เซอร์ทราลีน (Sertraline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เซอร์ทราลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เซอร์ทราลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซอร์ทราลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซอร์ทราลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซอร์ทราลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ทราลีนอย่างไร?
- เซอร์ทราลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซอร์ทราลีนอย่างไร?
- เซอร์ทราลีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
- ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis)
บทนำ: คือยาอะไร?
เซอร์ทราลีน (Sertraline) คือ ยาต้านเศร้า,ทางคลินิกนอกจากใช้รักษา อาการซึมเศร้าแล้ว, ยังนำมาบำบัดอาการ ย้ำคิดย้ำทำ, วิตกกังวล, ตื่นตระหนก, ความผิดปกติที่เกิดหลังได้รับความสะเทือนใจ, รวมถึงกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน, ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน, โดยยาเซอร์ทราลีนจัดอยู่ในกลุ่มยา Selective serotonin reuptake inhibitor: SSRI, วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) โดยบริษัทไฟเซอร์,สหรัฐอเมริกา
ยาเซอร์ทราลีน จะถูกดูดซึมอย่างช้าๆจากระบบทางเดินอาหาร, ยาในกระแสเลือดสามารถซึมผ่านเข้าตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายได้มาก, และผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้, ในกระแสเลือดตัวยาจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 98%, ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้, ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 26 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
มีข้อมูลสำคัญๆบางประการของยาเซอร์ทราลีนที่ผู้บริโภคควรทราบ: เช่น
- ไม่ควรใช้ยาเซอร์ทราลีนขณะที่ผู้ป่วยมีการใช้ยา Pimozide, หรือเพิ่งได้รับการฉีดยา Methylene blue
- ห้ามใช้ยาเซอร์ทราลีนกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยากลุ่ม MAOIs, ควรหยุดใช้ยา MAOIs ประมาณ 14 วันเป็นอย่างต่ำก่อนใช้ยาเซอร์ทราลีน
- ยาต้านเศร้า รวมถึงยาเซอร์ทราลีน สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยควบคู่กันไป
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยอย่างละเอียดทุกครั้ง ด้วยอาการป่วยบางประเภทไม่เหมาะที่จะใช้ยาเซอร์ทราลีน เช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก มีภาวะเลือดออกง่าย มีอาการของไบโพลาร์/โรคอารมณ์สองขั้ว หรือมีประวัติติดสาร/ยาเสพติด หรือเคยคิดฆ่าตัวตายมาก่อน
- ผู้ที่ได้รับยานี้ อาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 4 สัปดาห์ขึ้นไปกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น
- ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยานี้เอง ด้วยอาจเกิดภาวะถอนยา/ ลงแดงติดตามมา
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเซอร์ทราลีนมากยิ่งขึ้น
- ยานี้จะทำให้ความคิดการตัดสินใจช้าลง จึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากหากผู้ป่วยต้องขับขี่ยวดยานพาหนะ
ยาเซอร์ทราลีน ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆ เช่น มีอาการง่วงนอน วิงเวียน เหนื่อยง่าย คลื่นไส้เล็กน้อย และปวดท้อง
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาเซอร์ทราลีนชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเงื่อนไขของการใช้ยาคือ
- ไม่ควรใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา
- ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์
ยาเซอร์ทราลีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น, และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
เซอร์ทราลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเซอร์ทราลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการซึมเศร้า: ซึ่งยานี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้สูงอายุน้อยกว่ากลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าTCAs
- บำบัดอาการย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive compulsive disorder): ซึ่งพบว่าให้ผลการรักษาได้ดีกว่ายา Clomipramine
- บำบัดอาการตื่นตระหนก(Panic disorder): ทางคลินิกมีรายงานว่า ยาเซอร์ทราลีนรักษา อาการตื่นตระหนกได้เทียบเท่ากับยา Clomipramine, Imipramine, Clonazepam, Alprazolam, Fluvoxamine และ Paroxetine
- รักษาอาการผิดปกติหลังได้รับความสะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder)
- รักษาอาการกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
- บำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน
เซอร์ทราลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซอร์ทราลีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง โดยยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อ ประสาทที่ชื่อว่า 5-HT (5-hydroxytryptamine)/สาร Serotonin ทำให้มีปริมาณ 5-HT ในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เรียกว่า 'ไซแนปติกเคล็ฟท์ (Synaptic cleft)' เพิ่มมากขึ้น จนมีผลลดอารมณ์ซึมเศร้าและทำให้อาการทางจิตดีขึ้น จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เซอร์ทราลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซอร์ทราลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
เซอร์ทราลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซอร์ทราลีน มีขนาดการรับประทานขึ้นกับ แต่ละอาการโรค,และความรุนแรงของอาการ, ขนาดรับประทานจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป, ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. รักษาภาวะซึมเศร้าและอาการย้ำคิดย้ำทำ: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานในสัปดาห์ถัดมา, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ทั้งนี้อาการย้ำคิดย้ำทำอาจต้องใช้เวลาการรักษาหลายเดือนกว่าจะเห็นผล
ข. รักษาอาการตื่นตระหนก, อาการผิดปกติหลังได้รับความสะเทือนใจ, และอาการวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยาขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ต่อมา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
