วัณโรคปอดในเด็ก (Childhood tuberculosis)
- โดย รองศาสตราจารย์(พิเศษ) นายแพทย์ ทวี โชติพิทยสุนนท์
- 21 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- วัณโรคปอดในเด็กเกิดได้อย่างไร?
- ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นวัณโรคปอดในเด็กมีอะไรบ้าง?
- วัณโรคปอดในเด็กมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยวัณโรคปอดในเด็กได้อย่างไร?
- วัณโรคเป็นกับอวัยวะอื่น (นอกจากปอด) ได้หรือไม่?
- วัณโรคมีวิธีการรักษาอย่างไร? ปฏิบัติตัวอย่างไร?
- เมื่อไรจึงควรพาเด็กพบแพทย์ในเรื่องเกี่ยวกับวัณโรค?
- วัคซีนป้องกันวัณโรคได้หรือไม่?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ(Infectious disease)
- แบคทีเรีย(Bacterial infection)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- โรคปอด (Lung disease)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- ยาวัณโรค หรือ ยารักษาวัณโรค (Anti-tuberculosis medication)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
- ทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
วัณโรค หรือ โรคทีบี (Tuberculosis, TB) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobac terium tuberculosis ซึ่งประชากรทั่วโลกประมาณมี ”ภาวะติดเชื้อวัณโรค” (ไม่มีอาการป่วยชัดเจน) และมีผู้ป่วย “โรควัณโรคหรือภาวะโรควัณโรค” (มีอาการป่วย) รายใหม่ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี โดยเสียชีวิตประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรค (ผู้ใหญ่และ เด็ก) รายใหม่ประมาณ 80,000 - 90,000 คนต่อปี คาดว่าเป็นวัณโรคในเด็กประมาณ 1.2 ล้านคน โดยเด็กจะเสียชีวิตประมาณ 450,000 คนต่อปีทั่วโลก
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังและเป็นโรคที่แพร่ระบาดไปยังผู้อื่นได้ง่าย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะก่อโรครุนแรงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้
วัณโรคปอดในเด็กเกิดได้อย่างไร?
เด็กมักติดเชื้อวัณโรคจากบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยวัณโรคปอดที่อยู่ในครอบ ครัว โดยเชื้อวัณโรคเข้ามาทางปอดโดยการหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยที่ไอฟุ้งในอากาศ เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอดของเด็กแล้วจะเริ่มเจริญแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้น ถ้าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเด็กมีความแข็งแรงพอ เชื้อวัณโรคในปอดของเด็กก็จะยังสงบอยู่เรียกว่าเป็น “ภาวะติดเชื้อวัณโรค” ซึ่งไม่มีอาการ แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของเด็กขณะนั้นไม่แข็งแรง เชื้อวัณโรคในปอดก็จะเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆจนเป็น “ภาวะโรควัณโรค” ซึ่งมีอาการเจ็บป่วย และบางครั้งเชื้อวัณโรคอาจแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆเช่น สมอง เป็นวัณโรคของสมองซึ่งอันตรายมากอาจถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นวัณโรคปอดในเด็กมีอะไรบ้าง?
การเป็นวัณโรคปอดในเด็กขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. อยู่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคปอดรุนแรงเช่น ไอเป็นเลือด ฯลฯ
2. เด็กที่รับเชื้อวัณโรคตอนอายุน้อยเช่น ต่ำกว่า 2 ปี
3. ช่วงระยะเวลาภายใน 2 ปีหลังรับเชื้อวัณโรค
4. มีร่างกายอ่อนแอเช่น โรคขาดอาหาร เป็นโรคเอดส์ หรือกำลังป่วยเป็นโรคอื่นๆ
วัณโรคปอดในเด็กมีอาการอย่างไร?
อาการวัณโรคปอดในเด็กมักมีอาการ ไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการไอพบได้น้อย (ในวัณโรคปอดผู้ใหญ่พบอาการไอบ่อยมาก)
แพทย์วินิจฉัยวัณโรคปอดในเด็กได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยวัณโรคปอดของเด็กได้จาก
- อาการของเด็ก
- ประวัติสัมผัสใกล้ชิด (บ้านเดียว กัน)กับผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคปอด
- การตรวจปฏิกิริยาทูเบอร์คูลินที่ผิวหนัง (Tuberculin skin test)
- การตรวจเอกซเรย์ภาพปอด (ตรวจในท่าด้านหน้า - ด้านหลัง และในท่าด้านข้าง)
- อาจตรวจเสมหะ หาเชื้อวัณโรคโดยการย้อมสี หรือการเพาะเชื้อวัณโรค
วัณโรคเป็นกับอวัยวะอื่น (นอกจากปอด) ได้หรือไม่?
