ออกซิโทรเปียม (Oxitropium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ออกซิโทรเปียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซิโทรเปียมอย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซิโทรเปียมอย่างไร?
- ออกซิโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- เด็กโรคหืด (Childhood asthma)
- ยาสูดพ่นทางปาก
บทนำ
ยาออกซิโทรเปียม(Oxitropium หรือ Oxitropium Bromide) เป็นยาในกลุ่มมัสคารินิก แอนตาโกนิสต์ (Muscarinic antagonists หรือ Antimuscarinic drugs) มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดลม/เป็นยาขยายหลอดลม ทางคลินิกจึงนำมาใช้รักษา โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) ลักษณะเภสัชภัณฑ์เป็นยาสูดพ่นทางปาก
ยาออกซิโทรเปียม เป็นยาที่มีการออกฤทธิ์สั้น ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครั้งละ 200 ไมโครกรัม วันละ 2–3 ครั้ง เพื่อควบคุมอาการโรค หลังจากได้รับยาออกซิโทรเปียมประมาณ 60–90 นาที ตัวยาจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ควบคุมให้หลอดลมผู้ป่วยคลายตัวและลดอาการหดเกร็ง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจึงจะหายใจได้สะดวกขึ้น ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ยาวนาน 5–8 ชั่วโมง ยาชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบทางเดินหายใจได้บ้าง
สำหรับข้อจำกัดในการใช้ยาออกซิโทรเปียม อาจอยู่ที่ช่วงเวลาของการออกฤทธิ์ที่ต้องใช้เวลานานกว่ายาทางเลือกอื่น ประกอบกับต้องใช้ยาวันละ 2–3 ครั้ง ซึ่งอาจไม่สะดวกกับผู้ป่วยเท่าใดนัก
การเลือกใช้ยาบำบัดอาการหอบหืดจากโรคใดๆก็ตาม ควรต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ และต้องมีการใช้ยาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการป่วยอีกด้วย
อนึ่ง ในตลาดยาแผนปัจจุบัน ผู้บริโภ/ผู้ป่วยสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาออกซิโทรเปียมภายใต้ชื่อการค้าว่า “Oxivent” และ “Tersigan”
ออกซิโทรเปียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร
ยาออกซิโทรเปียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการหอบหืด จากโรคหืด และจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) โดยใช้เป็นยาควบคุมและป้องกันมิให้อาการหอบหืดกำเริบ
ออกซิโทรเปียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออกซิโทรเปียม มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาเข้าจับกับ ตัวรับ(Recetptor) ที่อยู่บริเวณผนังกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมที่มีชื่อเรียกว่า Muscarinic receptors ส่งผลทำให้หลอดลมคลายตัว จึงช่วยเปิดช่องทางให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้สะดวกขึ้น
ออกซิโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออกซิโทรเปียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาพ่นทางปาก ที่ประกอบด้วยตัวยา Oxitropium bromide ซึ่งมีขนาดความแรง 100 ไมโครกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง
ออกซิโทรเปียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาออกซิโทรเปียมมีขนาดการบริหารย/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: พ่นยาขนาด 200 ไมโครกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซิโทรเปียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซิโทรเปียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นยาออกซิโทรเปียม สามารถสูดพ่นเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพ่นยาเป็น 2 เท่า ให้พ่นยาขนาดปกติ
ออกซิโทรเปียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออกซิโทรเปียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ทำให้ปากแห้ง มีอาการไอ อาจระคายคอ เกิดเสียงแหบและมีอาการปัสสาวะบ่อย
มีข้อควรระวังการใช้ออกซิโทรเปียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซิโทรเปียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการพ่นยาหรือหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอนแข็ง สียาเปลี่ยนไป
- ยานี้ไม่สามารถบรรเทาอาการหดเกร็งของหลอดลมอย่างเฉียบพลัน และห้ามใช้เป็นยาช่วยชีวิต
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาเหล่านั้นกับยาออกซิโทรเปียม
- หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้นหรือทรุดหนักลง ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- เรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องตามคู่มือการใช้ยา หรือตามคำแนะนำจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาออกซิโทรเปียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ออกซิโทรเปียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยังไม่พบมีรายงานทางคลินิกว่า ยาออกซิโทรเปียมเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
แต่อย่างไรก็ ตามหากพบว่าการใช้ยาใดๆร่วมกับยาออกซิโทรเปียมแล้วเกิดความผิดปกติ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
ควรเก็บรักษาออกซิโทรเปียมอย่างไร?
ควรเก็บยาออกซิโทรเปียมในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น หลังการใช้ยาให้ปิดฝาครอบอุปกรณ์พ่นยาอย่างมิดชิด เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ออกซิโทรเปียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซิโทรเปียมมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Oxivent (ออกซิเวนท์) | Boehringer Ingelheim |
Tersigan (เทอร์ซิแกน) | Boehringer Ingelheim |
Tersigat (เทอร์ซิแกท) | Boehringer Ingelheim |
Ventilat (เวนทิแลต) | Boehringer Ingelheim |
Ventox (เวนทอกซ์) | Leiras |
บรรณานุกรม
- http://dtb.bmj.com/content/29/20/79.2[2017,July29]
- http://journal.publications.chestnet.org/pdfaccess.ashx?url=/data/journals/chest/21505/249.pdf[2017,July29]
- http://samples.jbpub.com/9781449672447/Chapter2.pdf[2017,July29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxitropium_bromide#cite_ref-1[2017,July29]
- https://www.google.co.th/search?q=OXITROPIUM+IMAGE&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwjY3a_Y_enUAhWGwI8KHZLGDzUQsAQIIA&biw=1920&bih=950#imgrc=9CXiJSKKLTUYvM[2017,July29]