ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาต้านเชื้อราคือยาอะไร?

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drug หรือ Antifungal medication หรือ Antifungal agent หรือ Antifungals)  คือ ยาที่ใช้รักษา หรือ ใช้ป้องกันอาการต่างๆที่เกิดจากโรคเชื้อรา โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อรา (Fungistatic), หรือ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา/ยาฆ่าเชื้อรา (Fungicidal)

แบ่งยาต้านเชื้อราเป็นประเภทใดบ้าง?

 

ยาต้านเชื้อราแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีที่ใช้ประโยชน์ในการรักษาเป็นประเภท/ชนิด/กลุ่มต่างๆ เช่น

ก. ยาต้านเชื้อรากลุ่มที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic antifungal drugs): ใช้รักษาการติดเชื้อราที่อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ตับ, เชื้อราที่ผิวหนังตื้นๆแต่เป็นทั่วร่าง กาย, รักษาเชื้อราที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาทา, และรักษาโรคติดเชื้อราในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือ มีความผิดปกติอื่นๆที่มีผลทำให้เชื้อรามีการแพร่กระจายไปหลายอวัยวะ, ซึ่งได้แก่ยากลุ่ม/ชนิดต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่มพอลิอีน (Polyenes): เช่น ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B)
  • ยากลุ่มเอโซล (Azoles) เช่น ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ฟลูโคนาโซล (Fluco nazole), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), โพซาโคนาโซล (Posaconazole), โวริโคนาโซล (Voriconazole)
  • ยากลุ่มอัลลิลเอมีน (Allylamine): เช่น ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
  • ยากลุ่มแอคไคโนแคนดิน (Echinocandin): เช่น ยาไมคาฟันจิน (Micafungin), แอนิดูลาฟันจิน (Anidulafungin), แคสโปฟันจิน (Caspofungin)
  • ยากลุ่มที่โครงสร้างคล้ายสารไพริมิดีน/สารเคมีชนิดหนึ่ง(Pyrimidine analogues): เช่น ยาฟลูไซโทซีน (Flucytosine)
  • ยาอื่นๆ: เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)

ข. ยาต้านเชื้อราที่ใช้ภายนอก (Topical antifungal drugs): เป็นยาที่ใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นตื้นๆหรือผิวหนังชั้นนอก ผม ขน และเล็บ เช่น

  • ยากลุ่มพอลิอีน (Polyenes): เช่น ยาไนสแตติน (Nystatin)
  • ยากลุ่มเอโซล (Azoles): เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole), ไมโคนาโซล (Miconazole), อีโคนาโซล (Econazole), ไอโซโคนาโซล (Isoconazole), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ยากลุ่มอัลลิลเอมีน (Allylamine): เช่น ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine), แนฟทีฟีน (Naftifine)
  • ยากลุ่มกลุ่มไทโอคาร์บาเมท (Thiocarbamate): เช่น ยาโทลนาฟเตท (Tolnaftate)
  • ยากลุ่มไฮดรอกซีไพรีโดน (Hydroxypyridone): เช่น ยาไซโคลไพร็อกโอลามีน (Ciclopirox Olamine)
  • ยากลุ่มมอร์โฟลาย (Morpholine): เช่น ยาอะมอร์โรลฟีน (Amorolfine)
  • ยาอื่นๆ: เช่น อันดีไซลินิก แอซิด (Undecylenic acid), ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield ointment) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid)

ยาต้านเชื้อราจัดจำหน่ายในรูปแบบใดบ้าง?

