ

  • ผู้ใหญ่: ขนาดการฉีดยาขึ้นกับตำแหน่งที่มีอาการโรค เช่น
    • สะโพกฉีดครั้งละ 1 - 2 มิลลิลิตร                     
    • เข่า ข้อเท้า ไหล่ ฉีดครั้งละ 1 มิลลิลิตร
    • ข้อศอก ข้อมือ ฉีดครั้งละ 0.5 – 1 มิลลิลิตร                          
    • มือ หน้าอก ฉีดครั้งละ 0.25 - 0.5 มิลลิลิตร
  • เด็ก: การใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยประเมินระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงจากยาที่จะเพิ่มมากขึ้นในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมทั้งยาเบต้าเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์  พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบต้าเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาเบต้าเมทาโซนสามารถผ่านรก และซึมผ่านเข้าสู่น้ำนมมารดา และเข้าสู่ทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบต้าเมทาโซน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ยาเบต้าเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบต้าเมทาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เกิดภาวะสูญเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายอาทิเช่น ทำให้มีปริมาณเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของการบวมน้ำ
  • ทำให้สูญเสียปริมาณมวลกล้ามเนื้อของร่างกาย กล้ามเนื้อจึงอาจลีบเล็กลงและอ่อนแรงได้
  • มีความรู้สึกอ่อนเพลีย
  • ลดการสะสมแคลเซียมของกระดูกและก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน
  • สามารถก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารจนถึงขั้นมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารได้(เลือดออกในทางเดินอาหาร) จึงมีการแนะนำว่าให้รับประทานยาหลังอาหารทันทีเพื่อป้องกันไม่ ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • กระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้กินจุ จึงอ้วนง่าย
  • เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน
  • ปวดหัว
  • การใช้ยานี้ในเด็กเป็นเวลานานๆจะส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตของเด็กได้
  • การใช้ยานี้ในรูปแบบยาชนิดทาสามารถทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทายามีสภาพที่บางกว่า ปกติ จึงเกิดแผลและมีเลือดออกได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้าเมทาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้าเมทาโซน  เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อราในระบบการทำงานของร่างกาย หรืออยู่ในภาวะติดเชื้อเฉียบพลัน เพราะจะทำให้อาการโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ระวังการใช้ยาเบต้าเมทาโซนกับผู้ที่มี โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคจิต  ด้วยจะส่งผลให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลมชัก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ทารก และ เด็ก ด้วยยานี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทั้งทารกและทั้งเด็ก
  • เฝ้าระวังผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องกับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบต้าเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบต้าเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบต้าเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • การใช้ยาเบต้าเมทาโซน ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน สามารถลดประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย จึงต้องบริหารยา/ใช้ยาด้วยความระมัดระวัง ยารักษาโรคเบาหวานที่กล่าวถึงเช่น ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide), ไกลคลาไซด์ (Gliclazide), ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride)
  • การใช้ยาเบต้าเมทาโซน ร่วมกับ ยาแก้ปวด สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาแก้ปวดโดยก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหาร,   ยาแก้ปวดที่กล่าวถึง เช่นยา แอสไพริน (Aspirin), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac),  ไพรอกซิแคม (Piroxicam)

ควรเก็บรักษายาเบต้าเมทาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาเบต้าเมทาโซน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความชื้น และความร้อน
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเบตาเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อยาทางการค้า และบริษัทที่ผลิตยาเบต้าเมทาโซน เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Beprogel (บีโพรเจล) HOE Pharmaceuticals
Bepronate (บีโพรเนท) Pharmasant Lab
Beprosone (บีโพรโซน) Chew Brothers
Betacort-N (เบต้าคอร์ท-เอน) Utopian
Betameth (เบต้าเมท) Osoth Interlab
Betamethasone GPO (เบต้าเมทาโซน จีพีโอ) GPO
Betamethasone Pharma Square (เบต้าเมทาโซน ฟาร์มา สแควร์) Chinta
Bethasone (เบทาโซน) Greater Pharma
Betnovate (เบทโนเวท) GlaxoSmithKline
Betnovate-N (เบทโนเวท - เอน) GlaxoSmithKline
Betosone-CE (เบโทโซน – ซีอี) T. O. Chemicals
Betnesol (เบทนีโซล) Recipharm Ltd Candex
Plus (แคนเดกซ์ พลัส) Burapha
Conovate-N (โคโนเวท – เอ็น) Community Pharm PCL
Spectroderm (สเปกซ์โทรเดอร์ม) Meiji
T.M. Bet (ที.เอ็ม เบท) T. Man Pharma
Valbet (วัลเบท) Biolab

 

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Betamethasone#Medical_uses  [2023,April 29]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/betamethasone?mtype=generic   [2023,April 29]
  3. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=3001555&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=   [2023,April 29]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Betamethasone&page=0   [2023,April 29]
  5. https://www.drugs.com/dosage/betamethasone.html#Usual_Adult_Dose_for_Gouty_Arthritis   [2023,April 29]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Diprospan/?type=brief   [2023,April 29]
  7. https://patient.info/medicine/betamethasone-soluble-tablets   [2023,April 29]
  8. https://www.drugs.com/uk/betnesol-500-microgram-soluble-tablets-leaflet.html   [2023,April 29]
  9. https://globalrph.com/medcalcs/corticosteroid-converter-based-on-anti-inflammatory-potency/   [2023,April 29]
  10. https://www.drugs.com/dosage/betamethasone-topical.html [2023,April 29]