สิวผู้สูงอายุ หรือ สิวแดด (Senile comedones หรือ Solar comedones)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สิวผู้สูงอายุ หรือ สิวแดด (Senile comedones หรือ Solar comedones หรือ Favre-Racouchot’ s disease) เป็นสิวที่พบในผู้สูงอายุ แตกต่างจากสิวที่พบในวัยรุ่นคือ สิวผู้สูงอายุนี้จะไม่มีการอักเสบ

สาเหตุการเกิดของสิวผู้สูงอายุนี้ เกี่ยวข้องกับการตากแดดเป็นเวลานานและการสูบบุหรี่จัด พบในผู้สูงอายุในอเมริกาประมาณ 6% ของประชากรอายุ 50 ปีขึ้น พบในชายมากกว่าหญิง

สิวผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไร?

สิวผู้สูงอายุ

การเกิดสิวผู้สูงอายุ เชื่อว่า แสงแดดเป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อรอบๆรูขุมขน รูขุมขนจึงขยายกว้างออก ต่อมไขมันเกิดการฝ่อ มีเส้นขนและแบคทีเรียเกิดสะสมอุดตันภายในต่อมไขมันและในรูขุมขนโดยไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดที่ชัดเจนนัก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดสิวผู้สูงอายุ?

สิวผู้สูงอายุ มักพบในผู้ที่มีประวัติถูกแสงแดดมากเป็นเวลานานๆต่อเนื่อง เช่น อาชีพชาวนา ชาวสวน และ ในผู้ที่สูบบุหรี่จัด

สิวผู้สูงอายุติดต่อได้ไหม?

สิวผู้สูงอายุ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อได้ในทุกกรณี เช่น การสัมผัส การคลุกคลี ทางการหายใจ ทางอาหาร น้ำดื่ม หรือการใช้ของใช้ร่วมกัน

สิวผู้สูงอายุมีอาการอย่างไร?

อาการของสิวผู้สูงอายุ คือ

  • มักพบสิวชนิดนี้บริเวณรอบๆ ตา โหนกแก้ม ขมับ
  • บริเวณอื่นที่พบได้ แต่พบได้ไม่บ่อย เช่น
    • บริเวณลำคอด้านข้าง หลังหู ต้นแขน
  • สิวผู้สูงอายุ เริ่มจากมีสิวอุดตันหัวปิดก่อน(Closed comedones) แล้วขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นสิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) หรือเป็นถุง (ซีส/Cyst) ขนาดใหญ่ แต่ไม่พบลักษณะของสิวอักเสบ
  • สิวผู้สูงอายุ มักมีหัวแข็ง กดสิวออกยาก
  • นอกจากนั้นบริเวณผิวโดยรอบที่เป็นสิว อาจพบผิวลักษณะสีเหลือง แข็งหยาบ เป็นริ้วรอย ซึ่งเกิดจากการทำลายของอีลาสติน (Elastin: สารที่ทำให้ผิวหนังยืดหยุ่น)ในผิวโดยแสง แดด
  • มักพบเกิดทั้งสองข้างของใบหน้าในลักษณะสมมาตร (Symmetry) คือมักเกิดรอยโรคเท่าๆกัน ลักษณะคล้ายกันที่ใบหน้าทั้งสองข้าง

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นสิวผู้สูงอายุ?

แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นสิวผู้สูงอายุได้เพียงจาก

  • ประวัติ อาชีพ การงาน การกีฬา ร่วมกับ
  • การตรวจดูลักษณะของรอยโรค โดยไม่ต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีรอยโรคที่ผิวหนังที่สงสัยว่เป็นสิวผู้สูงอายุ สามารถมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาได้

แพทย์รักษาสิวผู้สูงอายุอย่างไร?

แพทย์รักษาสิวผู้สูงอายุ โดย

  • การกดสิว
  • การจี้ไฟฟ้า (Electro cautery) ในรายที่รูขุมขนกว้างมากเพื่อป้องกันการเกิดสิวเป็นซ้ำ
  • การใช้ยาทาอนุพันธุ์ของวิตามินเอ (Retinoic acid) ก่อนนอนบริเวณที่เป็นสิว หรือทานยา Isotretinoin รับประทานนานประมาณ 4 - 6 เดือน (ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงสูง การใช้ยานี้จึงต้องแพทย์เป็นผู้สั่งการใช้เท่านั้น)
  • หลบเลี่ยงแสงแดด (เช่น ใช้ร่ม สวมหมวก พยายามอยู่ในที่ร่ม เป็นต้น) ทาครีมกันแดดเป็นประจำ
  • งดสูบบุหรี่

สิวผู้สูงอายุก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

สิวผู้สูงอายุนี้เป็นภาวะ/โรคที่เกิดจำกัดอยู่แต่ที่ผิวหนัง ไม่มีผลกระทบต่ออวัยวะระบบอื่นๆของร่างกาย ผลกระทบ/ผลข้างเคียงที่เกิดมีเพียงมองดูไม่สวยงาม

สิวผู้สูงอายุมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของสิวผู้สูงอายุ คือ

  • เป็นโรคไม่ร้ายแรง
  • ไม่ก่ออาการอื่นนอกจากด้านความสวยงาม
  • ไม่อักเสบ
  • แต่สามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูงภายหลังการรักษา

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวผู้สูงอายุหลังการพบแพทย์ ได้แก่

  • พบแพทย์ตามนัด ทายาหรือกินยาตามแพทย์แนะนำ
  • เลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดจัด (แสงแดดช่วงเวลา สิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง) หากต้องออกแดด ให้ใช้อุปกรณ์กันแดดช่วย เช่น ร่ม หมวก แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด
  • งดสูบบุหรี่

อนึ่ง เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะด้านความงามเฉพาะผิวหนัง ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย/อวัยวะในระบบอื่น ผู้เป็นสิวผู้สูงอายุที่ไม่กังวลต่อความสวยงาม สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ โดย

  • การทายาอนุพันธุ์ของวิตามินเอ
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด
  • ทาครีมกันแดด
  • งดสูบบุรี่ และ
  • ถ้าเรียนรู้ถึงวิธีกดสิวที่ถูกต้อง ก็สามารถกดสิวได้เองที่บ้าน
  • แต่ถ้ามีความกังวลในเรื่องนี้ ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ป้องกันสิวผู้สูงอายุอย่างไร?

ป้องกันสิวผู้สูงอายุได้โดย

  • เลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดจัดช่วงเวลาสิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง
  • หากต้องออกแดดให้ใช้อุปกรณ์กันแดดช่วย เช่น ร่ม หมวก แว่นกันแดด ทาครีมกันแดด
  • งดสูบบุหรี่

บรรณานุกรม

1) ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology. พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555

2) Robert P Feinstein, MD. Favre-Racouchot Syndrome (Nodular Elastosis With Cysts and Comedones) .december 3,2013. http://emedicine.medscape.com/article/1119362-overview [2020,July18]

3) https://emedicine.medscape.com/article/1119362-overview [2020,July18]