เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
- 3 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- เนื้องอกมดลูกคืออะไร?
- เนื้องอกมดลูกพบได้มากน้อยเพียงใด?
- สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกคืออะไร?
- อาการและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง?
- การป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง?
- การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไร?
- วิธีการรักษาเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง?
- ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยเป็นเนื้องอกมดลูก?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- การใส่ห่วงคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (Intrauterine device birth control)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
- ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
- การตัดมดลูก (Hysterectomy)
เนื้องอกมดลูกคืออะไร?
เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri หรือ Uterine fibroid) ไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่คือโรคของกล้ามเนื้อมดลูกที่มีการเจริญมากขึ้นผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้องอก ทำให้มดลูกมีขนาดที่โตขึ้น ก้อนเนื้องอกอาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่ว หรือมีขนาดใหญ่เท่ากับผลแตงโม ก้อนเนื้องอกนี้สามารถพบได้ในทุกที่ของมดลูก และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่พบดังต่อไปนี้ เช่น
- เนื้องอกที่กล้ามเนื้อ (Intramural fibroid): คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งพบบ่อยที่สุด
- เนื้องอกมดลูกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid): คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้น และดันออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก
- เนื้องอกมดลูกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid): คือเนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้น และดันเข้ามาในโพรงมดลูก
- เนื้องอกมดลูกชนิดมีก้านยื่น: โดยตำแหน่งก้อนเนื้องอกซึ่งโตขึ้นอาจดันพ้นออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูกหรืออาจดันเข้ามาในโพรงมดลูก และตัวก้อนเนื้องอกจะยึดติดกับมดลูกด้วยก้านเล็กๆ (Intracavitary fibroid)
เนื้องอกมดลูกพบได้มากน้อยเพียงใด?
เนื้องอกมดลูก เป็นโรคพบบ่อย ในสตรี 4 คนจะพบว่ามี 1 คนเป็นเนื้องอกมดลูกโดยมักพบใน
- วัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน)
- พบบ่อย ในช่วงอายุ 30-50 ปี
- ผู้ที่ไม่เคยมีบุตร
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากโดยเฉพาะมากกว่า 70 กิโลกรัม
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก
อนึ่ง:
- ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วมักไม่เป็นเนื้องอกมดลูก
- ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูก มักจะมีก้อนเนื้องอกจำนวนหลายๆ ก้อน, และมีขนาดต่างๆ กัน, อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจพบว่ามีเนื้องอกเพียงก้อนเดียวได้
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกคืออะไร?
เนื้องอกมดลูก เป็นโรคที่มีการเจริญมากผิดปกติของกล้ามเนื้อมดลูก สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าการเติบโตของเนื้องอกมีความสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่
ในขณะตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับที่สูงขึ้น เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ก็มักจะมีขนาดโตขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ด้วย
ส่วนในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดต่ำลงมาก เนื้องอกมดลูกก็มักจะฝ่อตัวเล็กลงในวัยนี้ สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง
อาการและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง?
เนื้องอกมดลูกนั้น เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง และ 'ไม่ใช่โรคมะเร็ง' โอกาสการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งในอนาคตเกิดขึ้นน้อยกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม ก้อนเนื้องอกมดลูกในบางตำแหน่งและขนาดที่ใหญ่อาจไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือลำไส้ และทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติตามมาได้ เช่น ปัสสาวะบ่อย การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตบกพร่อง และท้องผูก เป็นต้น
ในกลุ่มผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกจะมีเพียงประมาณร้อยละ 50 ที่จะมีอาการของโรคเกิดขึ้น ดังนั้นผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกหลายๆคนจึงไม่ทันรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคเนื้องอกมดลูกแล้ว ทั้งนี้เพราะไม่มีอาการหรือความผิดปกติทางร่างกายปรากฏให้เห็นนั่นเอง
ดังนั้นเราจึงพบได้บ่อยครั้งว่า ผู้หญิงรู้ตัวว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก็เมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภายใน หรือการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องหรือทางช่องคลอดก็ตาม
