ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาต้านมาลาเรีย

ยาต้านมาลาเรียหมายความว่าอย่างไร?

ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications หรือ Antimalarial drugs) หรือยามาลาเรีย(Malarial medication) หมายถึง ยาที่ใช้รักษา หรือใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย/โรคมาลาเรีย ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวเข้าสู้ร่างกาย หลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อโปรโตซัวนี้กัด

ยาต้านมาลาเรียแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาต้านมาลาเรีย แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้

1. ยากลุ่มควิโนลีน (Quinolines): เช่น คลอโรควิน (Chloroquine), ไพรมาควิน (Primaquine), เมโฟลควิน (Mefloquine), ควินิน (Quinine), ควินิดีน (Quinidine)

2. ยาต้านโฟเลต (Antifolate drugs): เช่น ยาสูตรผสมระหว่างซัลฟาดอกซินและไพริเมทามีน (Sulfadoxine + Pyrimethamine), โปรกัวนิล (Proguanil)

3. ยายับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน (Protein synthesis inhibitors): เช่น ดอกซิไซคลิน (Doxycycline), เตตราไซคลิน (Tetracycline), คลินดาไมซิน (Clindamycin)

4. ยากลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของอาร์เทมิซินิน (Artemisinin derivatives): เช่น อาร์เทมิซินิน (Artemisinin), อาร์เทมิเทอร์ (Artemether), อาร์ทิซูเนต (Artesunate), ไดไฮโดรอาร์เทมิซินิน (Dihydroartemisinin)

5. ยาต้านมาลาเรียชนิดอื่นๆ (Other antimalarial medications): เช่น ยาสูตรผสมระหว่างอะโทวาโควนและโปรกัวนิล (Atovaquone + Proguanil), ฮาโลแฟนทรีน (Halofantrine), ลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine)

ยาต้านมาลาเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านมาลาเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Suppository)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาแกรนูล (Granule)
  • ยาน้ำใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาผง ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาต้านมาลาเรียอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาต้านมาลาเรีย เช่น

1. ใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียที่เกิดจากการติดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม (P. falciparum), ไวแวกซ์ (P. vivax), โอวาเล่ (P. ovale), มาลาเรอี (P. malariae) และโนวไซ (P. knowlesi)

อนึ่ง P ย่อมาจาก Plasmodium ซึ่งเป็นชื่อสกุล(Genus)ของเชื้อมาลาเรีย

2. ใช้ป้องกันการติดโรคไข้มาลาเรีย เมื่อต้องเดินทางเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้

มีข้อห้ามใช้ยาต้านมาลาเรียอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาต้านมาลาเรีย เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ และห้ามใช้ยา Sulfadoxine ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Sulphonamides เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาชนิดรุนแรง

2. ห้ามใช้ยา Quinine ในผู้ที่มีประวัติภาวะเม็ดเลือดแดงแตก หูอื้อ ประสาทตาอักเสบ

3. ห้ามใช้ Quinine ร่วมกับยา Mefloquine เพราะเพิ่มการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อหัวใจ และต่อระบบประสาท

4. ห้ามใช้ยา Mefloquine ในผู้ที่มีประวัติเป็น โรคชัก/โรคลมชัก หรือโรคทางจิตเวช เพราะอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง

5. ห้ามใช้ยา Chloroquine ร่วมกับยา Amiodarone เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

6. ยา Halofantrine และยา Lumefantrine อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า หรือเป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง

7. ห้ามใช้ยา Atovaquone + Proguanil ในผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านมาลาเรียอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านมาลาเรีย เช่น

1. ไม่ควรรับประทานยาป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เนื่องจากในปัจจุบันเชื้อดื้อยาหลายชนิด ทำให้การป้องกันไม่ได้ผล และยาจะบดบังอาการของโรคหากผู้ป่วยติดเชื้อจริง หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดโดยใช้โทนสีอ่อน ทายากันยุง และนอนกางมุ้งเป็นต้น

2. ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียแล้วมีไข้ขึ้น อาจมีโอกาสติดเชื้อได้ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากเชื้อมาลาเรียมีหลายชนิดซึ่งเชื้อแต่ละชนิดต้องใช้ยาในการรักษาต่างกัน ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยายาลทันที รวมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางให้ แพทย์ พยาบาล ทราบ

3. ระวังการใช้ยา Chloroquine ร่วมกับยา Mefloquine เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการชัก

4. ระวังการใช้ยา Quinine, Mefloquine, ในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง ดังนั้นควรตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG)ระหว่างที่ได้รับการรักษาตามแพทย์สั่ง

5. ไม่ควรใช้ยา Quinine, Chloroquine, Mefloquine ร่วมกัน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาดังกล่าวลดลง

6. ยาQuinine เป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme inhibitors) จึงมีผลลดการกำจัดยาชนิดอื่นๆออกจากร่างกาย เช่นยา Warfarin, Digoxin จึงจะทำให้ระดับของยาอื่นๆเหล่านี้ในเลือดสูงเกินไป จนอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอื่นๆเหล่านั้นได้ ดังนั้น ควรตรวจติดตามระดับยาต่างๆในเลือด และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นตามแพทย์แนะนำ