ยาต้านเชื้อราจัดจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น

  • ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intraveneous injection, IV injection)
  • ยาฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง (Intrathecal injection, IT injection)
  • ยาอม (Lozenges)
  • ยาเหน็บช่องคลอด (Vaginal suppositories, Pessaries)
  • ยาเม็ด (Tablets)
  • ยาแคปซูล (Capsules)
  • ยาผง (Powders)
  • ยาครีม (Creams)
  • ยาโลชั่น (Lotions)
  • ยาเจล (Gels)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointments)
  • ยาหยอดหู (Ear drops)
  • ยาหยอดตา (Eye drops)
  • ยาน้ำใส (Solutions)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspensions)
  • ยาทาเล็บ (Nail lacquer)
  • แชมพูสระผม (Dandruff Shampoo)
  • น้ำยาบ้วนปาก (Mouth wash)
  • ยาป้ายปาก (Mouth paint)

มีข้อบ่งใช้ยาต้านเชื้อราอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น

  • รักษาโรคติดเชื้อราบริเวณผิวหนังชั้นตื้น (Superficial mycoses): เช่น บริเวณขน, ผม, โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor, Tinea versicolor)
  • รักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง (Cutaneous mycoses): เช่น กลาก (Dermatophy tosis: เช่น โรคกลากที่ศีรษะ, ใบหน้า, หนวด-เครา, ขาหนีบ, มือ, เท้า, เล็บมือ-เล็บเท้า), โรคติดเชื้อราชนิดแคนดิดา(แคนดิไดอะซิส/ Candidiasis) บริเวณอวัยวะเพศ รอบๆทวารหนัก ผิว หนัง ผิวหนังบริเวณรอบๆเล็บ ช่องคลอด, โรคติดเชื้อราที่เกิดกับผิวหนังและเล็บจากเชื้อราฉวยโอกาส (Dermatomycosis), โรคติดเชื้อราที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม/เชื้อราช่องปาก (Oral candidiasis/Oral thrush)
  • รักษาโรคติดเชื้อราที่ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous mycoses)
  • รักษาโรคติดเชื้อราในกระแสเลือดและในอวัยวะภายในต่างๆ (Systemic mycoses) และเชื้อราฉวยโอกาส (Oppotunistic fungi): ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

มีข้อห้ามใช้ยาต้านเชื้อราอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานั้นๆ
  • ควรรับประทานยาต้านเชื้อราให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้อาการของโรคจะดีขึ้นแล้วเพื่อป้องกัน การกลับมาเป็นซ้ำของโรคและป้องกันเชื้อดื้อยา
  • โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ถ้าคนไข้ไม่เห็นรอยโรคที่ผิวหนังแล้วยังไม่ควรหยุดยาทันที
    *ควรใช้ยานั้นต่อไปอีก 1 - 2 สัปดาห์ แม้ไม่สามารถมองเห็นรอยโรคแล้วเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อที่อยู่ใต้ผิวหนังถูกกำจัดออกไปเช่นกัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อราอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อรา  เช่น

