รังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

รังไข่บิดขั้วคืออะไร?

รังไข่ (Ovary)เป็นอวัยวะที่วางตัวอยู่หลังท่อนำไข่ (Fallopian tube) รังไข่ยึดติดกับมดลูกด้วยเอ็นที่เรียกว่า Utero-ovarian ligament และยึดติดกับผนังอุ้งเชิงกราน/ ท้องน้อยด้วยเอ็นที่ชื่อ Infundibulopelvic ligament ที่บริเวณนี้มีหลอดเลือดแดงทอดมาเลี้ยงรังไข่และท่อน้ำไข่

 เมื่อรังไข่มีขนาดโตขึ้นหรือมีน้ำหนักมากขึ้นหรือเอ็นที่ยึดรังไข่มีความยืดหยุ่นมากผิดปกติซึ่งเมื่อมีการทำกิจกรรม เช่น กระโดดหรือออกกำลังกายอย่างหนัก สามารถทำให้ก้อนรังไข่พลิกตลบบริเวณ Utero-ovarian ligament และ Infundibulopelvic ligament ได้ ทำให้เกิดการบิดขั้วของรังไข่ (Torsion หรือ twist) มีผลทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงรังไข่ถูกปิดกั้นทำให้รังไข่ขาดเลือดไปเลี้ยง

ส่วนมากการบิดขั้วของรังไข่ไม่ได้บิดเดี่ยวๆเฉพาะรังไข่ แต่มักทำให้ท่อนำไข่บิดไปด้วยกันเพราะอยู่ใกล้กันและมีพังผืดบางๆยึดรังไข่กับท่อนำไข่ไว้ด้วยกันที่เรียกว่า Mesosalpinx บางครั้งจึงเรียก “รังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion)” ว่า “การบิดของรังไข่และท่อนำไข่ (Ovarian and Follopian torsion)” หรือ “การบิดของปีกมดลูก (Adnexal torsion)”

สาเหตุที่ทำให้รังไข่บิดขั้วคืออะไร?

รังไข่บิดขั้ว

สามารถแบ่งสาเหตุรังไข่บิดขั้วได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. มีการยืดตัวของ Utero- ovarian ligament และ Infundibulopelvic ligament มากกว่าปกติ: โดยที่รังไข่มีขนาดปกติ ซึ่งเหตุการณ์นี้พบได้แต่ไม่บ่อย สามารถพบได้ตอนตั้งครรภ์อ่อนๆ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนที่ทำให้เอ็นดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่าช่วงที่ไม่ได้ตั้ง ครรภ์
  2. การมีถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst): ทำให้รังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น มีโอกาสที่จะบิดที่ขั้วหรือที่เอ็นที่ยึดรังไข่กับมดลูกมากขึ้น ซึ่งถุงน้ำรังไข่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้รังไข่บิดขั้ว ขนาดของถุงน้ำรังไข่ที่มีการบิดขั้วบ่อยคือประมาณ 5 - 10 ซม. (เซนติเมตร) หากขนาดเล็กมากก็ไม่หนักพอที่จะทำให้เกิดการบิดขั้ว แต่หากขนาดใหญ่เกินไปก็ไม่มีเนื้อที่ในอุ้งเชิงกรานพอให้หมุนบิดขั้ว ซึ่งถุงน้ำรังไข่ชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบิดขั้วที่พบบ่อย คือ ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ (Ovarian dermoid cyst),  ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum cyst ),  ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ (Follicular cyst),  แต่ที่เป็นสาเหตุมากที่สุดคือ ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์  ส่วนเนื้องอกรังไข่ และ/หรือมะเร็งรังไข่ ไม่ค่อยเกิดการบิดขั้วเพราะส่วนมากจะมีพังผืดติดแน่นในอุ้งเชิงกราน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดรังไข่บิดขั้ว?

