สิวข้าวสาร (Milia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

สิวข้าวสาร หรือ สิวหัวข้าวสาร หรือ สิวหัวขาวข้าวสาร หรือ สิวหิน (Milia หรือถ้าเกิดเป็นรอยโรคเดียวเรียกว่า Milium) คือ ซีสต์ (Cyst) ขนาดเล็กที่อยู่ในผิวหนังชั้นตื้นๆ ส่วนประกอบภายในซิสต์เป็นสารเคอราติน (Keratin)  พบโรคนี้ได้ในชายหญิงเท่าๆกัน ในทุกวัยแต่มักพบในทารกแรกเกิด(มีรายงานพบได้ประมาณ50%) และชื่ออื่นๆของโรคนี้ คือ Milk spot, Oil seed

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดสิวข้าวสาร?

สิวข้าวสาร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวข้าวสาร แต่จากการศึกษาเชื่อว่าเกิดจาก

  • การที่ต่อมขนและต่อมไขมัน (Pilosebaceous Unit) ถูกรบกวน เช่น ในช่วงทารกที่ต่อมไขมันยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่จึงทำให้พบสิวข้าวสารได้บ่อย
  • หรือในเด็กโตและในผู้ใหญ่ที่เกิดมีการบาดเจ็บของผิวหนัง  
  • หรือมีการขัดถูเสียดสีซ้ำๆของผิวหนังบริเวณนั้น
  • หรือมีรอยโรคที่ผิวหนังจากสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดการรบกวนต่อมขนและต่อมไขมันซึ่งจะทำให้พบเกิดสิวข้าวสารได้บ่อยขึ้น เช่น
    • ผิวหนังอักเสบระคายเคือง
    • โรคผิวหนังกลุ่มที่เป็นตุ่มน้ำ เช่น จากการแพ้ยา หรือ แพ้เครื่องสำอาง   

สิวข้าวสารติดต่ออย่างไร?

 สิวข้าวสารมิใช่โรคติดต่อไม่ว่าจะทางใดๆที่รวมถึงการสัมผัส คลุกคลี และ/หรือการใช้ของ ใช้ร่วมกัน

สิวข้าวสารมีอาการอย่างไร?

สิวข้าวสารจะไม่มีอาการ แต่อาจเกิดขึ้นในพื้นของผิวหนังที่มีรอยโรคอื่น เช่น ผิวหนังแดง อักเสบระคายเคือง, หรือบนรอยโรคผิวหนังกลุ่มที่เป็นตุ่มน้ำต่างๆดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อสาเหตุฯ’

ทั้งนี้ ตัวสิวข้าวสารจะมีลักษณะเป็นซีสต์ตื้นๆ แข็งๆ ขนาดเล็กมักไม่เกิน 1 - 2 มิลลิเมตร มีสีขาวๆถึงเหลืองคล้ายไข่มุก

แพทย์วินิจฉัยสิวข้าวสารได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยสิวข้าวสารได้จาก

  • ประวัติอาการ
  • และจากการตรวจดูลักษณะของสิวข้าวสารที่เป็นซีสต์ตื้นๆ แข็งๆ ขนาดเล็กมักไม่เกิน 1 - 2 มิลลิเมตร มีสีขาวๆถึงเหลืองคล้ายไข่มุก
  • ทั้งนี้ ทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

สำหรับตัวสิวข้าวสารเองนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องรักษาหรือกำจัดออก เพียงสร้างความ รำคาญหรือเหตุผลของความสวยงามเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามสิวข้าวสารอาจเกิดขึ้นในพื้นของผิวหนังที่มีรอยโรคจากสาเหตุอื่น ซึ่งหากมีรอยโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ผิวหนังอักเสบ หรือ โรคตุ่มน้ำต่างๆ สมควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

รักษาและป้องกันสิวข้าวสารอย่างไร?

โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษาสิวข้าวสาร เพราะไม่ก่ออาการอะไร และในเด็กทารก สิวข้าวสารหายเองได้ แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการรักษา วิธีรักษา/กำจัดสิวข้าวสาร แพทย์อาจใช้เข็มสะกิด ออก หรือใช้จี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ เพื่อเปิดซีสต์ และกดสารในซิสต์ออก

นอกจากนั้น:

  • ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆต่อผิวหนังที่จะทำให้ผิวหนังเกิดอักเสบและ/หรือระคายเคือง เช่น การเสียดสี ขัดถู การบาดเจ็บ (เช่น แกะ เกา)
  • หรือกรณีมีรอยโรคที่ผิวหนังจากสาเหตุอื่น ควรได้รับการรักษารอยโรคที่เกิดร่วมเหล่านั้นอย่างเหมาะสมจากแพทย์ผิวหนังด้วย
  • และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่อผิวหนังนี้จะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดสิวข้าวสารด้วย

สิวข้าวสารมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

สำหรับตัวสิวข้าวสารเองนั้นมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ก่ออาการ ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา หรือกำจัดออก ยกเว้นว่าสร้างความรำคาญหรือเหตุผลของความสวยงาม ซึ่งในเด็กทารก รอยโรค มักจะหายเองในช่วง 1 - 2 สัปดาห์

 ในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ สิวข้าวสารมักจะไม่หายเองแต่ไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะจะไม่ก่อ อาการเช่นกัน แต่ถ้าต้องการรักษาเพื่อความสวยงามหรือเมื่อเกิดการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ควรต้องพบแพทย์ผิวหนังเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมเป็นกรณีไป

สิวข้าวสารก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

สิวข้าวสารไม่ก่ออาการหรือผลข้างเคียงอื่นนอกจากอาจเป็นปัญหาด้านความสวยงาม สำหรับบางคน

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นสิวข้าวสารการดูแลตนเองคือ

  • รักษาความสะอาดผิวหน้าโดยใช้สบู่ล้างหน้าชนิดที่อ่อนโยน ล้างหน้าด้วยน้ำพออุ่นวันละ 2 ครั้งเช้าและก่อนนอน
  • ไม่เช็ดหน้ารุนแรง ใช้การซับให้แห้งเบาๆด้วยผ้าขนหนูที่นุ่มสะอาด
  • ห้ามแกะ เกา บีบ รอยโรค เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและอาจติดเชื้อได้
  • ไม่ใช้ครีมบำรุงผิวหน้าที่เป็นสูตรน้ำมันหรือที่อาจก่อการระคายต่อผิวหน้า
  • และในเด็กทารก ไม่ควรใช้โลชั่นใดๆกับผิวหน้าทารกยกเว้นแพทย์สั่ง

บรรณานุกรรม

  1. Burns, T., & Rook, A. (2010). Rook's textbook of dermatology (8th ed.). Chichester, West Sussex, UK ; Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.
  2. https://dermnetnz.org/topics/milium/  [2021,Dec11]
  3. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/milia/diagnosis-treatment/drc-20375078   [2021,Dec11]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1058063-overview#showall   [2021,Dec11]