อะมิโนควิโนลีน (Aminoquinoline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนควิโนลีนอย่างไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะมิโนควิโนลีนอย่างไร?
- อะมิโนควิโนลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคฝีตับ (Liver abscess)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะมิโนควิโนลีน (Aminoquinoline) คือ ยาต้านมาลาเรีย/โรคไข้จับสั่น จัดเป็นอนุพันธุ์ของสารประกอบอินทรีย์ ชื่อ ‘ควิโนลีน (Quinoline),’ สามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวด ดังนี้
- ก. 4-Aminoquinoline: ใช้ต่อต้านเชื้อมาลาเรีย ตัวอย่างของยาในหมวดนี้ เช่นยาAmodiaquine, Chloroquine และ Hydroxychloroquine นอกจากจะใช้บำบัดการติดเชื้อมาลาเรียแล้ว ทางคลินิกยังใช้ยาบางตัวของ 4-Aminoquinoline อย่างเช่น Chloroquine มาบำบัดอาการโรคข้อรูมาตอยด์, การติดเชื้ออะมีบาที่ตับ (Hepatic amoebiasis อ่านเพิ่มเติม ในเว็บ com บทความเรื่อง ฝีตับ), และใช้รักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอีอีกด้วย
- ข. 8-Aminoquinoline: เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างเคมีแตกต่างจาก 4-Aminoquinoline เล็กน้อย ประกอบไปด้วยรายการยาดังต่อไปนี้ เช่นยา Primaquine, Tafenoquine, Pamaquine ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดและป้องกันอาการโรคมาลาเรีย แต่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยกลุ่มภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดีด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก(Hemolysis) ปัจจุบันตัวยา Pamaquine ไม่ค่อยมีการใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ในขณะที่ตัวยา Primaquine มีใช้แพร่หลายทั่วโลก ส่วน Tafenoquine ยังอยู่ในช่วงการศึกษาทดลองทางคลินิกและยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการ
รูปแบบของยาอะมิโนควิโนลีนทั้ง 2 กลุ่มจะเป็นยาชนิดรับประทานทั้งที่เป็นยาเดี่ยวและผสมร่วมยาอื่น
สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาอะมิโนควิโนลีนแต่ละตัวจะมีความเหมือนและแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีที่เป็นองค์ประกอบหลัก องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาบางรายการของยากลุ่มอะมิโนควิโนลีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองไว้ให้บริการและรองรับต่อการเจ็บป่วยของประชาชน เช่น Amodiaquine, Chloroquine และ Primaquine เป็นต้น นอกจากนี้ยาบางตัว เช่น Amodiaquine จัดเป็นยาสำคัญและโดดเด่นที่ประเทศแอฟริกานำมาใช้รักษามาลาเรีย
สำหรับประเทศไทย จะพบเห็นการใช้ยาอะมิโนควิโนลีนบางรายการ เช่น Chloroquine, Hydroxychloroquine และ Primaquine กลุ่มยาเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย ขนาดการใช้ของยานี้แต่ละรายการต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์และมาตรฐานของยาแต่ละตัว ผู้บริโภคอาจซื้อหายาต้านมาลาเรียเหล่านี้ได้ตามร้านขายยาขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ยา ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองการตรวจร่างกายจากแพทย์และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามรายละเอียดและข้อมูลการใช้ยาอะมิโนควิโน ลีนจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
อะมิโนควิโนลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะมิโนควิโนลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น (ยาต้านมาลาเรีย)
- ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย
- ใช้บำบัดอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโปรโทซัวหรือที่เรียกว่า Pneumocystis pneumonia ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย
- รักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- รักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ (Hepatic amoebiasis อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคฝีตับ)
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
อะมิโนควิโนลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะมิโนควิโนลีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรีย และทำให้ส่วนประกอบภายในเซลล์ของเชื้อมาลาเรียที่มีชื่อว่า ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) รวมถึงผนังของเซลล์แตกออกจนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ จากกลไกเหล่านี้ทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
อะมิโนควิโนลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะมิโนควิโนลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมกับยาวิตามิน
- ยาฉีด
อะมิโนควิโนลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การใช้ยาและขนาดยาในกลุ่มอะมิโนควิโนลีนจะแตกกันในแต่ละผู้ป่วย จึงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้ เพราะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาซึ่งจะอาศัยข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยมาประกอบกัน เช่น