วัณโรคสามารถเป็นได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ทั่วไป วัณโรคปอดในเด็กพบประมาณ 70 -80% ของวัณโรคทั้งหมด และวัณโรคนอกปอดพบประมาณ 20 - 30% โดยที่วัณโรคของสมองเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งมีโอกาสตายหรือพิการสูงมาก
วัณโรคมีวิธีการรักษาอย่างไร? ปฏิบัติตัวอย่างไร?
การรักษาวัณโรคในเด็ก:
- ต้องใช้ยาหลายชนิดและต้องรักษานาน 6 - 12 เดือนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้โรคกลับคืนมาและอาจมีภาวะเชื้อวัณโรคดื้อยามากขึ้นทำให้รักษายาก
- ถ้าขณะกินยารักษามีอาการ ซึม, ตัวเหลือง ตาเหลือง, ข้อบวม อาเจียนเป็นๆหายๆ (อาการจากแพ้ยา) ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน
*ส่วนการรักษาภาวะ “ติดเชื้อวัณโรค” (ติดเชื้อวัณโรคแต่ยังไม่มีอาการเจ็บป่วย) เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคที่ติดเข้าไปในร่างกายเด็กแล้วลุกลามกลายเป็น “โรควัณโรค” (มีอาการเจ็บป่วย) แพทย์จะพิจารณาว่าเด็กที่ติดเชื้อวัณโรครายใดมีความเสี่ยงสูงต่อการลุกลามกลายเป็นโรควัณโรค (เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น เด็กเล็กหรือเด็กติดเชื้อเอชไอวี) โดยการรักษามักให้ยา INH (Isoniazid) ชนิดเดียวเป็นเวลานาน 6 - 9 เดือนซึ่งจะสามารถลดการเกิดวัณโรคได้ถึง 90%
เมื่อไรจึงควรพาเด็กมาพบแพทย์ในเรื่องเกี่ยวกับวัณโรค?
เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ทุกคนถึงแม้ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตามที่อยู่ในครอบครัวเดียว กันกับผู้ป่วยวัณโรคปอด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่) ควรรีบพบกุมารแพทย์/หมอเด็ก/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว (ในเวลาราชการไม่จำเป็นต้องฉุกเฉิน) เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อวัณโรค หรือเป็นวัณโรคแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นผลจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอด เพราะการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆโรคจะหายเป็นปกติหรือมีผลข้างเคียงน้อยและมักไม่ลุกลามจนแก้ไขได้ยาก
สำหรับเด็กที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้เรื้อรัง (มากกว่า 14 วัน) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอแห้งๆเรื้อรัง ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเช่นกันเพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
วัคซีนป้องกันวัณโรคได้หรือไม่?
วัคซีนบี.ซี.จี (BCG) ที่ฉีดในเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดที่บริเวณหัวไหล่และคล้ายมีตุ่มฝีขึ้นนั้นป้องกันวัณโรคได้ดีพอควร โดยมีประสิทธิผลในการป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ประมาณ 50% ป้องกันวัณโรคสมองหรือวัณโรคชนิดแพร่กระจายในเด็กได้ประมาณ 60 - 70% แต่อย่าง ไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันข้างต้นนี้มักจะลดลงหลังจากเด็กมีอายุ 12 - 15 ปี ดังนั้นวัคซีนบี.ซี.จีจึงป้อง กันวัณโรคในเด็กได้ดีพอควรแต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ได้เลย ซึ่งในปัจจุบันมีการวิจัยวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
การป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งคือ การรักษาผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคปอดให้ครบถ้วนและ เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
ผู้ป่วยวัณโรคที่มีอาการไอ (โดยเฉพาะผู้ใหญ่):
- ควรใส่หน้ากากอนามัยหรือปิดปากปิดจมูก เวลาไอจาม หรือบ้วนเสมหะลงส้วมหลังจากนั้นราดน้ำให้สะอาด ไม่มีความจำเป็นต้องแยกจาน ชาม ช้อน และ
- พึงระลึกไว้เสมอว่า ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยวัณโรคปอดแพร่เชื้อได้สูงสุดและอันตรายต่อคนรอบข้างมากที่สุดคือ ตอนช่วงก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคหรือก่อนกินยารักษาวัณโรค
- ซึ่งเมื่อกินยารักษาวัณโรคประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว ก็มีความปลอดภัยต่อคนรอบข้างพอสมควร
- แต่ผู้ป่วยยังต้องรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ตลอดเวลาจนครบกำหนดการให้ยา