การเกิดรังไข่บิดขั้ว เกิดได้กับสตรีทุกวัย ผู้ที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดรังไข่บิดขั้วมากกว่าปกติ ได้แก่

  1. มีถุงน้ำรังไข่ขนาดที่ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ขนาดที่พบว่าบิดขั้วมากที่สุดคือประมาณ         5 - 10 ซม. ถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปมักไม่เกิดการบิดขั้ว
  2. ถุงน้ำรังไข่ที่ไม่ใช่มะเร็งจะมีโอกาสบิดขั้วมากกว่ากลุ่มที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากถุงน้ำที่เป็นมะเร็งมักมีพังผืดเกาะที่รังไข่กับอวัยวะใกล้เคียงมาก โอกาสจะบิดขั้วจึงเกิดน้อย
  3. การตั้งครรภ์ในช่วง 2 - 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เพราะในช่วงนี้มดลูกจะมีการขยาย ตัวใหญ่และสูงขึ้นมาในช่องท้อง สามารถไปดันให้เกิดการบิดขั้วของรังไข่และท่อนำไข่ได้ แต่หากอายุครรภ์มากแล้วจะไม่มีเนื้อที่พอที่จะทำให้เกิดการบิดขั้ว และ/หรืออาจเกิดจากเอ็นต่างๆที่ยึดรังไข่ ได้รับผลจากฮอร์โมนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เกิดมีความยืดหยุ่นมากกว่าช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ดังกล่าวในบทนำ
  4. หลังคลอดใหม่ๆ เนื่องจากมดลูกลดขนาดลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดช่องว่างในช่องอุ้งเชิงกราน ทำให้ถุงน้ำรังไข่ที่มีอยู่ก่อนแล้วมีโอกาสบิดขั้วได้ง่าย

อาการของรังไข่บิดขั้วคืออะไร?

รังไข่บิดขั้วจะมีอาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันด้านที่มีพยาธิสภาพ/มีรังไข่บิดขั้ว มักสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือการออกแรง มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

ทั้งนี้มักไม่มีไข้หากมาพบแพทย์เร็ว แต่หากเกิดการบิดขั้วมานานหรือมีการติดเชื้อจะพบ ว่ามีไข้และมีการปวดทั่วๆช่องท้องได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’

แพทย์วินิจฉัยรังไข่บิดขั้วอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยรังไข่บิดขั้วได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์:
  • มีอาการปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาเฉียบพลัน หรือ ทันทีทันใด มักจะสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมต่างๆ
  • มักมีอาการคลื่นไส้อา-เจียนร่วมด้วย
  • หากเกิดการบิดขั้วรังไข่และมีการขาดเลือดนานเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการเน่าตาย (Necrosis) หรือมีการแตกของรังไข่ได้ จะทำให้มีอาการปวดท้องทั่วๆไปได้ทั้งช่องท้อง หากเกิดอาการเช่นนี้ในสตรีตั้งครรภ์อ่อนๆหรือหลังคลอดใหม่ๆจะทำให้คิดถึงโรคนี้มากขึ้น การวินิจฉัยโรคนี้ได้รวดเร็วจะทำให้มีโอการเก็บรักษารังไข่ไว้ได้มากขึ้น ไม่ต้องผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง หมด
  • การตรวจร่างกาย:
  • ในระยะแรกสัญญาณชีพมักปกติ
  • มีการกดเจ็บที่ท้องน้อยด้านที่มีพยาธิสภาพ
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ มีไข้ได้ มีอาการกดเจ็บทั่วๆไปในท้อง
  • การตรวจภายในเป็นสิ่งจำเป็น หากรังไข่ขนาดปกติจะคลำไม่พบก้อนแต่จะเจ็บมากเวลาตรวจ หากมีถุงน้ำรังไข่ใหญ่พอประมาณมักจะสามารถคลำก้อนได้ที่ปีกมดลูกด้านที่มีปัญหาและเจ็บมากเมื่อกดตรวจ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจอัลตราซาวนด์ท้องน้อยจะพบถุงน้ำรังไข่ หากมีการแตกของถุงน้ำจะพบของเหลวในช่องท้อง

รักษารังไข่บิดขั้วอย่างไร?

