หายใจเสียงหวีด (Wheezing)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- หายใจเสียงหวีดเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นสาเหตุ?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดหายใจเสียงหวีด
- หายใจเสียงหวีดมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยหายใจเสียงหวีดได้อย่างไร?
- รักษาอาการหายใจเสียงหวีดอย่างไร?
- หายใจเสียงหวีดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- หายใจเสียงหวีดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่
- ป้องกันอาการหายใจเสียงหวีดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)
- โรคหืด (Asthma)
- เด็กโรคหืด (Childhood asthma)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
บทนำ
หายใจเสียงหวีด หรือ เสียงหายใจหวีดหวือ (Wheezing หรือ Wheeze หรือ Whistling sound) คือ อาการที่เกิดเสียงผิดปกติขึ้นขณะหายใจ ทั้งนี้ในการหายใจปกติต้องเงียบ ไม่มีเสียงใดๆเกิดขึ้น ซึ่งเสียงหวีด คือเสียงแหลมสูง ทั่วไปมักเกิดในช่วง’หายใจออก’ ซึ่งเสียงหวีดในช่วงหายใจออกเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่า โรคยังไม่รุนแรง แต่ถ้าเสียงหวีดเกิดทั้งในช่วงหายใจเข้าและหายใจออก จะเป็นข้อบ่งชี้ว่า โรครุนแรงต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
อนึ่ง ชื่ออื่นๆของหายใจเสียงหวีด เช่น เสียงวีซ, เสียงหวีด, เสียงวี๊ด และชื่อเดิมในภาษาอังกฤษคือ ‘Sibilant rhonchi’
อาการหายใจหวีด เป็นอาการแสดงของโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย พบได้ ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและหญิงพบได้เท่ากัน ผู้ใหญ่จะพบอาการนี้ได้ประมาณ 4.3รายต่อผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 1,000ราย ส่วนในเด็ก อาการนี้จะพบบ่อยในเด็กเล็ก ประมาณ 29%ของเด็กเล็กที่เป็นโรคทางเดินหายใจ และอาการจะพบน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายงานพบได้ประมาณ 9%ในเด็กโตที่เป็นโรคทางเดินหายใจ
อนึ่ง เสียงหายใจผิดปกติอื่นๆที่ไม่ใช่เสียงหวีด ที่พบบ่อย ได้แก่
- รองไค หรือ รองคิ(Rhonchi) เป็นเสียงหายใจผิดปกติ ที่เกิดตลอดช่วงการหายใจทั้งหายใจเข้าและหายใจออก เสียงหายใจจะเป็นเสียงต่ำ หยาบ สั่น คล้ายเสียงนอนกรน เกิดจากมีเสมหะสะสมอุดตันในช่องทางเดินหายใจซึ่งเสียงนี้จะหายไป ถ้าไอเอาเสมหะออกมาได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีเสมหะมาก เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดบวม โรคถุงลมโป่งพอง
- สไตรดอร์(Stridor) เป็นเสียงหายใจผิดปกติที่เกิดได้ทั้งในช่วงหายใจเข้าและหายใจออก แต่ทั่วไป มักเกิดใน ‘ช่วงหายใจเข้า’ โดยเป็นเสียงที่เกิดจากการอุดตันที่ไม่สมบูรณ์ของช่องทางเดินหายใจส่วนบน/ตอนต้น คือ ช่องคอ กล่องเสียง ท่อลม โดยเสียงเกิดจากอากาศเดินทางไม่สะดวกจึงเกิดการหมุนวนในท่อลมที่มีขนาดใหญ่กว่าหลอดลมในปอด(เสียงหวีด) สไตรดอร์จะมีเสียงสูงและสากกว่าเสียงหวีด รวมถึงมักเกิดในช่วงหายใจเข้า สาเหตุมักเป็นจาก มีสิ่งหลุดอุดตันในช่องคอ เช่น เมล็ดถั่ว หรือเกิดจาก เนื้องอก หรือ มะเร็งกล่องเสียง
หายใจเสียงหวีดเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นสาเหตุ?
