ฮีรูดอยด์ (Hirudoid) เฮปารินอยด์ (Heparinoid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เฮปารินอยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- เฮปารินอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฮปารินอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฮปารินอยด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เฮปารินอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฮปารินอยด์อย่างไร?
- เฮปารินอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเฮปารินอยด์ครีมอย่างไร?
- เฮปารินอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด (Varicose vein)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- แผลเป็นนูน (Keloid)
- หลอดเลือดดำผิวอักเสบ (Superficial Thrombophlebitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาเฮปารินอยด์ (Heparinoid) คือ ยา/สารประเภท Glycosaminoglycans หรือ Mucopolysaccharides (สารช่วยให้ความชุ่มชื้นกับเซลล์, ช่วยเซลล์ให้เจริญเติบโต, และช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บ) ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของ Heparin
ในด้านเภสัชภัณฑ์นักวิทยาศาสตร์ได้นำเฮปารินอยด์มาผลิตเป็นยาในรูปแบบ ยาครีม, ยาเจล, สำหรับทาผิวหนังภายนอก โดยมีความเข้มข้น 25,000 ยูนิตต่อเนื้อครีมหรือเนื้อยาเจล 100 กรัม วัตถุประสงค์ของการใช้ยาเพื่อลดภาวะหลอดเลือดดำขอด หลอดเลือดดำอักเสบ หรือแม้แต่ทำให้รอยแผลเป็นดูจางลง ซึ่งเภสัชภัณฑ์ที่อยู่ในชื่อการค้าที่เราคุ้นหูคือ “ฮีรูดอยด์ (Hirudoid)”
อย่างไรก็ตาม การเป็นยาใช้ภายนอกของ เฮปารินอยด์/ ฮีรูดอยด์ ยังมีข้อห้ามปลีกย่อยบางประการ ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ผู้บริโภคจึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้านก่อน
เฮปารินอยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ มีสรรพคุณรักษาโรค/ ข้อบ่งใช้:
- บรรเทาอาการหลอดเลือดดำผิวอักเสบ
- ลดภาวะเลือดคั่งใต้ผิวหนัง
- ทำให้รอยแผลเป็นดูจางลง
- ใช้ทาเพื่อผลัดผิวหนังแห้งจากการโดนแสงแดด
เฮปารินอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฮปารินอยด์/ ฮีรูดอยด์ คือ ตัวยาจะยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดในบริเวณหลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง ทำให้การไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่ทายาดีขึ้น จากกลไกข้างต้นทำให้อาการปวดในบริเวณที่มีเลือดคั่งเบาบางลง ลดอาการบวม แดง (อาการของการอักเสบ) และการตึงตัวของผิวหนังในบริเวณที่ทายา
เฮปารินอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาครีมและยาเจล ขนาดความเข้มข้น 25,000 ยูนิต/100 กรัม
เฮปารินอยด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 5 ปี: ทายาบริเวณผิวหนังที่ต้องการรักษาเป็นบริเวณกว้าง 5 - 15 เซนติเมตร สามารถทายาได้ 1 - 4 ครั้ง/วัน หรือใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้านผลข้างเคียงของยานี้ต่อเด็กกลุ่มอายุนี้ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฮปารินอยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเฮปารินอยด์/ ฮีรูดอยด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในเวลาถัดไป ให้ทายาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า
เฮปารินอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ เช่น
- ในผู้ป่วยบางราย อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณที่ทายา
มีข้อควรระวังการใช้เฮปารินอยด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเฮปารินอยด์ หรือแพ้ส่วนประกอบในตัวผลิตภัณฑ์
- ห้ามทายานี้ในบริเวณที่เป็นแผลเปิด ด้วยองค์ประกอบของสารเคมีในตัวผลิตภัณฑ์จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้แผลนั้นหายช้า
- ห้ามทายานี้ใกล้บริเวณตาหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่มีความบอบบาง เช่น เยื่อเมือก (Mucous membranes) เช่น ในช่องปาก ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ
- ยาเฮปานอยครีม/เจลเป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี (เด็กเล็ก) และการใช้ยานี้ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี (เด็กโต) ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฮปารินอยด์/ ฮีรูดอยด์ ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เฮปารินอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาเฮปารินอยด์/ เฮีรูดอยด์ เป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานตัวใดๆ
ควรเก็บรักษาเฮปารินอยด์ครีมอย่างไร?
ควรเก็บยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์:
- เก็บยาภายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เฮปารินอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฮปารินอยด์/ฮีรูดอยด์ มียาชื่อการค้า อื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hirudoid (ฮีรูดอยด์) | Medinova |
Hirudoid Forte (ฮีรูดอยด์ ฟอร์ท) | Medinova |
Hirudoid Mild (ฮีรูดอยด์ มายด์) | Medinova |
Hiruscar (ฮีรูสการ์) | Medinova |
Varidoid (แวริดอยด์) | General Drugs House |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Heparinoid [2021,April10]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/heparinoids?mtype=generic [2021,April10]
- https://www.mims.com/Singapore/drug/info/Hirudoid/?type=full#Indications [2021,April10]
- https://www.nhs.uk/medicines/heparinoid/ [2021,April10]
- https://www.medicines.org.uk/emc/product/1341/smpc#gref [2021,April10]