  • ไม่ควรใช้ยา Amphotericin B ร่วมกับยาที่เป็นพิษต่อไต (Nephrotoxicity) เช่น ยา Cyclosporin, ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycosides
  • ไม่ควรใช้ยา Amphotericin B ร่วมกับยาในกลุ่ม Corticosteroids เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีระ ดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
  • ยา Ketoconazole และ Itraconazole เป็นยาที่ละลายได้ดีในกรด ดังนั้นหากผู้ป่วยมีกรดในกระเพาะอาหารลดลงไม่ว่าจากโรคเช่น ภาวะพร่องกรดเกลือในน้ำย่อย (Achlorhydria) หรือจากการได้รับยาลดกรดในกลุ่ม H2 antagonist, Proton pump inhibitor, Sucrafate ควรได้รับยาต้านเชื้อรากลุ่ม Azoles ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดเช่น น้ำอัดลม หรืออาจต้องเพิ่มขนาดยาหากจำเป็น ดังนั้นหากต้องรับประทานยาลดกรดควรรับประทานก่อนยา Ketoconazole และ Itraconazole อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานยา Ketoconazole และ Itraconazole อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ยา Voriconazole เป็นยาที่ควรรับประทานตอนท้องว่างเพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้ยา นี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
  • เนื่องจากยากลุ่ม Azoles มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ (Enzyme inhibitor) จึงมีผลเพิ่มระดับยาอื่นๆเหล่านี้เช่น Cyclosporin, Midazolam, Prednisolone, Phenytoin, Warfarin เนื่องจากยาเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์และขับออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้มีระดับยาเหล่านี้ในร่างกายมากเกินไปและอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาเหล่านี้ได้ ดังนั้นควรตรวจติดตามระดับยาเหล่านี้ในเลือดและเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น
  • ยา Griseofulvin มีคุณสมบัติเป็นตัวเหนี่ยวนำเอนไซม์ (Enzyme inducer) จึงมีผลลดระดับยาอื่นๆเหล่านี้เช่น ยา Warfarin, Oral contraceptives (ยาเม็ดคุมกำเนิด) เนื่องจากยาเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์และขับออกจากร่างกายได้มากกว่าปกติ ยาอื่นๆเหล่านี้จึงอาจลดประสิทธิ ภาพการรักษาลง ดังนั้นหากผู้ป่วยใช้ยา Warfarin ควรได้รับการตรวจติดตามระดับยา Warfarin อย่างใกล้ชิด เพราะหากระดับยาน้อยเกินไปอาจส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล และหากผู้ป่วยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น ถุงยางอนามัยชาย
  • ยาที่มีผลรบกวนการทำงานของเอนไซม์ทั้ง Enzyme inhibitor, Enzyme inducer จะทำให้ระดับยา Terbinafine ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ระดับของยา Terbinafine จะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาที่เป็น Enzyme inhibitor เช่น Cimetidine ในทางกลับกัน ระดับของยา Terbinafine จะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาที่เป็น Enzyme inducer เช่น ยา Rifampin ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนยาที่ใช้รักษาโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ประเมินประโยชน์และผลข้างเคียงของยาที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับ
  • ระวังการใช้ยา Flucytosine ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องและควรติดตามระดับยาในเลือดของผู้ป่วยเสมอ เพราะเป็นยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ (Narrow therapeutic index, คือยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ต่ำ กล่าวคือระดับยาที่ให้ผลการรักษากับระดับยาที่ทำให้เกิดพิษจากยานั้น แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย) จึงมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะเกิดพิษจากการใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

การใช้ยาต้านเชื้อราในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านเชื้อราในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

ก. ยาต้านเชื้อราที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic antifungal drugs): เช่น

  • ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Azoles ในหญิงตั้งครรภ์ ยาเหล่านี้อาจนำไปใช้เมื่อมีการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการใช้ยาและความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ว่าเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และควรตรวจติดตามความผิดปกติของทารกในครรภ์ในขณะที่ใช้ยานี้
  • ยา Amphotericin B มีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์มากกว่ายากลุ่ม Azoles โดยเลือกใช้ยาเฉพาะที่แทนการฉีดเข้าร่างกาย
  • ยา Griseofulvin และ Flucytosine เป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นกรณีที่ใช้ Flucytosine เมื่ออาการของโรคมีความรุนแรงหรือเพื่อช่วยชีวิตมารดาเท่านั้น โดยต้องตรวจติดตามความผิดปกติของทารกในครรภ์ในขณะที่ใช้ยานี้

ข. ยาต้านเชื้อราที่ใช้ภายนอก (Topical antifungal drugs): เช่น

  • ควรเลือกใช้ยาเฉพาะที่ที่มีการใช้มานานแล้วพบว่ามีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ โดยยาที่จะเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกคือ Clotrimazole, Miconazole, Nystatin เมื่อพบว่ามารดาเป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังหรือที่เนื้อเยื่อต่างๆ และจะเลือกใช้ยาในกลุ่ม Azoles ตัวอื่นๆ เช่น Isoconazole, Ketoconazole เป็นตัวเลือกต่อมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ciclopirox Olamine, Terbinafine, Tolnaftate เพราะยังไม่มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์

การใช้ยาต้านเชื้อราในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และ มียาที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เพราะมียาต้านเชื้อราหลายชนิดที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ระมัดระวังการใช้ยาต้านเชื้อราที่มีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ต่อตับและต่อไต ควรเลือกใช้ยาต้านเชื้อราที่ใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้นเพื่อเพิ่มความร่วมมือของผู้สูงอายุในการใช้ยาและลดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆจากการใช้ยา

การใช้ยาต้านเชื้อราในเด็กควรเป็นอย่างไร?

