ปัญหาเด็กนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ (Sleep problems in children)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 25 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: ปัญหาและอุบัติการณ์
- ปัญหาการนอนหลับยากมีสาเหตุจากอะไร? ดูแลรักษาอย่างไร?
- เมื่อไรคืออาการนอนหลับยากที่ต้องไปพบแพทย์?
- แพทย์มีขั้นตอนอย่างไรหากพบเด็กมีปัญหานอนหลับยาก?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก หรือ นิยามคำว่าเด็ก (Child)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- เด็กโรคหืด (Childhood asthma)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ: ปัญหาและอุบัติการณ์
ปัญหาการนอนหลับยาก/ไม่ยอมนอน/นอนไม่หลับในเด็ก (Sleep problems in children หรือ Sleep disorders in children) พบประปราย (นิยามคำว่าเด็ก) เนื่องจากการนอนหลับยากมีผลต่อการเรียน หรือ การมีชีวิตและกิจกรรมในเวลากลางวันของเด็ก ซึ่งบางทีเด็กอาจจะนอนมากในเวลากลางวัน หรือเรียนไม่รู้เรื่อง แต่กลางคืนไม่นอนจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวลใจ ในต่างประเทศมีศาสตร์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนอนผิดปกติ ทั้งนอนมากเกินไปและนอนหลับยาก มีผู้เกี่ยวข้องหลายสาขาได้แก่ กุมารแพทย์ทั่วไป แพทย์ทางระบบประสาท แพทย์ทางจิตเวชเด็ก แพทย์ทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
ในต่างประเทศ พบปัญหาเด็กนอนหลับยากจำนวนมาก เนื่องจากในบ้านมักติดโทรทัศน์วงจรปิดเพราะลูกนอนแยกห้องกับพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เห็นว่าเด็กหลับยาก หรือมีปัญหาต่างๆในเวลากลางคืน
ในบ้านเราปัญหานี้อาจพบไม่มากเท่า เพราะลูกนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ พ่อแม่หลับแล้วลูกยังไม่หลับจึงไม่พบว่าเป็นปัญหาไม่ได้กังวลอะไร ในที่สุดลูกก็มักจะหลับ ยกเว้นเมื่อลูกมีปัญหาและแพทย์ให้คอยดูเรื่องการนอนจึงพบว่าเป็นปัญหา
อุบัติการณ์การนอนไม่หลับในเด็กพบได้ประมาณ 20-30%
ปัญหาการนอนหลับยากมีสาเหตุจากอะไร? ดุแลรักษาอย่างไร?
สาเหตุของการนอนหลับยาก หรือหลับได้ไม่นานในเด็ก อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นสองส่วน ส่วนแรกจากปัจจัยของเด็กเอง, ส่วนที่สองเป็นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
ก. ปัจจัยจากตัวเด็กเอง: แบ่งเป็น 4 สาเหตุ คือ 1.ความเจ็บป่วย หรือโรค หรือความไม่สบายของร่างกาย ทำให้เด็กมีปัญหาการนอน, 2. มีปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาทางด้านโรคทางระบบประสาท หรือจิตเวชในเด็ก, 3. นอนหลับยากจากยาที่เด็กบริโภคอยู่, 4. เป็นนิสัยพื้นฐานของเด็กเองที่นอนหลับยาก (Behavior insomnia)
- ความเจ็บป่วยหรือโรคที่พบเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนหลับยาก: เช่น
- หูชั้นกลางอักเสบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับ ซึ่งพบได้ทั้งหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
- ในหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บหู อาเจียน ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งเกิดได้ทั้งในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ในพวกหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังมักจะมีอาการเห็นชัดตอนกลางคืน เนื่องจากเด็กรู้สึกมีปัญหาไม่สบายหู ปวดหู หรือมีไข้ไม่สบายตัวทำให้นอนไม่หลับ
- การรักษาหูชั้นกลางอักเสบจะทำให้เด็กหายจากอาการเจ็บปวดไม่สบายตัวและกลับมานอนเป็นปกติได้
- เป็นโรคหวัดจากการแพ้ (Allergic rhinitis) ซึ่งทำให้แน่นจมูก หายใจไม่ออก คันจมูก คันตา มีน้ำมูก จาม ในปัจจุบันพบเด็กเป็นหวัดจากโรคภูมิแพ้มากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา พบสูงถึงประมาณ 40% เพราะมีสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้มากขึ้น การรักษาในปัจจุบัน มียาสำหรับพ่นจมูกให้หายใจโล่งขึ้น โดยมีอาการข้างเคียงน้อย มีให้ใช้หลายชนิด เช่น
- ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drugs) อาจช่วย เรื่องแพ้ เรื่องอาการคัน หรือแก้หวัดได้ แต่เด็กบางคนอาจนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยา
- เช่นเดียวกับเด็กที่มีอาการไอจากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ (หลอดลมอักเสบในเด็ก) หรือพวกที่เป็นโรคหืด(โรคหืดในเด็ก) การได้ยาขยายหลอดลมชนิดรับประทานอาจมีผลให้ ใจสั่น มือสั่น นอนไม่หลับ
- ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้/โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับที่พบบ่อยมาก พบว่าเด็ก 5-20% เป็นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้และทำให้เกิดปัญหาในการนอนถึง 60%
- การนอนไม่หลับเกิดเนื่องจากอาการคันมาก หรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา เช่นการให้ยาแอนติฮีสตามีนเพื่อลดอาการคัน ซึ่งการรักษาผิวหนังอักเสบทำให้เด็กลดอาการคันแล้วนอนหลับได้
- ความเจ็บป่วยเรื้อรังหลายอย่างทำให้เด็กนอนหลับยาก ได้แก่ โรคที่ทำให้ปวดข้อหรือกระดูก ไมเกรน ทำให้ปวดหัว โรคหืด โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น โรคกรดไหลย้อน การนอนไม่หลับอาจเกิดจากตัวโรคเองที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือความไม่สุขสบาย หรือจากยาที่ใช้รักษา และผลข้างเคียงของยาทำให้เด็กนอนไม่หลับ หรือเกิดจากความวิตกกังวลของเด็ก
- ปัญหาด้านจิตใจ, ทางระบบประสาท, และทางจิตเวช: ได้แก่
- เด็กที่มีปัญหาชัก หรือเด็กที่มีความผิดปกติในระบบประสาท อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ จนมีปัญหาการนอนไม่หลับ เมื่อรักษาอาการทางระบบประสาทได้ อาการนอนหลับจะดีขึ้น
- การรักษาอาการนอนไม่หลับในเด็กที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทจะซับซ้อนมากกว่าการรักษาในเด็กที่ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เพราะการนอนไม่หลับอาจเกิดจากโรคหรือเกิดจากยาที่ใช้รักษา จึงต้องมีการหาสาเหตุให้แน่ชัด และจัดการรักษาตามสาเหตุ
- เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการนอนมากกว่าเด็กปกติ ส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท หรือบางครั้งมีอาการหยุดหายใจเป็นระยะจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งพบในเด็กกลุ่มนี้ได้มากกว่าเด็กปกติ
