ยูรีเมีย (Uremia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 สิงหาคม 2561
- Tweet
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ไตอักเสบ (Nephritis)
- โรคไตอักเสบในเด็ก (Pediatric nephritis)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
ยูรีเมีย(Uremia อีกชื่อคือ Uremic syndrome) คือ อาการที่เกิดจากไตสูญเสียการทำงานจนทำให้มีของเสียและสารเคมีต่างๆมากมายหลากหลายชนิด(มีรายงานมากกว่า 20 ชนิดขึ้นไป)ที่ไตควรต้องกรองทิ้งไปกับปัสสาวะแต่กลับยังคงเหลือคั่งอยู่ในเลือด รวมเรียกสารเหล่านี้ว่า “Uremic toxin หรือ Uremic solute” ซึ่งสารเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งสารของเสียเหล่านี้ที่สำคัญคือ ยูเรีย(Urea) และ ครีอะตินีน(Creatinine) นอกนั้น เช่น สารโปรตีนต่างๆ กรดยูริค โพแทสเซียม ฟอสเฟท เป็นต้น
ยูรีเมียเป็นภาวะ/อาการที่พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก พบได้ทุกเพศและทุกวัย
อนึ่ง:
- Uremia มาจากภาษากรีก ที่มีความหมายว่า มีปัสสาวะเข้ามาอยู่ในเลือด
- อะโซทีเมีย หรือ เอโซทีเมีย(Azotemia) หมายถึง มีสารของเสียในเลือดชนิดที่เป็นสารประกอบไนโตรเจน(Nitrogen compound)ซึ่งสารหลักคือ BUN และ Creatinine ที่สูงเกินปกติ สาเหตุอาจจากโรคต่างๆ เช่น โรคไต ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต ซึ่ง Azotemia ที่รุนแรง จะนำไปสู่ภาวะยูรีเมีย
สาเหตุ:
สาเหตุของยูรีเมีย คือ โรคไต ที่ส่วนใหญ่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง ส่วนน้อยเกิดจากโรคไต/ตายวายเฉียบพลัน เช่น จากอุบัติเหตุที่ไต หรือผลข้างเคียงจากยา จากสารพิษ เช่น จากพืชที่รวมถึงเห็ดพิษและสมุนไพรบางชนิด หรือสารพิษจากสัตว์
อาการ:
ไม่มีอาการเฉพาะของยูรีเมีย แต่เป็นอาการทั่วไปหลากหลายอาการร่วมกัน เช่น
- เหนื่อยมาก
- หอบเหนื่อย
- ปวดศีรษะต่อเนื่อง
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- แขนขาเป็นตะคริว อาจรู้สึกชา
- ไม่มีสมาธิ สับสน
- คันตามแขนขา ลำตัว โดยไม่มีผื่นขึ้น
- อาจมีอาการบวมเนื้อตัว มือเท้า แขนขา และรอบตา
- อาการจากเลือดเป็นกรด ชนิดที่เรียกว่า Metabolic acidosis ที่บางท่านเรียกว่า Uremic acidosis
การวินิจฉัย:
แพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีอาการยูรีเมียได้จากอาการทางคลินิก คือ ประวัติอาการของผู้ป่วยร่วมกับมีประวัติโรคไต การตรวจร่างกาย และจะยืนยันได้ว่าเป็นยูรีเมีย ด้วยการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม คือ การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต คือ ค่าสาร BUN และ Creatinine ร่วมกับค่าเกลือแร่(Electrolyteต่างๆ) การตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดดูความรุนแรงของอาการ ที่เรียกว่า อัตราการกรองของไต(GFR) และ Creatinine clearance (ย่อว่า CrCl) ซึ่งทั่วไปอาการยูรีเมียจะเริ่มเกิดเมื่อ Creatinine clearance น้อยกว่า 10 มิลลิลิตร/นาที(ค่าปกติของ CRCl คือ ในผู้หญิงประมาณ 88–128 มล./นาที และในผู้ชายประมาณ 97-137มล./นาที
การรักษา:
การรักษาหลักของยีรีเมียคือ การล้างไต/การบำบัดทดแทนไต นอกจากนั้น คือ การรักษาสาเหตุ (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ออกซิเจนกรณีหอบเหนื่อย ให้สารน้ำต่างๆเพื่อแก้ไข สมดุลของน้ำและเกลือแร่
การพยากรณ์โรค:
การพยากรณ์โรคของยูรีเมียขึ้นกับสาเหตุและความสามารถในการเข้าถึงการบำบัดทดแทนไต ซึ่งในที่สุดมักนำไปสู่การปลูกถ่ายไตเมื่อเกิดจากโรคไตเรื้อรังหรือไตวายเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุจากไตวายเรื้อรังจะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี
แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากไตวายเฉียบพลันและได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตได้ทันท่วงทีก่อนที่เซลล์ไตจะเสียหายถาวรทั้งหมด การพยากรณ์โรคจะดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ ไตไม่สามารถฟื้นตัวได้100%
การป้องกัน:
การป้องกันการเกิดยูเรียเมีย ที่สำคัญ คือ ป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง โรคไตเรื้อรัง ในเว็บ haamor.com) ซึ่งสาเหตุโรคไตเรื้อรังที่สำคัญคือ กินเค็มจัดเรื้อรัง ติดบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/245296-overview#showall [2018,Aug11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Uremia [2018,Aug11]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441859/ [2018,Aug11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Azotemia [2018,Aug11]