หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- หลอดเลือดโป่งพองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- หลอดเลือดโป่งพองมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดโป่งพองได้อย่างไร?
- รักษาโรคหลอดเลือดโป่งพองอย่างไร?
- หลอดเลือดโป่งพองมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- หลอดเลือดโป่งพองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันหลอดเลือดโป่งพองได้อย่างไร?
- โรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด
- โรคมาร์แฟน
บทนำ
หลอดเลือดโป่งพอง(Aneurysm)คือภาวะ/โรคที่เกิดจากมีความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือด พบเกิดได้กับหลอดเลือดทุกหลอดเลือดในร่างกาย ทั้งกับหลอดเลือดแดง หรือกับหลอดเลือดดำ แต่ทั่วไปมักเกิดกับหลอดเลือดแดง โดยเนื้อเยื่อทุกชั้นของผนังหลอดเลือดจะเกิดการอ่อนแอจนเกิดการโป่งพอง/ขยายถ่างกว้างออก จนมีลักษณะเป็นกระเปาะหรือเป็นรูปกระสวย ซึ่งในกรณีที่การโป่งพองเป็นมากจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดนั้นๆบางจนเกิดการแตกของหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการตกเลือดทันที ซึ่งถ้าเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เช่น ท่อเลือดแดงในช่องท้อง(Abdominal aortic aneurysm) หรือท่อเลือดแดงในช่องอก(Thoracic aortic aneurysm) จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ทันที
หลอดเลือดโป่งพอง เป็นภาวะพบน้อย ซี่งถ้าผนังหลอดเลือดไม่ปริ/หรือแตก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ และโรค/ภาวะนี้ก็มักไม่สามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกาย หรือจากการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดาก็มักตรวจไม่พบ จึงส่งผลให้การวินิจฉัยโรคนี้เป็นไปได้ยากมาก ทั่วโลกจึงยังไม่มีสถิติการเกิดโรคนี้ที่แน่นอน
โรคหลอดเลือดโป่งพองพบได้ในทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคนขี้นไป พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2-3เท่า ในเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาวมักมีสาเหตุจากผนังหลอดเลือดบาง/อ่อนแอจากสาเหตุทางพันธุกรรม เช่น ในโรค Marfan syndrome (โรคทางพันธุกรรมพบยาก ที่ทำให้มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอ) ซึ่งทั่วไป ประมาณ 95%ของโรคหลอดเลือดโป่งพองจะพบในผู้ใหญ่
หลอดเลือดโป่งพองส่วนใหญ่ มักเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะท่อเลือดแดงในช่องอก หรือท่อเลือดแดงในช่องท้อง แต่พบได้กับหลอดเลือดแดงในอวัยวะต่างๆ(พบได้น้อยมาก)ทุกอวัยวะ ที่พบได้บ่อย คือ หลอดเลือดแดงใน สมอง ไต ผนังหัวใจ ม้าม ขา หลอดเลือดแดงของเนื้อเยื่อในช่องท้อง(Mesenteric artery aneurysm)
ส่วนหลอดเลือดดำโป่งพอง พบได้น้อย น้อยกว่าหลอดเลือดแดงโป่งพองมาก จนทั่วไป เมื่อกล่าวถึง “หลอดเลือดโปงพอง” จะหมายถึง “หลอดเลือดแดงโป่งพอง” โดยหลอดเลือดดำโป่งพอง มักเกิดกับหลอดเลือดเลือดดำของเนื้อเยื่อที่อยู่ในส่วนลึกๆของร่างกาย เช่น เนื้อเยื่อส่วนลึกของขา หรือ เนื้อเยื่อ /อวัยวะในอุ้งเชิงกราน แต่ก็มีรายงานประปรายที่พบเกิดกับหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นๆใต้ผิวหนัง
อนึ่ง หลอดเลือดโป่งพอง แบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก
- โดยถ้าเป็นการโป่งพองของหลอดเลือดที่เกิดจากความอ่อนแอของเนื้อเยื่อทุกชั้นของผนังหลอดเลือด(ทั่วไปหลอดเลือดจะมีเนื้อเยื่อผนัง 3 ชั้น) จะเรียกว่า “True aneurysm”