- แต่ผู้เขียนพบเด็กอายุ 8 ขวบ คุณแม่มาปรึกษาว่าลูกนอนไม่หลับ พอซักได้ความว่าลูกไม่ยอมนอนเพราะอ่านหนังสือแฮรี่ พ็อตเตอร์ ลูกชอบอ่านมาก ไปวัดไอคิวเด็กได้ 130 และเด็กฉลาดอยากเรียนรู้ ชอบอ่านหนังสือจนไม่อยากนอน ซึ่งคงไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หากอ่านหนังสือสนุกก็วางไม่ลง คงต้องมีการตกลงกันให้อ่านเมื่อไรและต้องนอนเมื่อไร หากวันที่โรงเรียนเปิด ควรกำหนดเวลานอน กลางวันไปโรงเรียนจะได้ไม่ง่วง และหากอยากอ่านหนังสือดึกอนุญาตแต่ช่วงวันหยุด
- นอนหลับยากจากยาที่เด็กบริโภคอยู่: ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มที่จะทำให้เด็กหลับ ทั้งที่ใช้รักษาอาการความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือรักษาภาวะชัก หรือรักษาปัญหาด้านจิตใจ เมื่อใช้ไปนานๆยานั้นกลับทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับเสียเอง เช่น คลอรอลไฮเดรต (Chloral hydrate) ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) ยากลุ่มยาขยายหลอดลมชนิดรับประทาน เช่น ธีโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งทำให้นอนไม่หลับเพราะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง การพ่นยาขยายหลอดลมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการนอนเพราะการออกฤทธิ์อยู่ในระยะเวลาสั้นกว่าชนิดรับประทาน
- หากพบว่าเป็นปัญหาจากยา การหยุดยาจะทำให้นอนหลับดีขึ้น แต่หากหยุดไม่ได้ควรปรับเวลาการให้ยา ไม่ให้ใกล้กับเวลานอน หรือให้ยาที่มีฤทธิ์รักษาคล้ายกัน แต่ไม่ทำให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ
- อนึ่ง ในเด็กโต การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และดื่มกาแฟ หรือการพยายามจะหยุดหรือลดสิ่งเหล่านี้เมื่อเคยบริโภคต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนได้เช่นกัน
- นิสัยพื้นฐานของเด็กเองที่นอนหลับยาก: พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุตั้งแต่ขวบปีแรกจนถึง 5 ปี แต่อาจจะติดเป็นนิสัยไปจนโต เด็กกลุ่มนี้บางครั้งหลับยากจนกว่าจะมีสิ่งที่ตนเองชอบ ทำให้ก่อนหลับ เช่น ต้องให้พ่อแม่อุ้มแล้วเขย่าตัวจนหลับ หรือต้องดูดนมก่อนจึงจะหลับได้ เมื่อหลับไปแล้วตื่นใหม่ก็ต้องให้พ่อแม่ทำอย่างเดิมอีกจึงจะหลับได้ และเด็กก็จะต้องมีสิ่งที่ต้องการเหล่านี้ก่อนหลับ หากไม่มีใครทำให้ จะนอนไม่หลับ เด็กโตหน่อยอาจจะมีการกรีดร้อง หรือต่อต้านการนอนโดยเฉพาะหากพ่อแม่ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้
ในเด็กที่มีนิสัยนอนหลับยากที่ต้องอุ้ม ต้อง เขย่า หรือต้องกินนมก่อนนอน มีวิธีแก้ได้เหมือนกับการแก้นิสัยที่ไม่ต้องการ คือ
- นอนให้เป็นเวลา ก่อนนอนอาบน้ำให้สบายตัว ใส่เสื้อผ้าที่สบาย อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอน
- เลิกทำสิ่งต่างๆที่เด็กติด เช่น ไม่อุ้ม ไม่เขย่า หรือให้กินนม ซึ่งอาจจะยากอยู่บ้าง บางครั้งเด็กจะร้องตะโกน ก็ต้องทำใจแข็ง การเพิกเฉยนี้เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าจะต้องมีการปรับนิสัย การให้อยู่ตามลำพังสักพัก (ส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็น 2-3 นาทีถึง 5 นาทีตามอายุเช่น 2 ปีใช้ 2 นาที 3 ปี 3 นาทีประมาณนั้น) เด็กก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ดีขึ้น วิธีนี้ได้ผลดีในการปรับนิสัยที่ไม่พึงต้องการในเด็ก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ใจไม่แข็งพอ