หายใจเสียงหวีด เกิดจากหลอดลมมีการตีบแคบ จึงส่งผลให้ลมหายใจติดขัด เดินทางไม่สะดวก เสียดสีกับผนังหลอดลมจนเกิดเป็นเสียงแหลมผิดปกติซึ่งคือ ‘เสียงหวีด’
โดยสาเหตุหลอดลมตีบแคบที่พบบ่อยได้แก่
- จากหลอดลมติดเชื้อต่างๆ เกิดหลอดลมบวมจึงตีบแคบ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนล่าง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย โรคหลอดลมอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบในเด็ก
- หลอดลมอักเสบหรือระคายเคืองจากสิ่ง/สารแปลกปลอมต่างๆ เช่น เชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้ กรดจากกระเพาะอาหาร(เช่น ในโรคกรดไหลย้อน) ควันพิษต่างๆโดยเฉพาะ ควันบุหรี่ เซลล์หลอดลมจึงสร้างน้ำเมือก/เสมหะขึ้นมาหล่อลื่นหรือเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ซึ่งเสมหะที่เหนียวข้น จะก่อให้หลอดลมอุดตัน/ตีบแคบ เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคกรดไหลย้อน โรคถุงลมโป่งพอง มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหลอดลมที่มักพบในเด็กเล็ก เช่น เมล็ดถั่ว
- กล้ามเนื้อผนังหลอดลมหดเกร็งตัว หลอดลมจึงตีบแคบ เช่น ในโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้หูคอจมูก หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบลอกเกอร์(Beta blocker) ยาลดความดันโลหิตบาง ชนิด
- ปัญหาทางอารมณ์จิตใจ เช่น เครียดมาก โกรธมาก หรือเรียกร้องความสนใจ เช่น ภาวะหอบจากอารมณ์
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดหายใจเสียงหวีด?
ปัจจัยเสี่ยงเกิดหายใจเสียงหวีด ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- โรคหืด
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก
- โรคมะเร็งปอด
- เด็กวัยเตาะแตะ ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือมีพี่น้องเรียนโรงเรียนอนุบาล เพราะจะติดเชื้อโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่ายจากเพื่อนๆและจากครอบครัว
หายใจเสียงหวีดมีอาการอย่างไร?
หายใจเสียงหวีดเป็นอาการแสดง ที่มักเกิดในโรคดังกล่าวในหัวข้อ”สาเหตุฯ” โดยอาการนี้มักเกิด ร่วมกับ อาการ ’หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย’ และดังกล่าวใน’บทนำ’ ถ้าอาการเกิดเฉพาะช่วงหายใจออก แสดงว่า ‘โรคยังไม่รุนแรง’ แต่ถ้าเสียงหวีดเกิดตลอดเวลาทั้งช่วงหายใจเข้าและหายใจออก เป็นตัวบอกว่า ‘อาการโรครุนแรง’ ที่ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
นอกจากนั้น หายใจเสียงหวีดยังพบร่วมกับอาการต่างๆจากสาเหตุที่จะเกิดได้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- มีไข้ กรณีเกิดร่วมกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- ไอ กรณีมีการระคายเคืองในลำคอ เช่น เสมหะ ควันบุหรี่ ควันพิษ ได้รับสารก่อภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
- มีเสมหะ กรณีมีการระคายเคืองในลำคอ เช่นจาก เสมหะ ควันบุหรี่ ควันพิษ ได้รับสารก่อภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มะเร็งปอด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อเกิดหายใจเสียงหวีด ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ
- เป็นอาการครั้งแรก กล่าวคือไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน
- เมื่อหายใจเสียงหวีดเกิดทั้งช่วงหายใจเข้าและหายใจออก
- หายใจเสียงหวีดเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อาการไข้ เหนื่อยหอบ ใบหน้า/ริมฝีปาก/เนื้อตัว/มือ/เท้า บวม ริมฝีปาก/มือ/เท้า/เล็บ เขียวคล้ำ หายใจลำบาก ผื่นคันทั้งตัว/ลมพิษ วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เมื่อหายใจเสียงหวีดร่วมกับ อาการช็อก เป็นลม
แพทย์วินิจฉัยหายใจเสียงหวีดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยมีหายใจเสียงหวีด โดยการสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งปัจจุบันและอดีต โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ ร่วมกับ การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือ ตรวจฟังเสียงหายใจจากเครื่องที่เรียกว่า หูฟัง หรือ นิยมเรียกว่า เสต็ท(Stethoscope)
หลังการวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีอาการหายใจเสียงหวีด แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือดCBCดูภาวะการติดเชื้อ การตรวจเอกซเรย์ภาพปอด การตรวจทางหูคอจมูกกรณีสงสัยโรคทางหูคอจมูก เช่น มีสิงแปลกปลอมหลุด/หล่นเข้าหลอดลมโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็ก และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจทางผิวหนังที่เรียกว่า Patch skin test/ Patch testเพื่อหาว่าผู้ป่วยแพ้สารกระตุ้นภูมิแพ้อะไรบ้าง
รักษาอาการหายใจเสียงหวีดอย่างไร?