- อาการของผู้ป่วยว่ามีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรียชนิดใด
- มีภาวะดื้อยาของเชื้อมาลาเรียด้วยหรือไม่
- อายุและสถานะของสุขภาพของผู้ป่วย
- มีประวัติแพ้ยาชนิดใดหรือไม่
- ปัจจุบันมีการใช้ยาอะไรบ้างเพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะมิโนควิโนลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโนควิโนลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะมิโนควิโนลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะมิโนควิโนลีนตรงเวลา
อะมิโนควิโนลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะมิโนควิโนลีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) : เช่น
- ปวดหลัง ปวดขา และ/หรือ ปวดท้อง
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ
- มีไข้
- เบื่ออาหาร
- ผิวซีด
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการหายใจลำบาก
- วิงเวียน
- เจ็บคอ/ คออักเสบ
- ผมร่วง
- ผิวหนังไวกับแสงแดด
- การได้ยินผิดปกติ
- ลมชัก
- เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ
- รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ผื่นคัน ลมพิษ
- มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- หายใจไม่ออก และอาจมีภาวะโคม่าตามมา
มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนควิโนลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนควิโนลีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะมิโนควิโนลีน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- กรณีที่ผู้ป่วยมียาอื่นรับประทานอยู่ก่อน จะต้องแจ้งให้แพทย์/เภสัชกรทราบทุกครั้ง
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
- *หากพบอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโนควิโนลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะมิโนควิโนลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะมิโนควิโนลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามใช้ยา Primaquine ร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำจนทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆตามมาได้
- การใช้ยา Hydroxychloroquine ร่วมกับยา Kaolin หรือ Magnesium trisilicate อาจทำให้การดูดซึมของยา Hydroxychloroquine น้อยลงไปจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา จึงควรเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆ ไป
- การใช้ยา Chloroquine ร่วมกับยา Cimetidine จะทำให้ระดับยา Chloroquine อยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้นจนอาจมีผลข้างเคียงติดตามมา ควรเลี่ยงไม่ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอะมิโนควิโนลีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะมิโนควิโนลีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะมิโนควิโนลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะมิโนควิโนลีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Chewoquine (ชิวโอควิน) | Chew Brothers |
Chewoquine SC (ชิวโอควิน เอสซี) | Chew Brothers |
Chewoquine-G (ชิวโอควิน-จี) | Chew Brothers |
Chewoquine-Y (ชิวโอควิน-วาย) | Chew Brothers |
Chloroquine Acdhon (คลอโรควิน แอคฮอน) | Acdhon |
Chloroquine Burapha (คลอโรควิน บูรพา) | Burapha |
Chloroquine GPO (คลอโรควิน จีพีโอ) | GPO |
Chloroquine Phosphate Asian Pharm (คลอโรควิน ฟอสเฟต เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Diroquine (ไดโรควิน) | Atlantic Lab |
Genocin (เจโนซิน) | General Drugs House |
Malacin (มาลาซิน) | ANB |
Nitaquin (ไนตาควิน) | Utopian |
P-Roquine (พี-โรควิน) | P P Lab |
Sinmoquin (ซินโมควิน) | SSP Laboratories |
Primaquine GPO (ไพรมาควิน จีพีโอ) | GPO |
HCQS (เฮชซีคิวเอส) | IPCA |
Hydroquin (ไฮโดรควิน) | Sun Pharma |
Plaquenil (พลาควินิล) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aminoquinoline [2022,Sept10]
- https://go.drugbank.com/categories/DBCAT000997 [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hydroxychloroquine [2022,Sept10]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=4900355&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/hydroxychloroquine?mtype=generic [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hydroxychloroquine [2022,Sept10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chloroquine [2022,Sept10]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=4500232&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/chloroquine?mtype=generic [2022,Sept10]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLOROQUINE [2022,Sept10]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8278823/ [2022,Sept10]
- https://www.drugs.com/hydroxychloroquine.html [2022,Sept10]