แนวทางการรักษารังไข่บิดขั้ว ได้แก่

มีบางครั้งรังไข่ที่บิดขั้วแล้วสามารถหมุนกลับคืน (Detorsion)เองได้และอาการปวดท้อง หายไป แต่ส่วนมากการรักษากรณีที่มีถุงน้ำรังไข่แล้วมีการบิดขั้ว ต้องเป็นการผ่าตัดเป็นส่วนใหญ่ และเนื่องด้วยการบิดขั้วของรังไข่มักเกิดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ แพทย์จึงต้องพยายามรักษารังไข่ไว้ให้มากที่สุดและนานที่สุด การผ่าตัดส่วนใหญ่จึงเป็นการผ่าตัดแบบอนุรักษ์ โดยแพทย์จะผ่าตัดเข้าไปหมุนขั้วรังไข่กลับคืน (Detorsion) ในส่วนที่บิด หากรังไข่และท่อนำไข่ยังไม่ขาดเลือดมากนัก เนื้อเยื่อยังไม่ตายจากการขาดเลือด (Gangrene) หากมีถุงน้ำรังไข่ก็เลาะเฉพาะถุงน้ำออก (Ovarian cystectomy)

แต่หากมีการบิดขั้วของรังไข่และท่อรังไข่มาเป็นเวลาหลายวันก่อนได้รับการวินิจฉัย จนทำให้รังไข่ขาดเลือดนานจนเนื้อเยื่อต่างๆไม่สามารถทำงานได้ต่อไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ออก, หรือในกรณีที่สงสัยว่าเป็นก้อนมะเร็งรังไข่ หรือเกิดรังไข่บิดขั้วในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว แพทย์ก็ทำการผ่าตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ออก

ทั้งนี้การผ่าตัดทำได้ทั้งผ่าตัดผ่านกล้องวีดีทัศน์ หรือผ่าตัดเปิดแบบหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ภาวะแทรกซ้อนของรังไข่บิดขั้วมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของรังไข่บิดขั้วที่อาจพบได้ เช่น

  1. ติดเชื้อที่รังไข่ รังไข่เกิดเป็น ฝี หนอง
  2. รังไข่สูญเสียการทำงานไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ เมื่อรักษาหายแล้วทำให้หมดประจำเดือนเร็วก่อนเวลาอันควร

รังไข่บิดขั้วสามารถเกิดซ้ำได้หรือไม่?

รังไข่บิดขั้ว สามารถเกิดซ้ำได้หากเอ็นยึดขั้วรังไข่ยังยืดอยู่มากหรือเกิดถุงน้ำรังไข่อีก

รังไข่บิดขั้วมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

รังไข่บิดขั้วมีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาได้หายและไม่เป็นสาเหตุการตาย  ทั้งนี้มีรายงานเกิดเป็นซ้ำได้ในกรณีเกิดโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 20%, และประมาณ 9% เมื่อเกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป

สามารถป้องกันรังไข่บิดขั้วได้หรือไม่?

มีหลายวิธีที่อาจป้องกับการเกิดการบิดขั้วรังไข่ซ้ำ ซึ่งแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเป็นกรณีๆไปในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าอาจมีโอกาสเกิดรังไข่บิดขั้วซ้ำสูงได้แก่

  1. การให้ยาฮอร์โมนเพศเพื่อไม่ให้เกิดการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิล/Follicle/ถุงไข่จนเกิดการตกไข่ จะลดโอกาสการเกิด ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ (Follicular cyst) และ ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum cyst ) เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  2. การเย็บรังไข่ให้ไปติดกับผนังช่องท้อง (Oophoropexy) หรือการเย็บผูก Utero-ovarian ligament ให้สั้นลง

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/2026938-overview#showall [2022,Jan29]
  2. https://radiopaedia.org/articles/ovarian-torsion [2022,Jan29]
  3. https://www.uptodate.com/contents/ovarian-and-fallopian-tube-torsion [2022,Jan29]
  4. https://www.uptodate.com/contents/ovarian-and-fallopian-tube-torsion?search=ovarian-and-fallopian-tube-&source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1 [2022,Jan29]