การรักษาอาการ/ภาวะหายใจเสียงหวีด ได้แก้ การขยายทางเดินอากาศของหลอดลม การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ และ การรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การขยายทางเดินอากาศของหลอดลม: ได้แก่
- การขยายช่องทางเดินอากาศของหลอดลม โดยการใช้ ยาขยายหลอดลม ทั้งที่เป็นยารักษาขณะเกิดอาการ และเพื่อป้องกันอาการ/ป้องกันการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อผนังหลอดลม(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยาขยายหลอดลม’)
- ยาลดการอักเสบของเยื่อบุผนังหลอดลม เช่น ยาแก้แพ้ ยากลุ่มสเตียรอยด์
- ยาลดการอุดตันของสารคัดหลั่งในหลอดลม/เสมหะ เช่น ยาขับเสมหะและ ยาละลายเสมหะ
ข. การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ: จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษา โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (อ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป๋นสาเหตุได้ใน เว็บ haamor.com)
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: การรักษาตามอาการผู้ป่วย เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาลดไข้กรณีมีไข้ ให้ยาแก้ไอกรณีไอมากจนมีผลต่อการนอนหลับจนขาดการพักผ่อน เป็นต้น
หายใจเสียงหวีดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
หายใจเสียงหวีด เป็นอาการที่บอกให้ทราบว่ามีทางเดินอากาศอุดตัน/ตีบ ถ้าไม่รีบแก้ไข จะส่งผลให้เกิดการหายใจลำบาก ที่นำไปสู่การ เป็นลม หมดสติ จากขาดอากาศหายใจ และเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
หายใจเสียงหวีดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
หายใจเสียงหวีดเป็นอาการไม่ใช่ตัวโรค ดังนั้นการพยากรณ์โรคของเสียงหวีดจึงขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของเสียงหวีด เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องการพยากรณ์โรคแต่ละสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดหายใจเสียงหวีดได้แก่ การดูแลตนเองตามแต่ละสาเหตุโรค ซึ่งที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง โดยเฉพาะยาที่ใช้ต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดอาการ เช่น ในการรักษาโรคหืด
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เมื่อไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพราะน้ำจะช่วยละลายและช่วยการขับเสมหะ ให้เสมหะออกง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ อยู่ในสถานที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ เพื่อให้ปอดมีสุขภาพแข็งแรง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องการดูแลตนเองในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
เมื่อเกิดหายใจเสียงหวีดหลังเคยพบแพทย์แล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น เกิดเสียงหวีดทั้งหายใจเข้าและออก หายใจลำบากขึ้น ไอมากจนพักผ่อนไม่ได้
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด เป็นต้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก นอนไม่หลับติดต่อกันทุกคืน
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันอาการหายใจเสียงหวีดอย่างไร?
การป้องกันหายใจเสียงหวีดก็คือ การป้องกันสาเหตุ ที่สำคัญคือ
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
- กินยาป้องกันการเกิดอาการหอบหืดตามคำสั่งแพทย์ ไม่ขาดยา
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อการมีสุขภาพกาย ลดการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และเพื่อสุขภาพจิตที่ดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพเพื่อปอดจะได้แข็งแรง
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องการป้องกันในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Wheeze [2018,Aug18]
- https://medlineplus.gov/ency/article/003070.html [2018,Aug18]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15203-wheezing/management-and-treatment [2018,Aug18]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4681169/ [2018,Aug18]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18480107 [2018,Aug18]
- https://emedicine.medscape.com/article/995267-overview#showall [2018,Aug18]