วัณโรค (Tuberculosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

วัณโรคคืออะไร?

วัณโรค (Tuberculosis) หรือทั่วไปมักเรียกย่อว่า โรคทีบี (TB) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium Tuberculosis บางครั้งเรียกว่า เอเอฟบี (AFB, acid fast bacilli) ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่การอักเสบจากเชื้อวัณโรคจะเกิดในปอดที่เรียกว่า ‘วัณโรคปอด(Pulmonary TB’ แต่ก็สามารถเกิดโรคที่อวัยวะอื่นได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายเช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ ในสมัยก่อนผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่จะเสียชีวิต แต่ในปัจจุบัน วัณโรค สามารถรักษา ด้วยยารักษาวัณโรคจนหายขาดได้

การติดเชื้อวัณโรคแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ เพราะเชื้อวัณโรคสามารถ อยู่ในตัวผู้ป่วยโดยไม่มีอาการได้นานๆเรียกว่า ‘วัณโรคระยะแฝง(Latent TB infection ย่อว่า LTBI) ซึ่งทั่วโลก มีผู้ป่วยวัณโรคระยะแฝงประมาณ 2,000 ล้านคน โดย10-15% ของ วัณโรคระยะแฝง จะเกิดเป็นโรควัณโรคปอดภายในประมาณ 10 ปี

วัณโรคติดต่อได้อย่างไร?

วัณโรค

วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการหายใจ โดยเชื้อวัณโรคจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรค ปอดไปสู่ผู้อื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็กๆซึ่งออกมาจากการ ไอ จาม หรือพูด ละอองเสมหะเหล่านี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง และเมื่อสูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด แล้วเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อถุงลมได้ ทั้งนี้ ในการไอ 1 ครั้งอาจพบมีละอองเสมหะออกมาถึง 3,000 ละอองเสมหะ

โอกาสของการแพร่เชื้อวัณโรคขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ

1. ลักษณะของวัณโรคปอดคือ

  • ถ้าเป็นวัณโรคปอดชนิดที่มีโพรง (เนื้อปอดเกิดเป็นโพรงซึ่งติดต่อกับหลอดลมได้ดี จึงทำให้ตรวจพบเชื้อในเสมหะได้สูง) ซึ่งมักจะตรวจพบเชื้อในเสมหะ จะมีการแพร่เชื้อวัณโรคออกทางเสมหะมาก
  • แต่ในผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดชนิดไม่มีโพรง (โอกาสตรวจพบเชื้อในเสมหะลดลง)
  • หรือผู้ป่วยที่ย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ จะมีการแพร่เชื้อน้อยกว่า
  • และในผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด เช่น วัณโรคในต่อมน้ำเหลือง และวัณโรคในเยื่อหุ้มปอด จะไม่มีการแพร่เชื้อ

2. การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอดในสภาพแวดล้อมที่ปิดทึบ การระบายอากาศไม่ดี ไม่ โดนแสงแดด โอกาสจะติดเชื้อวัณโรคจะสูงขึ้น เพราะเชื้อวัณโรคที่อยู่ในละอองเสมหะจะถูกทำ ลายได้เมื่อโดนแสงแดดและความร้อน

3. วัณโรคจะ ‘ไม่ติดต่อ’ทาง

  • การรับประทานอาหาร
  • ดื่มน้ำ
  • สัมผัส
  • และในผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ได้รับยาวัณโรค ส่วนใหญ่จะไม่แพร่เชื้อเมื่อทานยาเกิน 2 อาทิตย์ไปแล้ว

หลังจากเชื้อวัณโรคเข้าสู่ถุงลมปอดแล้วจะเกิดโรคเมื่อใด?