7. ระวังการใช้ยา Primaquine ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD (G6PD Deficiency) หรือผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เพราะอาจทำให้เกิดภาวะซีดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) ดังนั้นผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ แพทย์จะตรวจวัดการทำงานของเอนไซม์ G6PD ก่อนใช้ยา

8. ระวังการใช้ยา Atovaquone ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ทำให้ มึนงง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์มึนงงจากยานี้

การใช้ยาต้านมาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านมาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. หญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง อัตราการตายสูง อาจทำให้ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress) คลอดก่อนกำหนด หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์มารดา

2. ยาต้านมาลาเรียที่สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรรภ์ทุกไตรมาส ได้แก่ Chloroquine, Mefloquine, Atovaquone + Proguanil, Lumefantrine, และ Sulfadoxine + Pyrimethamine แต่ควรได้รับ กรดโฟลิก เสริมขณะใช้ยานี้

3. ยากลุ่ม Artemisinin derivatives สามารถใช้กับหญิงมีครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 (อายุครรภ์ 4-9 เดือน) เท่านั้น

4. ยา Quinine และ Halofantrine ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล หรือเมื่อมีอาการติดเชื้อมาลาเรียอย่างรุนแรง เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์

5. ห้ามใช้ยา Primaquine, Doxycycline, Tetracycline, ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาต้านมาลาเรียในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านมาลาเรียในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาหลายชนิด ดังนั้นควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า ใช้ยาใดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) จากยาต้านมาลาเรีย เช่นยา Quinine

2. หากผู้สูงอายุมีไข้ขึ้นเมื่อเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพราะหากผู้สูงอายุติดเชื้อนี้จะมีอาการรุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และอัตราการตายสูง

การใช้ยาต้านมาลาเรียในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านมาลาเรียในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. การใช้ยาต้านมาลาเรียในเด็กนั้นใช้ยาชนิดเดียวกันกับผู้ใหญ่ แต่ต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสมจากแพทย์ โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละราย และมีข้อยกเว้นการใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้ยา Tetracycline ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากยานี้มีผลลดการดูดซึมแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหาร ยานี้จึงรบกวนการเจริญเติบโตของเด็ก และทำให้ฟันของเด็กเปลี่ยนสีอย่างถาวรหากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่ควรใช้ยา Atovaquone + Proguanil ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 5 กิโลกรัม เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากยานี้มากเพียงพอในเด็กวัยดังกล่าว

2. ยา Chloroquine, Mefloquine และ Atovaquone + Proguanil เป็นยาที่มีรสขมมาก แต่ยาเหล่านี้สามารถบดเป็นผงแล้วผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานได้ เพื่อให้เด็กให้ความร่วมมือในการรับประทานยามากขึ้น

ยาต้านมาลาเรียมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอย่างไร?

ยาต้านมาลาเรียมีอาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

1. Chloroquine ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะซีดเพราะเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้การได้ยินลดลง/หูอื้อ เกิดความผิดปกติของจอตา ตาพร่า ปวดศีรษะ สับสน ชัก ผิวหนังแพ้แสงแดด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ

2. Primaquine ทำให้เกิดภาวะซีด เพราะเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะตัวเขียวคล้ำเพราะร่างกายขาดออกซิเจน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ

3. Mefloquine ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ชัก เวียนศีรษะ ภาวะโรคจิตเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน

4. Quinine, Quinidine ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cinchonism (หูอื้อ การได้ยินลดลง หน้าแดง เหงื่อออก) ระดับกลูโคส/น้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะซีดเพราะเม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะสีเข้ม/ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Black-water fever)

5. Sulfadoxine + Pyrimethamine ทำให้เกิดผื่นผิวหนังชนิดรุนแรงชนิด Stevens-Johnson syndrome (SJS) ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ

6. Proguanil ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย แผลในปาก/แผลร้อนใน ผมร่วง มีไข้ อ่อนแรง ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักตัวลดลง ปวดข้อ

7. Doxycycline, Tetracycline ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกระคายเคืองหลอดอาหาร ผื่นแพ้แสงแดด ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous colitis)

8. Clindamycin ทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous colitis)

9. ยากลุ่ม Artemisinin derivatives เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย ผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง มึนงง ภาวะเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดงต่ำ

10. Atovaquone ทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย นอนไม่หลับ มึนงง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไอ เหงื่อออกมาก อาหารไม่ย่อย ความอยากอาหารลดลง ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

11. Halofantrine, Lumefantrine ทำให้ปวดท้อง เบื่อหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ปวดศีรษะ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาต้านมาลาเรีย) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคไข้มาลาเรีย ประเทศไทย พ.ศ. 2558 http://www.thaivbd.org/n/docs/view/5 [2017,March11]
  2. พีรพรรณ ตันอารีย์. มาลาเรีย : โรคที่คนไทยควรทำความรูจักให้ดี. [ออนไลน์]. 2557. http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=51 [2017,March11]
  3. Lalloo, D.G., and others. UK malaria treatment guidelines 2016. Journal of Infection 72 (2016) : 635-649.
  4. Mehta, P.N., and others. Pediatric Malaria Treatment & Management. http://emedicine.medscape.com/article/998942-treatment [2017,March11]
  5. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.