- พยายามถอยห่าง ให้เด็กได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองบ้าง ไม่ติดกับพ่อแม่มากเกินไปจนแกะจากกันไม่ออก โดยค่อยๆถอยห่างทีละน้อย เช่น แม่อาจนั่งอยู่ด้วยกันในห้อง ต่อไปแม่อาจนั่งที่หน้าห้องยังได้ยินเสียงกันอยู่ ต่อไปก็ห่างออกไป เด็กก็จะหัดอยู่คนเดียวได้ แต่อย่าทิ้งไปเลย พึงระวังสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กหรืออุบัติเหตุจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่นปลั๊กไฟ สิ่งแปลกปลอมที่เด็กอาจเก็บใส่ปากหรือจมูกแล้วสำลัก
- ให้กำลังใจ ให้คำชม หรือให้รางวัล เมื่อเด็กสามารถทำได้ตามที่ตั้งความสำเร็จไว้ และสามารถปฏิบัติได้ต่อไป การให้รางวัลก็ให้สมควรแก่อายุและสมควรแก่เหตุ เช่น ให้ดาว การให้รางวัลเล็กๆ แต่บ่อยๆ จะได้ผลดีกว่าการให้รางวัลใหญ่แต่น้อยครั้ง
- บิดามารดาควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องการนอนของเด็ก เพื่อให้เข้าใจว่าการนอนปกติเป็นอย่างไร เช่น ให้เด็กเข้านอนและตื่นเป็นเวลารวมทั้งในวันหยุดต่างๆ การจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอน/การเตรียมบริเวณที่นอนให้ถูกสุขลักษณะ การไม่ให้เด็กมีกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดหรือยุ่งยากเมื่อใกล้เวลานอน และการสร้างนิสัยที่ควรแก่เด็ก
*ทั้งนี้การแก้ปัญหาเด็กหลับยากด้วยยามักจะทำเมื่อการปรับนิสัยการนอนแล้วไม่ได้ผล และต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงจากยาดังได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ 3 ด้วย
ข. ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกที่อาจมีผลให้เด็กหลับยาก:
สภาพแวดล้อมจากห้องนอนซึ่งมีคนหลายคนนอนรวมกัน และ/หรือมีเรื่องที่ทำให้ห้องมีเสียงดังอึกทึกหรือไม่สงบสุขสำหรับการนอน หรือพ่อแม่เองก็นอนดึก ทำให้เด็กมีปัญหานอนหลับยาก
วิธีแก้ไขไม่ยาก คือจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะสมทำให้เด็กนอนหลับได้ และให้มีเวลาการนอนที่แน่นอนเป็นนิสัย
การจัดเวลานอนให้เป็นเวลา ต่อไปเมื่อถึงเวลา เด็กก็จะง่วงนอนได้เองตามปกติ
เมื่อไรคืออาการนอนหลับยากที่ต้องไปพบแพทย์?
เมื่อเด็กนอนหลับยาก ควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
- อาการนอนไม่หลับที่ไม่ยอมหายเป็นเวลานาน แม้ความเจ็บป่วยต่างๆจะดีขึ้นแล้ว และ/หรือ
- การนอนไม่หลับหรือหลับยากมีปัญหาต่อกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่น ต่อการเรียน ต่อการทำกิจกรรมต่างๆ
แพทย์มีขั้นตอนอย่างไรหากพบเด็กมีปัญหานอนหลับยาก?
ขั้นตอนการตรวจของแพทย์ คือ
- แพทย์จะซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุต่างๆ ที่เป็นเหตุให้นอนหลับยาก
- แพทย์จะตรวจร่างกายดูว่ามีความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องทางร่างกายหรือไม่
หากซักถามประวัติและตรวจดูว่าอาจมีอาการเจ็บป่วย อาการชัก หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับทางจิตเวช หรือจากนิสัยหลับยาก หรือเกี่ยวข้องกับยา แพทย์จะดำเนินการเพื่อการวินิจฉัยและรักษาตามเหตุที่เกี่ยวข้องต่อไป