ในระยะแรกหลังจากเชื้อวัณโรคเข้าในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการและไม่สามารถตรวจ พบได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ จนถึงประมาณหลังจาก 4 อาทิตย์ ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกริยาต่อเชื้อวัณโรค โดยส่วนใหญ่ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในคนปกติจะสามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบนิ่งอยู่ เรียกว่า อยู่ใน ‘ระยะแฝง/วัณโรคระยะแฝง’ ซึ่งจะไม่มีอาการของโรคและไม่แพร่เชื้อ

แต่ในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS)/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่สามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบได้ จึงเกิด ‘โรควัณโรคปฐมภูมิ (Primary tuberculosis’ คือ วัณโรคที่แสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดเชื้อ โดยไม่มีการอยู่ในระยะแฝง) เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอด หรือวัณโรคต่อมน้ำเหลืองได้ ทั้งนี้ เชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝง จะสงบอยู่ จนมีปัจจัยที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอจึงเกิดโรควัณโรคปอดขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการปะทุของวัณโรคที่สงบนิ่ง/วัณโรคระยะแฝง ได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะขาดสารอาหาร
  • การได้รับยาสเตียรอยด์
  • การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ในโรคภูมิแพ้
  • และในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือ โรคเอดส์

ทั้งนี้ โดยประมาณ 5% ของผู้ป่วย วัณโรคระยะแฝง จะมีโอกาสเกิด โรควัณโรคปอด ใน 2 ปีแรก และอีกประมาณ 5% จะเกิดโรคภายใน 10 ปี

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาหรือไม่ในประเทศไทย?

เมื่อกล่าวถึง วัณโรค หลายคนคิดว่าเป็นโรคซึ่งแทบจะหมดไปแล้วจากประเทศไทย แต่ สถานการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังมีความน่าเป็นห่วง

ข้อมูลจากแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติของไทย พ.ศ. 2560-2564 ระบุองค์การอนามัยโลก จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหา วัณโรค รุนแรง ระดับโลก โดยมีอัตราของวัณโรครายใหม่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.3 เท่า มีผู้เสียชีวิตถึง 12,000 ราย/ปี จากจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่คาดประมาณราว 120,000 รายต่อปี

อาการของวัณโรคปอดเป็นอย่างไร?

อาการสำคัญของวัณโรคปอดคือ

  • *ไอเรื้อรังโดยเฉพาะอาการไอที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 สัปดาห์ ขึ้นไป โดยจะเริ่มจากไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะจนอาจมีไอเป็นเลือดได้

อาการอื่นๆที่พบได้บ่อย คือ

  • มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำๆ
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด และ
  • เหงื่อออกกลางคืน

การตรวจวินิจฉัยวัณโรคทำได้อย่างไร?

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยวินิจฉัยวัณโรค ได้แก่

1) เอ็กซเรย์ปอด ลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับวัณโรคปอดเช่น พบการอักเสบของปอดที่ ปอดกลีบบน

2) การย้อมเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคเพื่อช่วย ยืนยันการวินิจฉัย โดยจะเก็บเสมหะตอนเช้าหลังตื่นนอน 3 วันติดต่อกัน จะรู้ผลภายในประมาณ 30 นาที แต่มีข้อเสียคือ วิธีนี้มีโอกาสตรวจพบเชื้อวัณโรคได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย เท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะก็ยังอาจเป็นโรควัณโรคปอดได้

3) การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ข้อดีคือ วิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อได้สูงถึง 80 - 90% ของผู้ป่วย แต่ต้องใช้เวลาประมาณสองเดือนจึงทราบผล

อนึ่ง เมื่อมีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด แพทย์จะส่งทำเอ็กซเรย์ปอด ซึ่งถ้าพบลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับวัณโรคปอด แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บเสมหะตรวจย้อมเชื้อวัณโรค ซึ่งถ้าพบเชื้อวัณโรคก็จะวินิจฉัยได้แน่นอน

แต่บางครั้ง ผู้ป่วยมีอาการ และเอ็กซเรย์ปอด เข้าได้กับวัณโรค แต่ย้อมไม่พบ เชื้อวัณโรคในเสมหะ แพทย์อาจ ให้การวินิจฉัยและให้การรักษาแบบวัณโรคปอดได้ แต่ต้อง ติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

มีแนวทางรักษาวัณโรคอย่างไร?

