เซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซอร์โทลิซูแมบ(Certolizumab หรือ Certolizumab pegol) เป็นยาประเภท โมโนโคลนอล แอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies) ทางคลินิกนำยานี้มาใช้บำบัดกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคโครห์น เป็นต้น ตัวยาเซอร์โทลิซูแมบ มีกลไกยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า Tumor Necrosis Factor(TNF) โปรตีนดังกล่าวสามารถ ยับยั้งการแบ่งเซลล์เนื้องอก(Inhibit tumorigenesis) ช่วยชะลอการแบ่งตัวของไวรัส และยังมีกลไกตอบสนองต่อการอักเสบเมื่อร่างกายมีภาวะติดเชื้อต่างๆ การทำงานของ Tumor Necrosis Factor ยังช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีชื่อเรียกว่า Macrophage ให้คอยทำหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรค และเซลล์มะเร็ง กระบวนการดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดสภาพการอักเสบของอวัยวะต่างๆในร่างกายตามมา ทางการแพทย์พบว่า ยาเซอร์โทลิซูแมบมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Tumor Necrosis Factor จึงส่งผลให้บรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเองโดยทำให้อาการดีขึ้นเป็นลำดับ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซอร์โทลิซูแมบเป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 11 วันเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อควรระวัง-ข้อห้ามของยาเซอร์โทลิซูแมบที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยาเซอร์โทลิซูแมบ
  • ห้ามใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบกับผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพราะจะทำให้อาการ ของโรคมีอาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้มากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบจะมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจสังเกตร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อที่ก่อโรคจากอาการต่างๆต่อไปนี้ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เป็นแผลในคอหรือในช่องปาก ปวดโพรงไซนัส ไอ เสมหะมาก ปวดขณะปัสสาวะ หรือกรณีเป็นแผลติดเชื้อ แผลจะมีอาการลุกลามมากขึ้น หากพบเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการเกิดโรคทางผิวหนังต่างๆขณะที่ได้รับยาเซอร์โทลิซูแมบ เช่น โรคหูด โรคเชื้อรา การเกิดแผลทางผิวหนัง ตลอดจนมีอาการเลือดซึมตามผิวหนัง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ห้ามฉีดวัคซีนขณะได้รับยานี้ นอกจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ฉีดวัคซีนจะล้มเหลวแล้ว ยังอาจติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าวเสียเอง
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาชนิดอื่นๆกับยาเซอร์โทลิซูแมบ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่มีการใช้ยาชนิดใดๆอยู่ก่อนเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยกลุ่มสูงวัย (65 ปีขึ้นไป) อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบ ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • สำหรับผู้ป่วยที่อาจมีโอกาสแพ้ยาเซอร์โทลิซูแมบ ให้สังเกตจากอาการ ผื่นคัน มีแผลพุพองเกิดขึ้น หรือเกิดผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด หายใจขัด /หายใจลำบาก ใบหน้า-ช่องปาก-ริมฝีปาก-คอ-ลิ้นเกิดอาการบวม กรณีที่พบว่า มีอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ความเสี่ยงของการใช้ยาชนิดนี้อีกประการหนึ่งคือ สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เมื่อใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้เป็นด้วยฤทธิ์ของยาเซอร์โทลิซูแมบที่ยับยั้งกระบวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง
  • ระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่จะรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกเหนือจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคตับ ตลอดจนสภาพจิตใจที่อาจผิดปกติไป เช่น อยากทำร้ายตนเอง
  • ควรต้องดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นอย่างดี ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง พักผ่อน และออกกำลังกาย ตามที่แพทย์แนะนำ

ขณะที่ใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจร่างกายเป็นระยะๆ เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา รวมถึงตรวจดูภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตลอดจนตรวจทดสอบว่า มีการติดเชื้อใดๆเกิดขึ้นหรือไม่ และหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกร ในสถาน พยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

เซอร์โทลิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร

เซอร์โทลิซูแมบ

ยาเซอร์โทลิซูแมบมีสรรพคุณบำบัด/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการของกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง (โรคออโตอิมมูน) อาทิ

  • โรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)
  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriatic arthritis)
  • โรคโครห์น(Crohn's disease)