เนื่องจากข้อมูลการใช้ยาต้านเชื้อราในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ยังมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้นส่วนใหญ่การใช้ยาในเด็กจึงใช้แบบเดียวกับการใช้ยาในผู้ใหญ่ โดยการคำนวณขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็ก (เช่น อายุ น้ำหนักตัว) ชนิดโรค และความรุนแรงโรคที่เกิดขึ้น, ยาที่ใช้เป็นตัวเลือกแรกๆ เช่น Amphotericin B เพราะเป็นยาที่ใช้มานาน, ยาที่เป็นตัวเลือกต่อๆมา เช่น Flucytosine, Fluconazole, Itraconazole, Voriconazole, Caspofungin, Micafungin

ยาต้านเชื้อรามีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านเชื้อรามีอาการไม่พึงประสงค์จากกการใช้ยา/ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงแตกต่างกันขึ้นกับตัวยาแต่ละชนิด เช่น

  • ยา Amphotericin B: ทำให้เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ความดันโลหิตต่ำ หากเกิดอาการเหล่านี้แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการลดขนาดหรือลดความถี่ของการให้ยานี้ลงรวมทั้งพิจารณาให้ยา Paracetamol, Antihistamine, Corticosteroid เพื่อบรร เทาอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่เกิดขึ้น หากอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวไม่ดีขึ้นอาจ พิจารณาหยุดใช้ยา Amphotericin B นอกจากนี้อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆของยา Amphotericin B คือ ยานี้เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบและต่อไต/ ไตอักเสบ, ทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และทำให้โลหิตจาง
  • ยากลุ่มเอโซล (Azoles): มีผลต่อระบบกระเพาะอาหารและลำไส้คือทำให้เกิดอา การคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง, เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดผิดปกติ และยา Ketoconazole จะยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) จึงอาจทำให้เกิดภาวะนมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)
  • ยา Terbinafine:ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดผิดปกติ ผื่นลมพิษ
  • ยากลุ่ม Echinocandin: ทำให้หลอดเลือดดำอักเสบบริเวณที่ฉีดยา ใบหน้าบวม หน้าแดง ผื่นคัน
  • ยา Flucytosine: ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน มีฤทธิ์กดไขกระดูก/กดการทำงานของไขกระดูกทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ และอาจทำให้ลำไส้อักเสบ
  • ยา Griseofulvin: ทำให้เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง ปวดหัว ปลายประสาทอักเสบ มึนงง เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ

*หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของยาแต่ละตัวยาต้านเชื้อราได้จากเว็บ haamor.com

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านเชื้อรา) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. พรพรรณ ภูมิรัตน์, วิทวัส ตันหยง และนัฎฐเนศวร์ ลับเลิศลบ. เชื้อราทางการแพทย์. Journal of Medicine and Health Sciences. 20 (สิงหาคม 2556) : 31-44.
  2. สันทัด จันทร์ประภาพ. ยาต้านเชื้อรา (ANTIFUNGALS). กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552. (อัดสำเนา)
  3. Zaoutis T. E., Benjamin D. K. and Steinbach W. J. Antifungal treatment in pediatric patients. Drug Resistance Updates. 8 (2005) : 235–245
  4. Groll A. H. Efficacy and safety of antifungals in pediatric patients. Early Human Development. 87 (2011) : 71–74
  5. https://www.nhs.uk/conditions/antifungal-medicines/ [2023,April1]
  6. https://my.clevelandclinic.org/health/drugs/21715-antifungals   [2023,April1]