วัณโรค สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องรับประทานยาวัณโรคทุกวันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จะใช้สูตรยารักษา 6 เดือนซึ่งได้ผลดีที่สุดโดยจะให้ยา ได้แก่ยา

1. Isoniazid (ไอโซไนอะซิด)

2. Rifampicin (ไรแฟมปิซิน)

3. Ethambuthol (อีแธมบิวธอล)

4. Pyrazinamide (ไพราซินามาย)

ทั้งนี้ โดยจะให้รับประทานยาทั้ง 4 ตัว 2 เดือน ต่อด้วยยา Isoniazid + Rifampicin อีก 4 เดือน

อนึ่ง อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียงของ ยารักษาวัณโรค เช่น

  • มีผื่น
  • อาเจียน
  • ปวดข้อ และ
  • ตับอักเสบ

ทั้งนี้ พบผลข้างเคียงจากยาวัณโรคได้ประมาณ 5% (แนะนำอ่านรายละเอียดของยารักษาวัณโรคแต่ละตัวดังกล่าวได้ในเว็บ haamor.com)

ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติอย่างไร?

ผู้ป่วยวัณโรค ควรดูแลตนเอง/ควรปฏิบัติ ดังนี้

1. *รับประทานยาวัณโรคตามที่แพทย์แนะนำจนครบตามกำหนด เพื่อป้องกัน การเกิด วัณโรคดื้อยา

  • ถ้ามีอาการผิดปกติหลังเริ่มรับประทานยาวัณโรค เช่น มีผื่น อาเจียน ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับยา
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ

2. ในช่วงแรกของการรักษาโดยเฉพาะสองอาทิตย์แรกถือเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควร

  • อยู่แต่ในบ้าน
  • แยกห้องนอน
  • นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกและแสงแดดส่องถึง
  • ไม่ออกไปในที่ที่มีผู้คนแออัด และ
  • ต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน

3. ปิด ปาก จมูก เวลาไอ หรือจาม ทุกครั้ง

4. งดสิ่งเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่

5. พักผ่อนให้เพียงพอ

6. ทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืช ผัก และผลไม้

7. ให้บุคคลใกล้ชิด เช่น คนในบ้านพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ปอด ซึ่ง

  • ในผู้ใหญ่: ถ้าผลเอ็กซเรย์ปอด ไม่พบความผิดปกติ จะถือว่าไม่เป็นวัณโรคไม่จำเป็นต้องมีการรักษา
  • แต่ในเด็กเล็ก: ถึงแม้จะไม่มีอาการและเอ็กซเรย์ปอดปกติ จะต้องตรวจทูเบอร์คูลิน (Tuberculin skin test หรือ TST) ซึ่งถ้าผลเป็นบวก แพทย์จึงจะให้การรักษาวัณโรค

ป้องกันวัณโรคได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การป้องกันวัณโรคและการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ได้แก่

ก. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง: โดย

  • การออกกำลังกาย สม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • พักผ่อนให้พอเพียง
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ห้าหมู่
  • ไม่ใช้ยาเสพติด
  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดโรคเอดส์ (รักษาสุขอนามมัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) และ
  • ควรตรวจสุขภาพ และเอ็กซเรย์ปอด เป็นประจำทุกปี

ข. ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน: ควรดูแลให้ทำตามข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยวัณโรคดังกล่าว ใน’หัวข้อ ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติอย่างไร’ อย่างเคร่งครัด

ง. ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ให้ทารกแรกเกิดทุกราย: วัคซีนชนิดนี้มีผลในการป้องกัน วัณโรคชนิดรุนแรงในเด็กเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ และผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้

จ. ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เช่น

  • ไอเรื้อรัง
  • มีไข้เรื้อรัง
  • เจ็บหน้าอก
  • เหงื่อออกกลางคืน
  • เหนื่อยหอบ
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้

บรรณานุกรม

https://www.hfocus.org/content/2017/12/15020 [2020,Jan18].