หญ้าหวาน (Stevia)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คืออะไร?
- หญ้าหวานมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- หญ้าหวานมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- หญ้าหวานมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- หญ้าหวานมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- หญ้าหวานมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้หญ้าหวานอย่างไร?
- หญ้าหวานมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาหญ้าหวานอย่างไร?
- หญ้าหวานมีชื่ออื่นอีกไหม?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สารให้ความหวาน (Sweeteners) น้ำตาลเทียม (Artificial sweetener)
- ไซลิทอล (Xylitol)
- แซกคาริน (Saccharin)
- แอสปาร์แตม (Aspartam or Aspartame)
- ซูคราโลส (Sucralose)
- วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additive)
บทนำ: คืออะไร?
หญ้าหวาน (Stevia) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana มีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 150 เท่า จึงนำมาใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหาร/เครื่องดื่มให้หวานขึ้นแทนน้ำตาล เพื่อลดปริมาณน้ำตาล/พลังงานส่วนเกินจากน้ำตาลโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน
หญ้าหวาน เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปี ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้เป็นผู้ค้นพบและนำมาใช้เป็นครั้งแรก, มนุษย์ได้นำสารสกัดของหญ้าหวานมาเป็นส่วนประกอบในชาที่ชงดื่ม รวมถึงยาสมุนไพรโบราณ, ในแถบเอเชียพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีการใช้สารสกัดจากหญ้าหวานอย่างแพร่หลาย โดยนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ และมียอดขายคิดเป็นปริมาณ 40% จากจำนวนสารให้ความหวานที่วางตลาดทั้งหมดในประเทศ
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารสกัดจากหญ้าหวานประกอบไปด้วยกลุ่มสารที่มีชื่อเรียกว่า ไกลโคไซด์ (Glycoside) และ อะไกลโคน (Aglycone), สารไกลโคไซด์จะประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส (Glucose), ส่วนสารอะไกลโคนจะประกอบไปด้วยน้ำตาลที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้นหรืออาจเรียกรวมๆว่าโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides), ซึ่งกลุ่มน้ำตาลเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สารสกัดของหญ้าหวานมีรสหวาน
ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์สามารถย่อยสลายและแยกไกลโคไซด์ของหญ้าหวานออกมาเป็นน้ำตาลกลูโคสและเป็นสารให้รสหวานที่เรียกว่าสตีวิออล (Steviol), โดยน้ำตาลกลูโคสที่ได้นี้ ส่วนใหญ่จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ดึงไปใช้เป็นพลังงานของตัวลำไส้เอง จึงมีกลูโคสจากสารสกัดหญ้าหวานเพียงส่วนน้อยที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด, ส่วนสารสตีวิออลและสารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และส่วนใหญ่ที่เหลือจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
* องค์การอนามัยโลกได้ประกาศความปลอดภัยของการใช้สารหญ้าหวานชนิด Steviol glycoside เป็นวัตถุเจือปนในอาหาร โดยปริมาณที่ได้รับ 'ต่อวันต้องไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม'
ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นการใช้สารสกัดจากหญ้าหวานในหลายประเทศทั่วโลก, สำหรับประเทศไทยก็สามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์หญ้าหวานสกัดที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบวิถีทางธรรมชาติได้เช่นกัน
หญ้าหวานมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
หญ้าหวานมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้ปรุงแต่งรสชาติของเครื่องดื่มและอาหาร
- บางประเทศ ใช้ปรุงแต่งอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยมีข้อมูลงานวิจัยสนับสนุนว่า ทำให้อาการเบาหวานดีขึ้น กล่าวคือ สารสกัดหญ้าหวานช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม ในการจะใช้หญ้าหวาน ผู้บริโภคควรติดตามและรับฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ให้ใช้หญ้าหวานเป็นวัตถุเจือปนในอาหาร และใช้ในอาหารทางการแพทย์ได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมขนาดบริโภคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 พ.ศ. 2561 (แนะนำอ่านรายละเอียดประกาศนี้ในจากเว็บฯในบรรณานุกรมที่ 1)
หญ้าหวานมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของหญ้าหวาน คือสารสกัดของหญ้าหวานที่เป็นไกลโคไซด์ (Glycoside) ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส และ สารอะไกลโคน (Aglycone) ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น จะทำปฏิกิริยากับต่อมรับรสของลิ้น ทำให้เรารับรสความหวานซึ่งมีมากกว่าน้ำตาลถึง 150 เท่า และต่อมรับรสบางส่วนจะทำปฏิกิริยากับสารอะไกลโคนซึ่งทำให้รู้สึกถึงรสขมได้เล็กน้อย
ทั้งนี้ สารสกัดจากหญ้าหวาน ให้พลังงานต่ำกับร่างกาย ด้วยแบคทีเรียของลำไส้ใหญ่จะดึงน้ำตาลกลูโคสบางส่วนจากสารไกลโคไซด์ไปใช้ ซึ่งส่วนนี้จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และจะถูกขับทิ้งออกจากร่างกาย, จากกลไกดังกล่าวนี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ
หญ้าหวานมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารสกัดจากหญ้าหวานมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- บรรจุในซองขนาด 50 กรัม
หญ้าหวานมีขนาดรับประทานอย่างไร?
สารสกัดหญ้าหวาน จะระบุขนาดและวิธีการใช้มากับตัวผลิตภัณฑ์ ที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการนำมาผสมหรือปรุงรสชาติในการรับประทาน
หญ้าหวานมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ด้วยสารสกัดจากหญ้าหวานมิได้ถูกจดทะเบียนในตำรับยา จึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาด้านผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/สาร (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) มาสนับสนุนและเผยแพร่มากนัก ปัจจุบันจึงยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงจากการบริโภคหญ้าหวานในขนาดตามที่ระบุในผลิตภัณฑ์ที่รับรองคุณภาพโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.)
มีข้อควรระวังการใช้หญ้าหวานอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่พบข้อห้ามใช้หญ้าหวานที่เด่นชัด, แต่ข้อควรระวัง: เช่น
- ไม่ควรบริโภคหญ้าหวานในขนาด/ปริมาณเกินกว่าที่กำหนดในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำรับรอง ความปลอดภัยการบริโภคจาก ‘สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข(อย.)’
- *ต้องไม่บริโภคหญ้าหวานหากเคยมีอาการแพ้หญ้าหวาน โดยหากผู้บริโภครับประทาน หญ้าหวานแล้วเกิดอาการแพ้ หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ตัวบวม *ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทันที และต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคหญ้าหวานเสมอ
- ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่หมดอายุ
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่หมดอายุ
*****อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างหญ้าหวาน ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
หญ้าหวานมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยสารสกัดหญ้าหวานเป็นสารปรุงรสหวานไม่ใช่ยา จึงยังไม่พบมีรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา/ อันตรกิริยา กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาหญ้าหวานอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์หญ้าหวาน: เช่น
- เก็บในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์
หญ้าหวานมีชื่ออื่นอีกไหม?
ชื่ออื่นของหญ้าหวาน เช่น Sweet Health, Truvia, SweetLeaf
บรรณานุกรม
- http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/P390-P391.pdf [2022,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Stevia [2022,Sept3]
- http://www.thaiorganiclife.com/product/sweet-health-natural-sweetness-pure-concentrated-stevia-leaf-extract-powder/ [2022,Sept3]
- http://www.thaiorganiclife.com/about/ [2022,Sept3]
- https://www.livescience.com/39601-stevia-facts-safety.html [2022,Sept3]