เทลิโทรมัยซิน (Telithromycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร
- เทลิโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เทลิโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทลิโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทลิโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เทลิโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทลิโทรมัยซินอย่างไร?
- เทลิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทลิโทรมัยซินอย่างไร?
- เทลิโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
บทนำ: คือยาอะไร
เทลิโทรมัยซิน (Telithromycin) คือ ยาปฏิชีวนะ กลุ่มคีโตไลด์ (Ketolide antibiotic: ยารุ่นใหม่ในกลุ่ม Macrolide ที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยา Macrolide) โดยเป็นอนุพันธุ์กึ่งสังเคราะห์ของยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ถูกนำมาใช้รักษาโรคปอดบวมที่เกิดจากแบคทีเรียที่แพร่ระบาดในชุมชนที่อยู่อาศัย ยานี้มีประสิทธิภาพการรักษาอาการโรคตั้งแต่ระดับรุนแรงน้อยจนถึงอาการรุนแรงปานกลาง โดยทั่วไปจะพบเห็นในรูปแบบยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม
ด้วยคุณสมบัติที่ทนกรดในกระเพาะอาหารได้ดี จึงสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้ ประกอบกับการดูดซึมของตัวยาจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายเป็นไปอย่างรวดเร็วและเข้าจับกับเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้มากกว่ากระจายตัวในกระแสเลือด ปกติตัวยาตัวนี้จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 60 - 70% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาเทลิโทรมัยซินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงโดยประมาณเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ผลข้างเคียงที่โดดเด่นของยานี้น่าจะเป็นเรื่องเกิด อาการท้องเสีย คลื่นไส้ ระคายเคืองในช่องท้อง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่มีอาการดังกล่าว
เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย/ผู้บริโภค การใช้ยาใดๆควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้ รักษาเท่านั้น ป
เทลิโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
เทลิโทรมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาหลอดลมอักเสบ
- รักษาอาการของโรคปอดบวมที่แพร่ระบาดอยู่ตามชุมชน
- รักษา ไซนัสอักเสบ, ต่อมทอนซิลอักเสบ, รวมถึง เจ็บคอ/คออักเสบ
เทลิโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเทลิโทรมัยซินคือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยจะตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมชนิด อาร์เอ็นเอ (RNA) ของแบคทีเรียและรบกวนการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
เทลิโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทลิโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 400 มิลลิ กรัม/เม็ด
เทลิโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเทลิโทรมัยซินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 800 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 7 - 10 วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในขนาดยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเทลิโทรมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเทลิโทรมัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา และ/หรือกับอาหารเสริมอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเทลิโทรมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เทลิโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทลิโทรมัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- คลื่นไส้อาเจียน
- ตาพร่า
- *สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงมาก เช่น การเกิดผื่นคันตามผิวหนัง, หายใจไม่ออก/แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก, ปากบวม ใบหน้าบวม, ถ่ายเหลว, จนอาจพบเลือดปนออกมา/อุจจาระเป็นเลือด, ปัสสาวะมีสีคล้ำ/ปัสสาวะเป็นเลือด, เป็นลม, หัวใจเต้นเร็วหรือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ, ประสาทหลอน, เบื่ออาหาร, กล้ามเนื้อเป็นตะคริว, อ่อนเพลีย, มีภาวะดีซ่านทำให้ตาและตัวมีสีเหลือง, ซีด ซึ่งหากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เทลิโทรมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทลิโทรมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Macrolide
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคตับ ผู้ที่เป็นดีซ่าน
- ห้ามเคี้ยวยานี้ขณะรับประทาน ให้กลืนพร้อมน้ำดื่มที่เพียงพอ
- ระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก หรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ตาพร่า ระหว่างการใช้ยาต้องระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ควรรับประทานยานี้ให้ครบตรงตามคำสั่งแพทย์ ห้ามใช้ยาเกินหรือขาด
- หากพบอาการข้างเคียงจากยานี้จนเป็นเหตุรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ควรกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับแนวทางการรักษาใหม่
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังอาการพิษที่อาจเกิดขึ้นกับตับรวมถึงเรื่องภาวะหายใจล้มเหลว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทลิโทรมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เทลิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทลิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเทลิโทรมัยซิน ร่วมกับยาบางตัว เช่นยา Digoxin, Midazolam, Metoprolol, Ciclosporin จะทำให้ความเข้มข้นของยาดังกล่าวในกระแสเลือดมีปริมาณมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเทลิโทรมัยซิน ร่วมกับยา Theophylline อาจเกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียนตามมาได้มากขึ้น แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- เมื่อใช้ยาเทลิโทรมัยซิน ร่วมกับยาต้านเชื้อราบางตัว เช่นยา Ketoconazole หรือ Itraconazole อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาเทลิโทรมัยซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากมีความจำ เป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเทลิโทรมัยซิน ร่วมกับยา Rifampicin สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาเทลิโทรมัยซินในกระแสเลือดลดต่ำลงได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีๆ ไป
ควรเก็บรักษาเทลิโทรมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาเทลิโทรมัยซิน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เทลิโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทลิโทรมัยซิน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ketek (เคเทค) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/telithromycin?mtype=generic [2022,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Telithromycin [2022,April16]
- https://www.drugs.com/dosage/telithromycin.html [2022,April16]
- https://www.drugs.com/sfx/telithromycin-side-effects.html [2022,April16]
- https://www.drugs.com/ketek.html [2022,April16]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/telithromycin/patientmedicine/telithromycin-oral [2022,April16]