อโมบาร์บิทอล (Amobarbital)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อโมบาร์บิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อโมบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อโมบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อโมบาร์บิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อโมบาร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อโมบาร์บิทอลอย่างไร?
- อโมบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอโมบาร์บิทอลอย่างไร?
- อโมบาร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- พอร์ฟิเรีย (Porphyria)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
บทนำ: คือยาอะไร?
อโมบาร์บิทอล (Amobarbital) คือ ยาช่วยให้นอนหลับ, บรรเทาอาการวิตกกังวล, รักษาอาการชัก, และมีฤทธิ์สงบประสาท/คลายเครียด โดยยานี้อยู่ในกลุ่มอนุพันธุ์ของยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate), รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะมีทั้งชนิด รับประทาน ยาฉีด, ตามกฎหมายไทยระบุให้ยาอโมบาร์บิทอลเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 3, การใช้ยานี้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆจะทำให้เกิดอาการติดยา
ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของยานี้จะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น และมีรสขมเล็กน้อย, ถูกสังเคราะห์ได้ครั้งแรกในเยอรมันเมื่อปี ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466)
การออกฤทธิ์ของตัวยาอโมบาร์บิทอลจะเกิดที่ตัวรับ (Receptor) ในสมองที่เรียกว่า GABA receptors (Gamma-aminobutyric acid receptor) หลังจากการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด, ตัวยานี้จะมีการกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ตับ ไต ทั้งกระจายตัวในพลาสมา และเข้ารวมตัวกับโปรตีนตามเนื้อเยื่อของร่างกาย, ระยะเวลาในการออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง, ตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 - 42 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเพื่อที่จะใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย เช่น
- เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือไม่
- ถ้ามีประวัติติดยานอนหลับ หากใช้ยานี้ก็มีโอกาสติดยาอโมบาร์บิทอลได้เช่นกัน
- มีประวัติป่วยด้วย โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง), โรคตับ, โรคไต, โรคทางเดินหายใจที่มีประวัติเคยหยุดหายใจมาก่อน, ด้วยการใช้ยานี้จะทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยจะเกิดภาวะ กดประสาทอย่างมากจนอาจเกิดโคม่าได้
ยาอโมบาร์บิทอล เป็นยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ จึงพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต, และการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
อโมบาร์บิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอโมบาร์บิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาและบำบัดอาการวิตกกังวล
- ช่วยสงบประสาท/คลายเครียด และทำให้นอนหลับ
- ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียดก่อนเข้ารับการผ่าตัด
อโมบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอโมบาร์บิทอล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า GABA receptor (Gamma-aminobutyric acid receptor) ส่งผลให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท คลายความวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับ, แต่เนื่องจากยานี้จะทำให้ผู้ป่วยติดยาได้ ทางคลินิกจึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
อโมบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอโมบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Chlorpromazine HCl 25 มิลลิกรัม + Amobarbital 50 มิลลิกรัม
- ยาฉีด ขนาด 0.5 กรัม
อโมบาร์บิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอโมบาร์บิทอลมีขนาดรับประทาน:
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอโมบาร์บิทอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอโมบาร์บิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอโมบาร์บิทอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อโมบาร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอโมบาร์บิทอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดหัว
- สับสน
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- หัวใจเต้นช้า
- ความดันโลหิตต่ำ
- กดการหายใจ (หายใจช้า เบา ตื้น)
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องผูก
- รู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
- มีผื่นบวมคล้ายลมพิษ
- ผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้อโมบาร์บิทอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอโมบาร์บิทอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการ/โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย ผู้ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้า
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือ ทำงานกับเครื่องจักรด้วยยานี้จะมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนจึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระวังการใช้ยานี้ที่ติดต่อกันเป็นเวลานานด้วยสามารถทำให้เกิดการติดยาได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอโมบาร์บิทอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อโมบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอโมบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอโมบาร์บิทอล ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs) อาจทำให้ฤทธิ์ของการกดสมองอยู่ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดอาการชักได้ง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอโมบาร์บิทอล ร่วมกับยา Warfarin อาจทำเกิดภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาอโมบาร์บิทอล ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ฤทธิ์ของอาการข้างเคียงของยาอโมบาร์บิทอลมีมากยิ่งขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอโมบาร์บิทอล ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับความเข้มข้นและฤทธิ์ในการรักษาของยา Hydrocodone ลดน้อยลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาอโมบาร์บิทอลอย่างไร?
ควรเก็บยาอโมบาร์บิทอล: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อโมบาร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอโมบาร์บิทอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ama (เอมา) | Atlantic Lab |
Amytal (อะไมทอล) | Eli Lilly |
บรรณานุกรม
- https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/Main_law.aspx [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/ppa/amobarbital.html [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/amobarbital-index.html?filter=3&generic_only= [2023,Feb25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amobarbital [2023,Feb25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/amobarbital?mtype=generic [2023,Feb25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Amytal/ [2023,Feb25]
- https://www.mims.com/India/drug/info/amobarbital/?type=full&mtype=generic#Dosage [2023,Feb25]