อะเทโซลิซูแมบ (Atezolizumab)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- อะเทโซลิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับอะเทโซลิซูแมบ?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะเทโซลิซูแมบอย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะเทโซลิซูแมบอย่างไร?
- อะเทโซลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
- มะเร็งปอด (Lung cancer)
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
- สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Symbol of cancer)
บทนำ
ยาอะเทโซลิซูแมบ(Atezolizumab) เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนตีบอดี (Monoclonal antibodies) ทางคลินิกได้ใช้ยานี้รักษาโรคมะเร็งชนิดเป็นก้อน(Solid tumor) โดยยาอะเทโซลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy) ประวัติการศึกษาทดลองใช้อะเทโซลิซูแมบที่ผ่านมาเป็นดังนี้
- ปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) ยานี้ได้ถูกยอมรับในประสิทธิภาพการรักษา มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ(Bladder cancer)
- ปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) กลับพบความล้มเหลวบางประการในการใช้ยานี้เพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะในเฟสที่ 3
- ปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ถูกนำมาใช้ร่วมกับ ยาAvastin และการทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปอด (Lung cancer)
- ปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) ถูกประกาศให้ใช้ ยาอะเทโซลิซูแมบเพื่อรักษามะเร็งเต้านม ชนิด Triple-negative breast cancer
ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยาอะเทโซลิซูแมบแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบหาโปรตีนพี ดี-แอลวัน (PD-L1/Programmed cell death ligand1) เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งจริงหรือไม่
สำหรับการออกฤทธิ์ของยาอะเทโซลิซูแมบ จะเป็นไปในลักษณะกระตุ้นภูมิต้านทานมะเร็งของร่างกายให้กลับมาแข็งแรงและทำหน้าที่เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ก็ส่งผลให้ภูมิต้านทานมะเร็งต่อต้านเซลล์ปกติของร่างกายได้เช่นเดียวกัน
สำหรับผลข้างเคียงที่อาจพบเห็นได้ของยาอะเทโซลิซูแมบ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก ไอ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก ตัวบวม คลื่นไส้-อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ท้องเสีย ปวดท้อง ตาพร่ามองเห็นภาพไม่ชัด อารมณ์แปรปรวน กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการมึนงง ตัวเหลืองตาเหลือง
จากผลข้างเคียงดังกล่าวของยาอะเทโซลิซูแมบ ส่งผลให้แพทย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคหรือภาวะดังต่อไปนี้ อาทิ
- อยู่ในสภาวะร่างกายติดเชื้อ
- ป่วยด้วยโรคลูปัส (Lupus), ลำไส้ใหญ่เป็นแผล (Ulcerative colitis) หรือ เป็นโรคโครห์น (Crohn’s disease)
- มีปัญหาสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ
- ป่วยเป็น โรคตับ หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอะเทโซลิซูแมบ เป็นแบบฉีด โดยหยดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาการให้ยาต่อครั้งประมาณ 60 นาที ผู้ที่ได้รับยานี้จะต้องเว้นช่วงพักไป 2–3 สัปดาห์แล้วกลับมารับการให้ยาใหม่ แต่ละรอบของการให้ยาของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา แพทย์จะหยุดการใช้ยานี้ด้วย 2 เหตุผล คือ
- อาการผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้นและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถหยุดการใช้ยานี้ได้แล้ว
- เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงและก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย
ประเทศไทยจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาอะเทโซลิซูแมบภายใต้ชื่อการค้า ‘Tecentriq’ และมีการใช้แต่ในสถานพยาบาลที่เปิดทำการรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น
อะเทโซลิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะเทโซลิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะแพร่กระจาย(Metastatic urothelial carcinoma)
- รักษามะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย (Metastatic non-squamous non-small cell lung cancer/NSCLC)
อะเทโซลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
T-cell เป็นชนิดหนึ่งของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ โดยมันจะจับกินสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้ามาในร่างกาย บนผิวของT-cell มีตัวรับ(Receptor)ที่เป็นโปรตีนซึ่งเรียกกันว่า PD-1 และบนผิวเซลล์มะเร็งจะมีโปรตีนอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า PD-L1 กรณีที่ PD-1 ของT-cell เข้าจับกับ PD-L1 ของเซลล์มะเร็ง จะส่งผลให้T-cell หมดความสามารถในการจับกินเซลล์มะเร็ง ตัวยาอะเทโซลิซูแมบมีกลไกต่อการเข้าเข้าจับกับ PD-L1 ของเซลล์มะเร็ง จึงส่งผลปิดกั้นการเข้าจับ PD-L1 ของเซลล์มะเร็งกับ PD-1 ของT-cell และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้T-cell กลับมาทำงานเป็นปกติในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามสรรพคุณ
อะเทโซลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาอะเทโซลิซูแมบ:
- ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Atezolizumab 1200 มิลลิกรัม/20มิลลิลิตร
อะเทโซลิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาอะเทโซลิซูแมบกับผู้ป่วยมะเร็งจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยานี้ เช่น ชนิดของมะเร็ง, น้ำหนักของร่างกาย,รวมถึงอายุ, และประวัติการเจ็บป่วย, เป็นต้น สำหรับมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย (NSCLC with / no EGFR or ALK genomic tumor aberrations) แพทย์อาจใช้ยา Bevacizumab, Paclitaxel, และ Carboplatin, มาช่วยสนับสนุนการรักษา
อย่างไรก็ตามระหว่างที่ได้รับยาอะเทโซลิซูแมบแล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น
- มีไข้สูงคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
- มีความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสายตา
- อึดอัด/หายใจไม่ออก ไอ มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หัวใจเต้นผิดปกติ
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- บวมตรงข้อเท้า
- มึนงง อารมณ์แปรปรวน กระหายน้ำมาก
- ผมร่วง
- ท้องผูก
- น้ำหนักตัวลดลง
- ปวดท้องรุนแรง
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว และมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับอะเทโซลิซูแมบ?
การดูแลตนเองขณะได้รับยาอะเทโซลิซูแมบ ที่สำคัญ เช่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
- ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การใช้ยาชนิดต่างๆขณะได้รับอะเทโซลิซูแมบ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของ แพทย์เท่านั้น
- กรณีพบอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเมื่อได้รับยานี้
- ปฏิบัติตัว อาทิ พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน พร้อมกับมารับการให้ยานี้ตรงตามที่แพทย์นัดหมาย
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาอะเทโซลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคระบบทางเดินหายใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเทโซลิซูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาอะเทโซลิซูแมบตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ และทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว
อะเทโซลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะเทโซลิซูแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ มีอาการปอดอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ลำไส้อุดตัน
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ สูงหรือไม่ก็ต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคันตามร่างกาย เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น/ ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด โลหิตจาง/ โรค ซีด
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร โซเดียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง อัลบูมินในเลือดต่ำ
- ผลต่อไต: เช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
*อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้อะเทโซลิซูแมบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อะเทโซลิซูแมบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์
- การใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้ คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หลังจากได้รับยาชนิดนี้หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่าเกิดอาการแพ้ยา และต้องรีบให้แพทย์ช่วยเหลือโดยเร็ว/รีบมาโรงพยาบาลทันที
- มาพบแพทย์เพื่อ ตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อน และรับการฉีดยาตามที่ แพทย์นัดทุกครั้ง
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะเทโซลิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะเทโซลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะเทโซลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ระหว่างที่ได้รับยาอะเทโซลิซูแมบ ด้วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนบีซีจี
- ห้ามใช้ยาอะเทโซลิซูแมบร่วมกับ ยา Certolizumab ด้วยอาจเกิดภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงตามม
- ห้ามใช้ยาอะเทโซลิซูแมบ ร่วมกับยา Thalidomide และ Dexamethasone ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ห้ามใช้ยาอะเทโซลิซูแมบร่วมกับ ยา Tofacitinib ด้วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมา
ควรเก็บรักษาอะเทโซลิซูแมบอย่างไร?
ควรเก็บรักษาอะเทโซลิซูแมบ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ระหว่างการเก็บรักษาห้ามนำยามาเขย่าเล่น
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และห้ามทิ้งลงพื้นดิน
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
อะเทโซลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะเทโซลิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tecentriq (เทเซนทริก) | Roche |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/761034s010lbl.pdf [2019,Aug3]
- https://www.drugs.com/dosage/tecentriq.html [2019,Aug3]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tecentriq/?type=brief[2019,Aug3]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tecentriq/indications [2019,Aug3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atezolizumab [2019,Aug3]
- https://www.semanticscholar.org/paper/Regulation-of-PD-L1%3A-Emerging-Routes-for-Targeting-Wang-Wang/8f0617ca356f632d81d284d76b86fe7c5af68ca7/figure/2 [2019,Aug3]