- แต่ถ้าหลอดเลือดโป่งพองเกิดจากมีความเสียหายของเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด ที่ส่งผลให้เกิดเลือดไหลเข้าไปอยู่ในผนังชั้นต่างๆของหลอดเลือดหรือเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือด(หลอดเลือดเกิดเป็นรูทะลุ)จะเรียกว่า “False aneurysm หรือ Pseudoaneurysm/หลอดเลือดโป่งพองไม่แท้” ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อหลอดเลือดแตก/ตกเลือดสูงกว่า True aneurysm มาก ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจาก อุบัติเหตุต่อหลอดเลือด หรือมีการอักเสบของหลอดเลือด เช่น จากติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง หรือมีการอักเสบที่รุนแรงของบางอวัยวะส่งผลต่อเนื่องถึงการอักเสบของหลอดเลือด(เช่น ตับอ่อนอักเสบรุนแรง) หรือการอักเสบของหลอดเลือดจากโรคออโตอิมมูน ซึ่งหลอดเลือดโป่งพองชนิดนี้พบน้อยมาก มักเป็นการรายงานผู้ป่วยเป็นรายๆไปตามแต่ละสาเหตุ
หลอดเลือดโป่งพองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุเกิดหลอดเลือดโป่งพองที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดโป่งพอง ได้แก่
ก. ปัจจัยเสี่ยงเกิดผนังหลอดเลือดแดงอ่อนแอ ได้แก่
- โรคซิฟิลิสระยะที่3/ระยะสุดท้าย
- วัณโรคปอดที่รอยโรคเกิดใกล้หลอดเลือดแดงปอด
- โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคถุงน้ำหลายถุงของไต โรค Marfan syndrome
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคความดันโลหิตสูง
- สูบบุหรี่จัด
- โรคอ้วน
- ผู้สูงอายุ
- หลอดเลือดอักเสบ เช่น หลอดเลือดอักเสบติดเชื้อ(Mycotic aneurysm หรือ Microbial arteritis หรือ Infected aneurysm)
- ผนังหลอดเลือดฉีกขาด หรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดกับหลอดเลือดนั้นๆ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ โดนยิง โดนแทง การตกจากที่สูง
ข. ปัจจัยเสี่ยงเกิดผนังหลอดเลือดดำอ่อนแอ ได้แก่ ภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูง เช่น จากการตั้งครรภ์ที่ครรภ์กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอย่างเรื้อรัง โรคอ้วน
หลอดเลือดโป่งพองมีอาการอย่างไร?
อาการของหลอดเลือดโป่งพอง ได้แก่
ก. อาการหลอดเลือดแดงโป่งพอง โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองไม่มีอาการเฉพาะโรค และมักไม่มีอาการผิดปกติ
- แต่ถ้าเกิดกับหลอดเลือดฯที่อยู่ตื้นๆ อาจคลำได้เป็นก้อนเนื้อผิดปกติ เช่น ที่ข้อพับเข่า เป็นต้น
- แต่ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะเกิดอาการเมื่อผนังหลอดเลือดฯเกิดปริ/แตก ซึ่งจะมีอาการเกิดได้หลายอาการพร้อมกัน เช่น อาการปวดรุนแรงในตำแหน่งของหลอดเลือดฯ ซึ่งเป็นอาการปวดจากหลอดเลือดปริ/แตก เช่น
- ถ้าเกิดกับหลอดเลือดสมอง จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันที
- ถ้าเกิดกับหลอดเลือดในท้อง ก็จะปวดท้องมากทันที
- และอาการอื่นๆที่เป็นอาการจากร่างกายเสียเลือด/ตกเลือด/เลือดออกรุนแรง เช่น
- ผิวหนังทั้งตัว ซีด และเย็น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- ภาวะช็อก และอาจเสียชีวิตทันที
ข. อาการหลอดเลือดดำโป่งพอง ทั่วไปไม่พบอาการผิดปกติ ยกเว้นคลำได้เป็นก้อนกรณีเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นๆโป่งพอง เช่น ที่ข้อพับเข่า เป็นต้น แต่กรณีของหลอดเลือดดำโป่งพอง มักมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดดำด้วย ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจึงมักมีอาการจากภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด(อ่านเพิ่มเติมอาการโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด”)
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”
- กรณีคลำได้ก้อนเนื้อ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- แต่ถ้าเป็นอาการอื่นๆ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดโป่งพองได้อย่างไร?