เซอร์โทลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซอร์โทลิซูแมบคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนซึ่งทำงานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่สารนี้มีชื่อเฉพาะว่า Tumor necrosis factor ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งประกอบด้วยกระบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นการอักเสบ หยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย จึงทำให้อาการป่วยทุเลาลงตรมสรรพคุณ

เซอร์โทลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซอร์โทลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Certolizumab pegol ขนาด 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เซอร์โทลิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซอร์โทลิซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับรักษาอาการ โรคข้อรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และโรคโครห์น เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 400 มิลลิกรัมในสัปดาห์แรก แล้วแพทย์อาจเว้นระยะเวลา การให้ยาทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งถัดไป 200 มิลลิกรัม/สัปดาห์ หรือจะฉีดยาให้ผู้ป่วยขนาด 400 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 สัปดาห์ โดยดูการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อยานี้เป็นสำคัญ
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

อนึ่ง:

  • อาจใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบร่วมกับยาMethotrexate หรือจะใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบ ในลักษณะยาเดี่ยว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา Methotrexate

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซอร์โทลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซอร์โทลิซูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านเข้าน้ำนมหรือรก และผ่านเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการฉีดยาเซอร์โทลิซูแมบ ตรงเวลาแพทย์ตามนัดหมายเสมอ แต่อย่างไรก็ตามหากไม่ได้มารับยานี้ ควรรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบ เพื่อทำการนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว การรักษาโรคออโตอิมมูนต้องอาศัยความต่อเนื่อง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาเองโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

เซอร์โทลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซอร์โทลิซูแมบ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ทำให้มีการติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคเริม) ปอดบวม วัณโรค กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หอบหืด ไอ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปลายเส้นประสาทอักเสบ เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เลือดมีการแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผมร่วง มีแผลตามผิวหนัง ผิวแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับโต ตับอักเสบ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติในสตรี
  • ผลต่อตา: เช่น ม่านตาอักเสบ การมองเห็นภาพผิดปกติ เปลือกตา/หนังตาอักเสบ มีเลือดออกในจอตา
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น อารมณ์แปรปรวน มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง วิตกกังวล มีภาวะอารมณ์สองขั้ว
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เสียสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น อาจเกิด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง หรือมีก้อนเนื้อในระบบทางเดินอาหาร

มีข้อควรระวังการใช้เซอร์โทลิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ก่อนใช้ยานี้ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการเจ็บป่วยติดเชื้อ หรือได้รับการฉีดวัคซีนมาหรือไม่
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องมารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • หากพบอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อต่างๆเกิดขึ้น ให้รีบเข้ามาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซอร์โทลิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซอร์โทลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซอร์โทลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้มีการติดเชื้อต่างๆในระดับรุนแรง การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะดูจากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาเซอร์โทลิซูแมบ และจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบร่วมกับ วัคซีนบีซีจี(BCG) ด้วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้ เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนบีซีจีตามมา
  • ห้ามใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบร่วมกับยา Clozapine, Leflunomide เพราะจะสร้างผล กระทบต่อการทำงานของไขกระดูก/ กดไขกระดูกจนทำให้ปริมาณเม็ดเลือดในร่างกายต่ำลง
  • ห้ามใช้ยาเซอร์โทลิซูแมบร่วมกับยาTacrolimus, Zidovudine ด้วยจะทำให้มี การติดเชื้อในระดับรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาเซอร์โทลิซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บยาเซอร์โทลิซูแมบ ในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซอร์โทลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซอร์โทลิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cimzia (ซิมเซีย)UCB

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tumor_necrosis_factor_alpha [2017,Nov11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Certolizumab_pegol [2017,Nov11]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17636564 [2017,Nov11]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/125160s270lbl.pdf [2017,Nov11]
  5. https://www.drugs.com/ppa/certolizumab-pegol.html [2017,Nov11]
  6. https://www.drugs.com/dosage/certolizumab.html#Usual_Adult_Dose_for_Rheumatoid_Arthritis [2017,Nov11]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/certolizumab-index.html?filter=3&generic_only=#M [2017,Nov11]