ซึ่งเมื่อมีอาการ อาการของเนื้องอกมดลูกที่พบ เช่น
- ประจำเดือนมามากหรือปวดประจำเดือน: เนื้องอกมดลูกอาจจะทำให้มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ และในบางครั้งก็ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้น การที่มีประจำเดือนออกมากอาจจะทำให้เกิดภาวะซีดเพราะขาดธาตุเหล็ก (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก) ซึ่งการรับประทานธาตุเหล็กทดแทนจะช่วยรักษาภาวะซีดอันเนื่องมาจากการที่มีประจำเดือนมามากได้
- อาการท้องอืดเฟ้อ: ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องบวม หรือท้องโตขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณส่วนล่างของช่องท้อง( ท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน) ในบางรายอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วยได้
- อาการของระบบทางเดินปัสสาวะและของระบบทางเดินอาหาร: ตัวก้อนเนื้องอกที่โตยื่นมาทางหน้าท้อง หรือตัวก้อนเนื้องอกเบียดดันมดลูกมาทางหน้าท้อง อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้าของมดลูกถูกกด ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้นมากกว่าปกติ ในบางครั้งถ้าก้อนเนื้องอกหรือมดลูกโตยื่นไปทางด้านหลังของช่องท้อง ก็จะทำให้เกิดการกดเบียดลำไส้ตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนที่ต่อกับทวารหนัก) และทวารหนัก ลักษณะดังกล่าวก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน
- อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์/เจ็บเมื่อร่วมเพศ: ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นไปในช่องคลอดหรือเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งปากมดลูก อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้แก่ อาการปวดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ภาวะมีบุตรยาก และมีการแท้งบุตรง่าย: ถ้าก้อนเนื้องอกโตยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก อาจก่อให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ได้ หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน และอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งตามมาได้ แต่ปัญหาดังกล่าวพบน้อย
- ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์: ส่วนใหญ่แล้ว การมีก้อนเนื้องอกในมดลูกไม่ได้ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์มากนัก ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น
- อาการปวดที่ก้อนเนื้องอกอันเนื่องมาจากก้อนเนื้อโตเร็วมากในช่วงตั้งครรภ์ จากมีฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เลือดมาเลี้ยงก้อนเนื้อไม่ทัน
- หรืออาจเกิดจากการบิดขั้วของตัวก้อนเนื้องอกซึ่งในกรณีพบได้น้อย
- การตั้งครรภ์ขณะที่มีเนื้องอกมดลูก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสในการผ่าตัด/การผ่าท้องคลอดบุตรทางหน้าท้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะทารกอาจอยู่ผิดท่า หรือก้อนเนื้องอกขัดขวางการคลอดทางช่องคลอดได้
การป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ดี ฮอร์โมนเอสโตรเจนน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก, และมีความเป็นไปได้สูงที่ว่าเนื้องอกมดลูกนั้น เป็นโรคหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม, ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคในบางครั้งอาจทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม แนวทางในการป้องกันอาจทำได้ ดังนี้
- วิธีคุมกำเนิด: ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก หากต้องการคุมกำเนิด อาจเลือกการใส่ห่วงอนามัย หรือใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) แทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ควบคุมน้ำหนักตัวในอยู่ในเกณฑ์ปกติ: เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคนี้พบได้สูงขึ้นในคนมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ: เพราะไขมันจะเป็นแหล่งในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นถ้ามีปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มพูนมากขึ้น ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะมากขึ้นด้วย
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิค 4 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยในการปรับสมดุลของฮอร์โมนได้
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน: เช่น แยม (Jam) หรือเจลลี (Jelly) บางชนิด, ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง, หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น โสมบางชนิด
การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไร?
การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้หลายวิธี วิธีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์, และการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด
การทำอัลตราซาวด์นั้น จะช่วยบอกว่า อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือก้อนที่คลำได้จากการตรวจนั้น เกิดจากเนื้องอกมดลูกจริง ไม่ใช่โรคหรือก้อนที่เกิดจากโรคอื่น
วิธีการรักษาเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง?
แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก ได้แก่
ก. การสังเกตอาการ: การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำในกรณีที่เนื้องอกมดลูกไม่ได้ก่อให้เกิดอาการหรือความผิดปกติกับร่างกาย ในผู้ป่วยหลายๆราย ถึงแม้จะมีอาการ หรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงใดๆทั้งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือต่อสุขภาพในระยะยาว ก็อาจเลือกรักษาด้วยการสังเกตอาการได้ ทั้งนี้เพราะก้อนเนื้องอกที่พบจะมีขนาดเล็กลงหรือฝ่อตัวลงได้เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดังนั้นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็จะหายไปด้วยในที่สุด
ในช่วงเวลาของการสังเกตอาการนี้ สูตินรีแพทย์อาจทำการนัดตรวจเป็นระยะทุก 3-6 เดือน โดยอาจมีการตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์ร่วมด้วย
และในช่วงการติดตามนี้หากผู้ป่วยมีอาการ หรือมีความผิดปกติรุนแรงขึ้น หรือก้อนเนื้องอกโตขึ้นเร็ว สูตินรีแพทย์ก็อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไปตามความเหมาะสม
ข. การใช้ยารักษา: ในปัจจุบันทางการแพทย์ไม่มียาที่สามารถจะรักษาเนื้องอกมดลูกให้หายขาดได้ ยาที่ใช้ทั่วไปจะเป็นยาที่ช่วยทำให้อาการต่างๆดีขึ้น หรือช่วยให้ก้อนเนื้องอกลดขนาดลงชั่วคราว
- การใช้ยารักษาเพื่อ 'บรรเทาอาการ’ ได้แก่ ยาที่ใช้ลดปริมาณประจำเดือน ซึ่งอาจใช้ได้ผลดีในบางรายแต่มักจะไม่ได้ผลในรายที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ๆ ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น
- Tranexamic acid รับประทาน 3-4 ครั้งต่อวัน ตลอดช่วงที่กำลังมีประจำเดือนจะสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนลงได้
- ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory medicines) เช่น Ibuprofen และ Mefenamic acid ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เมื่อรับประทานยา และสามารถใช้ยาเฉพาะในวันที่มีอาการปวดประจำเดือนเท่านั้นก็ได้ ยาในกลุ่มนี้จะช่วยลดระดับของสารพรอสต้าแกลนดิน (Prostaglandin) ในโพรงมดลูก
- ยาเม็ดคุมกำเนิด: จะช่วยลดทั้งปริมาณและอาการปวดประจำเดือน
- การใส่ห่วงอนามัยที่มียาฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเทรลบรรจุอยู่ในห่วง (Levonorgestrel intrauterine system; LNG-IUS) เข้าไปในโพรงมดลูก: การใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ภายในโพรงมดลูกจะก่อให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestrogen) ที่มีชื่อเรียกว่าลีโวนอร์เจสเทรลออกจากห่วงทีละน้อยๆอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลง จึงสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนลงได้ อย่างไรก็ตาม การใส่ห่วงชนิดนี้ในผู้ที่มีเนื้องอกอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากก้อนเนื้องอกอาจขวางทาง ทำให้ใส่ห่วงได้ยากกว่าปกติ
- การใช้ยารักษาเพื่อให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง: เช่น การใช้ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มีการหลั่งของโกนาโดโทรปิน มีชื่อเรียกว่า Gonadotrophin-releasing hormone (GnRH) analogue ยาตัวนี้จะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ก้อนเนื้องอกจึงยุบลงได้ จึงทำให้อาการผิดปกติต่างๆ ที่พบ เช่น ประจำเดือนมามาก, ปวดประจำเดือน, หรืออาการที่ก้อนเนื้องอกไปกดทับอวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรือทวารหนักหายไปในขณะที่ใช้ยา
- อย่างไรก็ตาม การที่ระดับเอสโตรเจนลดลงนั้นก็ทำให้เกิดอาการต่างๆ เหมือนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย ที่สำคัญคือ ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นการใช้ยาตัวนี้จึงควรใช้นานไม่เกินเกิน 6 เดือน
- ทั่วไปการใช้ยาในกลุ่มนี้มักใช้เพียงชั่วคราว 3-6 เดือน เพื่อช่วยลดขนาดของก้อน และทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
ค. การผ่าตัดรักษา: ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาทำได้หลายวิธี เช่น
- การตัดมดลูก: เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ใช้กันมานาน และเป็นวิธีที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน นิยมใช้ในการรักษาเนื้องอกมดลูกที่ก่อให้เกิดอาการ หรือความผิดปกติของร่างกาย และเป็นการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่บุตรเพียงพอแล้ว
- การตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (Myomectomy): เป็นวิธีที่นิยมในผู้ที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต การผ่าตัดนี้จะเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกแต่ยังเหลือมดลูกไว้ อย่างไรก็ดี การผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จในทุกคน บางรายหากมีการเสียเลือดมากอาจต้องลงท้ายด้วยการตัดมดลูก
- การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกนี้ อาจทำได้โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง, ผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง (การผ่าตัดผ่านทางกล้อง), หรือการผ่าตัดผ่านกล้องส่องผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก
- การจะผ่าตัดในลักษณะใดขึ้นกับ ขนาด, จำนวน, และตำแหน่งของก้อนเนื้องอก, ตลอดจนความชำนาญของแพทย์, และความพร้อมของอุปกรณ์ในแต่ละสถานที่ให้บริการ
- สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ การกลับเป็นซ้ำของเนื้องอกภายหลังจากการผ่าตัดแล้ว พบได้ค่อนข้างบ่อย
- การทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกและก้อนเนื้องอกเกิดการอุดตัน (Uterine artery embolisation) การรักษาด้วยวิธีนี้ให้การรักษาโดยรังสีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทางรังสีรวมรักษา วิธีรักษาทำโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาแล้วสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงมดลูก แล้วสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงเฉพาะก้อนเนื้องอกด้วย โดยใช้ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ช่วยนำทางในการสอดสายสวน หลังจากที่ได้ตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่ต้องการ รังสีแพทย์ก็จะฉีดสารเข้าไปในสายสวนเพื่อก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก ทำให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือดและลดขนาดลงในที่สุดซึ่งโดยส่วนใหญ่ในระยะเวลาประมาณ 6-9 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักจะสังเกตว่าอาการที่เคยเป็นมักจะดีขึ้นภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ดี อาจมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่หายจากการรักษาด้วยวิธีนี้
ง. วิธีรักษาอื่นๆ: การรักษาโดยใช้เลเซอร์ (Laser) หรือคลื่นเสียงความถี่ต่ำทำลายก้อนเนื้องอกขณะที่ใช้การเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging; MRI) ช่วยในการระบุตำแหน่งในการแทงเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปที่ตรงกลางของก้อนเนื้องอก จัดเป็นวิธีการใหม่ที่ใช้ในการรักษา โดยพลังงานจากเลเซอร์ หรือจากคลื่นเสียงความถี่ต่ำ จะถ่ายทอดผ่านเข็มดังกล่าวเข้าไปทำลายก้อนเนื้องอก วิธีการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับเนื้องอกมดลูกทั้งหมด และในปัจจุบันประโยชน์และโทษจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยเป็นเนื้องอกมดลูก?
ในผู้หญิงปกติที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี และหนึ่งในขั้นตอนของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่ก็มักจะตรวจภายในเพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูกและปีกมดลูกให้ด้วย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกมีเพียง 50% ที่จะมีอาการผิดปกติ ดังนั้นการตรวจภายในประจำปีจะสามารถช่วยวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกในกลุ่มที่ไม่มีอาการผิดปกติได้
สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีลักษณะเลือดประจำเดือนออกเป็นก้อนจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน, ปวดประจำเดือนมากกว่าที่เคยเป็น, หรือมีอาการปวดร้าวไปที่ตำแหน่งอื่นทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน, หรืออาจคลำได้ก้อนในท้อง, ท้องอืด, หรือท้องโตขึ้น, ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายใน หรือ อัลตราซาวด์ช่องท้อง/ท้องน้อยเพื่อการวินิจฉัยโรค
สำหรับผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกแล้ว และตัดสินใจที่จะรักษาโดยการสังเกตอาการ อาการที่ต้องสังเกตและรายงานต่อแพทย์สำหรับการนัดตรวจครั้งต่อไป คือ ปริมาณและลักษณะของประจำเดือน, อาการปวดประจำเดือน, การขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ, ตลอดจนอาการปวดท้อง, และการโตขึ้นของก้อนเนื้องอกหากสามารถคลำได้ด้วยตนเอง
บรรณานุกรม
- Uterine artery embolisation for fibroids, NICE Interventional Procedure Guideline (November 2010)
- Magnetic resonance image-guided percutaneous laser ablation of uterine fibroids, NICE Technology Appraisal (2003)
- Magnetic resonance image-guided transcutaneous focused ultrasound for uterine fibroids, NICE Interventional Procedure Guideline (2007)
- https://en.wikipedia.org/wiki/Uterine_fibroid [2022,Sept 3]