อัลมอทริปแทน (Almotriptan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อัลมอทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อัลมอทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อัลมอทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อัลมอทริปแทนมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- อัลมอทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อัลมอทริปแทนอย่างไร?
- อัลมอทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอัลมอทริปแทนอย่างไร?
- อัลมอทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
- เอสเอ็นอาร์ไอ: ยาโรคซึมเศร้า (SNRI: Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ทริปแทน (Triptans)
- ไมเกรน (Migraine)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
บทนำ: คือยาอะไร?
อัลมอทริปแทน (Almotriptan) คือ ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน จัดเป็นยา ในกลุ่มยาทริปแทน (Triptan), ซึ่งอัลมอทริปแทนเป็นยาที่ใช้แพร่หลายทั้งในทวีป อเมริกา ยุโรป และบางประเทศในเอเชีย โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน
หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาอัลมอทริปแทนในกระแสเลือดจะเข้าจับตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 35%, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาอัลมอทริปแทนออกจากกระแสเลือด
ทั่วไปทางคลินิก จะใช้ยาอัลมอทริปแทนกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุในช่วง 12 – 17 ปี
มีข้อควรทราบบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนใช้ยาอัลมอทริปแทน เช่น
- ผู้ป่วยที่มีอาการไมเกรนหากใช้ยาอัลมอทริปแทนเป็นครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/กลับไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาวิเคราะห์อาการของโรคอีกครั้ง
- ยาอัลมอทริปแทนใช้ในการบำบัดรักษาอาการปวดไมเกรน ไม่สามารถใช้เป็นยาป้องกัน, ห้ามใช้บำบัดการปวดไมเกรนแบบมีอาการทางระบบประสาท ได้แก่ Hemiplegic migraine และ Basilar migraine
- ห้ามใช้ยาอัลมอทริปแทนกับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบ, รวมถึงผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงประเภทที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
- ยาอัลมอทริปแทนจะไม่ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มทริปแทนตัวอื่น ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับผลข้างเคียงมากยิ่งขึ้น, แพทย์จะแนะนำว่า ก่อนการใช้ยาอัลมอทริปแทน ควรเว้นระยะเวลา 24 ชั่วโมงห่างจากยาตัวแรกขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน ถือเป็นข้อห้ามนำยานี้มาใช้ซ้ำโดยเด็ดขาด
- การใช้อัลมอทริปแทน ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs หรือ SNRIs อาจทำให้ร่างกายเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน
- การใช้ยาหลายชนิดมากเกินความจำเป็น เช่น ขณะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ปรากฏว่าผู้ป่วยนำเอายาแก้ปวดชนิดอื่นมาใช้ร่วมกันกับยาอัลมอทริปแทน เช่น ยากลุ่ม Ergotamine, Opioids, และมีการใช้ยามากกว่า 10 วันต่อเดือน, สามารถกระตุ้นให้อาการปวดหัวกำเริบขึ้นเองได้
- การใช้ยาอัลมอทริปแทนกับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ต้องระมัดเป็นอย่างมาก ด้วยยานี้สามารถก่อความเสียหายต่ออวัยวะดังกล่าวได้
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุ อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยานี้ และถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้หากไม่มีคำสั่งใดๆจากแพทย์
- ในระหว่างที่มีการใช้ยาอัลมอทริปแทน ควรต้องตรวจวัดความดันโลหิตอยู่บ่อยๆ ตามแพทย์แนะนำ ด้วยตัวยาอัลมอทริปแทนสามารถกระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้
ทั้งนี้ ยาอัลมอทริปแทน สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงต่างๆได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆทั่วไป เช่น ทำให้มีอาการ ชา วิงเวียน ปากคอแห้ง ปวดหัว คลื่นไส้ ง่วงนอน
จากรายละเอียดข้างต้น จัดว่าการใช้ยาอัลมอทริปแทนต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง, ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
อัลมอทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอัลมอทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
อัลมอทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอัลมอทริปแทน เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ซึ่งเรียกว่า Selective serotonin agonist โดยจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า 5-HT1 receptors (5-hydroxytryptamine-1 receptors) ส่งผลให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว จึงมีผลให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลง
อัลมอทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอัลมอทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 6.25 และ 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
อัลมอทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอัลมอทริปแทนมีขนาดรับประทาน โดยต้องรับประทานต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเท่านั้น, ไม่ใช้เป็นยาป้องกันเกิดอาการ เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 – 17 ปี: เริ่มต้นรับประทาน 6.25 หรือ 12.5 มิลลิกรัม, ครั้งเดียวเมื่อมีอาการ, หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้เว้นระยะเวลาจากการรับประทานครั้งแรกประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วรับประทานยาในขนาดเดิมอีก 1 ครั้ง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เป็นกรณีไป
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- *ไม่ควรใช้ยานี้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 4 ครั้ง/เดือน
- ขนาดรับประทาน 12.5 มิลลิกรัม/ครั้ง มักจะใช้ได้ผลดีกับผู้ใหญ่
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับและโรคไตขั้นรุนแรง แพทย์มักจะเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 6.25 มิลลิกรัม, และไม่ควรรับประทานยาเกิน 12.5 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ ควรเริ่มรับประทานยานี้ในขนาดต่ำ หรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอัลมอทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอัลมอทริปแทนและอาหารเสริมดังกล่าว อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
อัลมอทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอัลมอทริปแทน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหดเกร็งตัวส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก มีความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน สูญเสียสมาธิ หนังตากระตุก นอนไม่หลับ การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปากคอแห้ง เป็นตะคริวที่ท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย กรดไหลย้อน มีน้ำลายมาก ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดกระดูก ข้ออักเสบ ปวดข้อ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คอหอยอักเสบ/คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ในสตรีอาจมีภาวะปวดประจำเดือน
- ผลต่อจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล ฝันแปลกๆ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย : เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น ระดับค่าในเลือดของการอักเสบของอวัยวะต่างๆ(Creatinine phosphokinase ย่อว่า ซีพีเค/CPK) เพิ่มมากขึ้น
- ผลต่อการทำงานของตา: เช่น มีอาการ ตาแห้ง ปวดตา ระคายเคืองดวงตา ตาพร่า การมองเห็นภาพไม่ปกติ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้มีอาการ เจ็บเต้านม
มีข้อควรระวังการใช้อัลมอทริปแทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลมอทริปแทน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที ถ้าพบอาการถอนยา/ลงแดง
- ห้ามรับประทานยาแก้ปวดอื่นใดร่วมด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้รักษา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่ากลุ่มอื่น
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอัลมอทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อัลมอทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอัลมอทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอัลมอทริปแทน ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs หรือกลุ่ม SNRIs ด้วยจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ’กลุ่มอาการเซโรโทนิน’
- ห้ามใช้ยาอัลมอทริปแทน ร่วมกับยากลุ่มต้านเชื้อราประเภทเอโซล(Azole antifungals), ยา Ergot alkaloids, ยาต้านเอชไอวี กลุ่ม ยาต้านไวรัสพีไอ/ Protease inhibitors, ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolide antibiotics, และยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOIs ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่จะเพิ่มอาการข้างเคียงของยาอัลมอทริปแทนได้มากขึ้น
ควรเก็บรักษาอัลมอทริปแทนอย่างไร?
ควรเก็บยาอัลมอทริปแทน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อัลมอทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอัลมอทริปแทน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Axert (แอ็กเซอร์ท) | Pfizer |
Almogran (อัลมอแกรน) | Almirall |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Triptan [2022,Dec17]
- https://www.drugs.com/mtm/almotriptan.html [2022,Dec17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Almotriptan [2022,Dec17]
- https://www.drugs.com/imprints/a-1315.html [2022,Dec17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/almotriptan?mtype=generic [2022,Dec17]
- https://www.pharmacy2u.co.uk/almogran.html [2022,Dec17]