อะบีดิเทอรอล (Abediterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะบีดิเทอรอล(Abediterol) เป็นยาในกลุ่มเบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta 2-adrenergic agonist) และยังมีฤทธิ์เป็น มัสคารินิก แอนตาโกนิสต์ (Muscarinic antagonistหรือ Antimuscarinic drugs) ร่วมด้วย ทางคลินิกใช้ยาอะบีดิเทอรอลเป็นยาบำบัดอาการโรค หืด(Asthma) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD)

ตัวยาอะบีดิเทอรอล มีการออกฤทธิ์ได้ยาวนาน(Ultra-long-acting beta2 agonists) บริษัทยาจากประเทศสเปนได้พัฒนารูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาสูดพ่นเข้าทางเดินหายใจ (Inhalation) ร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด ประมาณ 24.3 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยใช้ยาเพียงครั้งเดียวต่อวันก็สามารถควบคุมอาการหอบหืดหรือ COPD ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยาอะบีดิเทอรอลยังไม่ได้ผลิตจำหน่ายออกมาในตลาดยารักษาโรค ด้วยยานี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิก/การศึกษาทางการแพทย์ ระยะที่ 2 (Phase II) ซึ่งต้องศึกษาด้านพิษวิทยา ประสิทธิผลการรักษา และต้องใช้ผู้ป่วยที่ร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อรับการรักษาโรคด้วยยาชนิดนี้ 200–300 คน ถ้านับเวลาจากปัจจุบันอาจต้องใช้เวลาอีกแรมปี เราจึงจะได้ข้อสรุปว่า ยาอะบีดิเทอรอลสามารถนำมาใช้ทางคลินิกได้อย่างปลอดภัย

อะบีดิเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะบีดิเทอรอล

ยาอะบีดิเทอรอลมีฤทธิ์/มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ขยายหลอดลม จึงมีการตั้งวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษา

  • โรคหืด/ โรคหอบหืด
  • และโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง

อะบีดิเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะบีดิเทอรอลเป็นยาประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม โดยทำให้เกิดการคลายตัวของหลอดลม ส่งผลให้หลอดลมขยายกว้างขึ้น อากาศไหลเวียนเข้าปอดได้สะดวก จนเป็นผลให้อาการโรคทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ

อะบีดิเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะบีดิเทอรอล ถูกออกแบบเป็นยาสูดพ่นเข้าทางเดินหายใจโดยตรง ซึ่งยังรอผลการศึกษาวิจัยสรุปขนาดความแรงที่เหมาะสมของยา เพื่อจะนำมาพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ในลำดับต่อไป

อะบีดิเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในงานศึกษาวิจัยยาใหม่ระยะที่ 2 ได้ทดลองให้ผู้ป่วยสูดพ่นยาอะบีดิเทอรอลในขนาดความแรง 0.625 , 2.5 , 5 และ 10 ไมโครกรัม วันละ1ครั้ง และพบแนวโน้มว่าขนาดการรักษาที่ความแรง 2.5 , 5 และ 10 ไมโครกรัม สามารถขยายหลอดลมได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับ ยาหลอก (Placebo) การศึกษาทางคลินิกยังต้องพัฒนาต่อโดยนำเอายา Corticosteroids มาใช้ร่วมกับยาอะบีดิเทอรอล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น

อะบีดิเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยทั่วไปกลุ่มยา Beta 2-adrenergic aonist สามารถกระตุ้นให้เกิด

  • อาการหัวใจเต้นเร็ว
  • ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
  • รวมถึงก่อให้เกิดอาการของระบบประสาท เช่น ตัวสั่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ตลอดจนกระทั่งทำให้เหงื่อออกมาก

ซึ่งสำหรับยาอะบีดิเทอรอลมีการทดลองใช้ยาในขนาดต่ำ (2.5, 5 และ 10 ไมโครกรัม) เมื่อเปรียบเทียบกับยา Indacaterol ซึ่งต้องใช้ขนาดความแรงที่ 150 ไมโครกรัม/ครั้ง/วัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ยาอะบีดิเทอรอลอาจก่อให้เกิด อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์จากยา ได้น้อยกว่า แต่ก็ยังต้องรอผลสรุปทางคลินิกในระยะที่ 3 และ 4 จึงจะยืนยันได้ว่ายาชนิดนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง

มีข้อควรระวังการใช้อะบีดิเทอรอลอย่างไร?

ปกติทั่วไป ยาใหม่จะมีข้อห้ามใช้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และรอสรุปข้อควรระวังด้านอื่นเมื่อยานี้เข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกจนเสร็จสิ้น

อะบีดิเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การศึกษาทางคลินิกพบว่า การใช้ยาอะบีดิเทอรอลกับยาบางตัวส่งผลบางประการกับร่างกายผู้ป่วยดังนี้

  • การใช้ยาอะบีดิเทอรอลร่วมกับยาAldosterone จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำลงอย่างรุนแรง
  • ประสิทธิผลในการรักษาของยาอะบีดิเทอรอลจะลดลงเมื่อนำมาใช้ร่วมกับยาAcebutolol, Acepromazine, และ Alfuzosin
  • การใช้ยาอะบีดิเทอรอลร่วมกับยา Amineptine, Amitriptyline, และ Amoxapine จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง
  • การใช้ยาอะบีดิเทอรอลร่วมกับยา Arbutamine, Arformoterol อาจส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายได้รับอาการข้างเคียงต่างๆ จากการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันได้อย่างรุนแรง

สรุป

สิทธิบัตรของยาตัวใหม่ยาวนานถึง 20 ปี จากปัจจุบันหากยาอะบีดิเทอรอลสามารถนำมาใช้ในทางคลินิกได้จริง เราจะมีทางเลือกของยาที่ใช้รักษา โรคหืด และ โรค COPD เพิ่มขึ้นอีก 1 รายการ แต่การนำเข้ามาใช้ในประเทศยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย เช่น การขึ้นทะเบียนตำรับยา ช่องทางการจำหน่าย ซึ่งในระยะต้นๆเราจะสามารถพบเห็นการใช้ยา อะบีดิเทอรอลในสถานพยาบาลเท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Abediterol [2018,Dec1]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist [2018,Dec1]
  3. http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/mlsi/km/GCP-ARCHAWIN-KM_MLSI.pdf [2018,Dec1]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4955259/ [2018,Dec1]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB12100 [2018,Dec1]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28971615 [2018,Dec1]