หลอดเลือดโป่งพองเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากที่สุดโรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้ ดังนี้ เช่น
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคนี้ในครอบครัว ประวัติอุบัติเหตุ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภาพอวัยวะ/หรือหลอดเลือดที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ด้วย เอกซเรย์ ร่วมกับ อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามตำแหน่งอวัยวะที่แพทย์สงสัยว่ามีหลอดเลือดโป่งพอง เช่น
- กรณีสงสัยหลอดเลือดสมองโป่งพอง อาจต้องมีการเจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง
รักษาโรคหลอดเลือดโป่งพองอย่างไร?
การรักษาภาวะ/โรคหลอดเลือดโป่งพอง เป็นการรักษาทางศัลยกรรมหลอดเลือดที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางหลอดเลือดที่มีหลายวิธีผ่าตัด ขึ้นกับ
- ชนิดของหลอดเลือดโป่งพอง
- ความรุนแรงของความผิดปกติของหลอดเลือด
- ตำแหน่งอวัยวะที่เกิดหลอดเลือดโป่งพอง
ทั้งนี้ การรักษาต้องทำในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมสำหรับการผ่าตัดรักษาโรคนี้ เช่น โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์
แต่ในบางกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ อายุมาก และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการผ่าตัด แพทย์จะปรึกษาผู้ป่วยและญาติเพื่อการเฝ้าติดตามอาการโรคเป็นระยะๆ
หลอดเลือดโป่งพองมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากหลอดเลือดโป่งพอง คือ
- การปริ/แตกของหลอดเลือดฯที่มักนำมาซึ่งการตกเลือดรุนแรงซึ่งจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที
หลอดเลือดโป่งพองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในหลอดเลือดโป่งพอง พบว่าหลอดเลือดดำโป่งพองจะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าหลอดเลือดแดงโป่งพอง แต่ทั้งนี้ แพทย์ต้องให้การพยากรณ์โรคเป็นกรณีๆไป โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
- สาเหตุ
- ตำแหน่งของโรค
- ขนาดของหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง
- ชนิดของหลอดเลือดโป่งพอง
- ความรุนแรงของอาการ
ซึ่งดังกล่าวในหัวข้อต้นๆว่า ถ้าเป็นการแตกของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา และถึงแม้ผู้ป่วยจะถึงแพทย์/โรงพยาบาลแล้ว อัตราการเสียชีวิตก็ยังสูงมากจากการรักษาที่มักได้ผลต่ำ
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อทราบว่ามีโรคหลอดเลือดโป่งพอง การดูแลตนเอง เช่น
- ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ ได้แก่
- สาเหตุ
- ชนิดของหลอดเลือดโป่งพอง
- ตำแหน่งของโรค
- อาการผู้ป่วย
- โรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย
- และอายุ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อทราบว่ามีหลอดเลือดโป่งพอง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- เริ่มมีอาการผิดปกติต่างๆ หรืออาการที่ผิดไปจากเดิม โดยเฉพาะอาการปวด/เจ็บในบริเวณรอยโรค/ตำแหน่งหลอดเลือดที่โป่งพอง
*และต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เมื่อ
- มีอาการรุนแรงขึ้น โดยต้องแจ้งแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์เสมอว่า ตนเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพอง
ป้องกันหลอดเลือดโป่งพองได้อย่างไร?
เนื่องจากสาเหตุหลอดเลือดโป่งพองยังไม่ทราบแน่ชัด จึงไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้100% แต่โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการหลีกเลี่ยง/ป้องกันปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้ เช่น
- การไม่สำส่อนทางเพศ ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสติดโรคซิฟิลิสที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การควบคุมอาหาร หวาน เค็ม ไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่เพื่อลดโอกาสเกิด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการบาดเจ็บเสียหายต่อหลอดเลือด
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรงต่างๆ
บรรณานุกรม
- https://www.heart.org/en/health-topics/aortic-aneurysm/what-is-an-aneurysm [2019,Feb16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aneurysm [2019,Feb16]
- https://medlineplus.gov/ency/article/001122.htm [2019,Feb16]
- https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/aneurysm [2019,Feb16]
- https://www.hindawi.com/journals/tswj/2012/386478/ [2019,Feb16]
- https://radiopaedia.org/articles/false-aneurysm [2019,Feb16]