ค. บำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง, ในช่วงที่มีประจำเดือน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 - 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
* อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ทางคลินิก มีการใช้ยานี้บำบัดอาการย้ำคิดย้ำทำในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 - 17 ปีโดยการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, ส่วนอาการป่วยที่นอกเหนือจากนี้ยังไม่ มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุน การใช้ยานี้ในการบำบัดรักษาอาการอื่นๆจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นเฉพาะกรณีๆ
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา นี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นเฉพาะแต่ละกรณี
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทาน และระยะเวลาของการใช้ยาให้ลดลง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาเซอร์ทราลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซอร์ทราลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซอร์ทราลีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาเซอร์ทราไลน์บ่อยๆหลายครั้ง หรือหยุดการใช้ยานี้เอง สามารถก่อให้เกิดอาการถอนยา/ลงแดงได้ (Withdrawal-like symptoms)
เซอร์ทราลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซอร์ทราลีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีภาวะนอนไม่หลับ หรือ เกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น, รวมถึงอาจ เกิดภาวะอยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว เกิดภาวะตัวสั่น ลมชัก รู้สึกสับสน กลุ่มอาการเซโรโทนิน
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ มีอาการบวมตามมือ-เท้า ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปากคอแห้ง คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ ลิ้นเป็นแผล เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ทั้ง เฮชดีแอล (HDL)และแอลดีแอล (LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย/นกเขาไม่ขัน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผื่นคัน เหงื่อมาก ลมพิษ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง รวมถึงเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับ เช่น Serum transaminase เพิ่มสูงขึ้นในเลือด ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีรายงานว่าอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อเริมได้ง่าย
- ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัดเจน ปวดตา รูม่านตาขยาย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คออักเสบ คัดจมูก มีอาการหาวบ่อย
มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ทราลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซอร์ทราลีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเซอร์ทราลีน
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ยกเว้นแต่อาการย้ำคิด ย้ำทำ), การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- หากผู้ป่วยมีอาการอยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ควรหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs ประมาณ 14 วันขึ้นไป ก่อนการใช้ยาเซอร์ทราลีน
- *กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามร่างกาย หรือ มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว *ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ญาติต้องคอยช่วยสังเกตอาการผิดปกติหรือพัฒนาการของผู้ป่วย เพื่อมีข้อมูลที่จะเป็น ประโยชน์สำหรับแพทย์ใช้ในการปรับระดับการรักษาได้อย่างถูกต้อง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซอร์ทราลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เซอร์ทราลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซอร์ทราลีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา 5-hydroxytryptophan, Dextromethorphan, Tramadol, Zolmitriptan, ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน
- การใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เสี่ยงกับการเกิดอาการชัก นอกจากนี้ ยังทำให้ระดับยาเซอร์ทราลีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาเซอร์ทราลีนตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงจากยา Phenylpropanolamine เพิ่มมากขึ้น เช่น มีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และวิตกกังวล
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทราลีน ร่วมกับยา Aspirin ด้วยอาจเกิดภาวะเลือดออกง่ายโดยเฉพาะกับผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้มากที่สุด
ควรเก็บรักษาเซอร์ทราลีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเซอร์ทราลีน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เซอร์ทราลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซอร์ทราลีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Selrotine (เซลโรทีน) | Siam Bheasach |
Serlift (เซอร์ลิฟท์) | Ranbaxy |
Serlin 50 (เซอร์ลิน 50) | Zydus Cadila |
Sertra (เซอร์ทรา) | Medifive |
Sertraline GPO (เซอร์ทราลีน จีพีโอ) | GPO |
Sertraline Sandoz (เซอร์ทราลีน แซนดอซ) | Sandoz |
Sisalon (ไซซาลอน) | Unison |
Starin (สตาริน) | Atlantic Lab |
Zoloft (โซลอฟท์) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor#List_of_agents [2022,Dec31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sertraline#Pharmacokinetics [2022,Dec31]
- https://www.drugs.com/sertraline.html [2022,Dec31]
- https://www.drugs.com/dosage/sertraline.html [2022,Dec31]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/sertraline-index.html?filter=3&generic_only=%20 [2022,Dec31]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/sertraline?mtype=generic [2022,Dec31]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=sertraline [2022,Dec31]