เอโซล (Azole antifungals)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

เอโซล(Azole antifungals) คือ กลุ่มยาต้านเชื้อราซึ่งจัดเป็นยามีฤทธิ์กว้าง คือ สามารถฆ่าเชื้อราได้หลายชนิด ยานี้เป็นหมวดหนึ่งของยาต้านเชื้อราซึ่งมีหลายประเภท นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้โครงสร้างทางเคมีมาเป็นแนวทางในการจัดแบ่ง อีกทั้งยาแต่ละตัวมีฤทธิ์ในการต่อต้าน เชื้อราแตกต่างกันออกไป

สำหรับยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลอาจจัดแบ่งย่อยประเภทได้อีกดังนี้

1. กลุ่มอิมิดาโซล (Imidazoles): ประกอบไปด้วยตัวยาเช่น Bifonazole, Butoconazole, Clotrimazole, Econazole, Fenticonazole, Isoconazole, Ketoconazole, Luliconazole, Miconazole, Omoconazole, Oxiconazole, Sertaconazole, Sulconazole , Tioconazole

2. กลุ่มไตรเอโซล (Triazoles): ประกอบไปด้วยตัวยาเช่น Albaconazole, Fluconazole, Isavuconazole, Itraconazole, Posaconazole, Ravuconazole, Terconazole, Voriconazole

3. กลุ่มไทเอโซล (Thiazoles): ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Abafungin

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กว้างคือ สามารถฆ่าเชื้อราได้หลายชนิดโดยอาศัยการทำลายที่ผนังของเซลล์ในตัวเชื้อรา วงการแพทย์ได้นำมารักษากับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรา ทั้งกับระบบต่างๆของร่างกายและการติดเชื้อราเฉพาะที่ เฉพาะอวัยวะเช่น มือ เท้า เล็บ หรือศีรษะ เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุบางรายการของยากลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ อาทิ เช่นยา Voriconazole, Clotrimazole, Ketoconazole และ Micronazole โดยจัดเป็นหมวดยาอันตรายและบางรายการเป็นยาควบคุมพิเศษ

กลุ่มยาต้านเชื้อรามีผลข้างเคียงที่อันตรายมากมาย เช่น ผลต่อตับหัวใจ ซึ่งล้วนแต่เป็นอวัยวะที่สำคัญทั้งสิ้น การใช้ยาจึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปหาซื้อยามารับประ ทานเองโดยเด็ดขาด

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

เอโซล

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาการติดเชื้อราประเภทต่างๆ เช่น

1. Aspergillosis, 2. Aspergilloma, 3. Blastomycosis, 4. Bone marrow transplantation, 5. Candida infections, 6. Candida urinary tract infection, 7. Coccidioidomycosis, 8. Chronic mucocutaneous candidiasis, 9. Cutaneous fungal infection, 10.Dermatophy tosis, 11. Esophageal candidiasis, 12. Eumycetoma, 13. Febrile neutropenia, 14. Fungal infection prophylaxis, 15. Fungal meningitis, 16. Fungal peritonitis, 17. Fungal pneumonia, 18. Fusariosis , 19. Histoplasmosis, 20. Microsporidiosis, 21. Ocular fungal infection, 22. Onychomycosis (Fingernail), 23. Onychomycosis (Toenail), 24. Oral thrush, 25. Paracoccidioidomycosis, 26. Pseudoallescheriosis, 27. Systemic fungal infection, 28. Sporotrichosis, 29. Tinea capitis, 30. Tinea corporis , 31. Tinea cruris, 32. Tinea versicolor, 33. Vaginal yeast infection

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น

ก. ยากลุ่มอิมิดาโซล และ กลุ่มไตรเอโซล: จะเข้าไปลดการสังเคราะห์สาร Ergosterol โดยการรบกวนการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 (เอนไซม์ในกระบวนการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อรา) การขาดสาร Ergosterol ซึ่งเป็นสาระสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อราทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารภายในเซลล์ของเชื้อรา

ข. ยากลุ่มไทเอโซล: จะเข้าทำลายผนังเซลล์ของเชื้อราโดยตรง ด้วยการปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Sterol 24-C-methyltransferase

จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้นทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้เชื้อราหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 50 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดอมในปาก ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดเหน็บช่องคลอด ขนาด 100, 200 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 50, 100, 150 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเจลป้ายภายในปาก ขนาดบรรจุ 10 กรัม/หลอด
  • ยาครีม ขนาดบรรจุ 5, 10, 15, 20 และ 25 กรัม/หลอด
  • ยาครีม ขนาดบรรจุ 450 และ 500 กรัม/กระปุก
  • ยาหยอดหู ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาป้ายปาก ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 400 มิลลิกรัม/200 มิลลิลิตร
  • แชมพูสระผมรักษารังแค ขนาดบรรจุ 6, 50, 100 และ 200 มิลลิลิตร/ขวด

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีตัวยาหลากหลายรายการ ขนาดรับประทาน หรือการใช้ยาภายนอก (เช่น ยาหยอดหู ยาป้ายปาก) จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ ป่วย (เช่น ติดเชื้อราที่อวัยวะใด มีอาการรุนแรงมากหรือน้อย) รวมกับการเลือกใช้ชนิดยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานหรือการใช้ในลักษณะใดก็ตามจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มเอโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มเอโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน/ใช้ยากลุ่มเอโซล สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่การลืมรับประทานยาบ่อยๆหลายครั้งนอกจากจะทำให้อาการโรคไม่ดีขึ้นแล้ว ในบางกรณียังอาจส่งผลให้เกิดการลุกลามของโรคมากยิ่งขึ้นและเกิดเชื้อดื้อยาได้

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • วิงเวียน
  • เป็นลม
  • ผมร่วง
  • ปัสสาวะมีสีคล้ำ
  • การตรวจเลือด จะพบค่าของ
    • เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
    • เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • มีภาวะ/โรคดีซ่าน
  • เกิดกลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
  • กลุ่มอาการข้างเคียงที่รุนแรงและสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
    • ตับล้มเหลว/ ตับวาย
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • มีอาการของโรคหัวใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเอโซล
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามผู้ป่วยปรับเพิ่มขนาดรับประทานยานี้เอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การใช้ยานี้ต้องมีการตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับควบคู่กันไป
  • ระวังการใช้ยานี้ใน เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และ ผู้สูงอายุ และต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรตรวจเลือดและเฝ้าระวังการทำงานของไขกระดูก (ตรวจเลือด ซีบีซี) ว่าผิดปกติหรือไม่ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Ketonazole และ Fluconazole ร่วมกับยาบางตัว เช่นยา Cyclosporine, Digoxin, Warfarin, Phenytoin และยาเบาหวาน อาจทำให้ยากลุ่มดังกล่าวมีระดับในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยา Itraconazole ร่วมกับยาบางตัว สามารถเกิดผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดหัวใจจนถึงขั้นอันตรายได้ จึงห้ามการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกันโดยเด็ดขาด เช่น
    • ยากลุ่มสแตติน/Statin: เช่นยา Lovastatin, Simvastatin
    • ยานอนหลับ: เช่นยา Triazolam, Midazolam
    • Pimozide: ยารักษากล้ามเนื้อกระตุก
  • การใช้ยา Ketoconazole และ Itraconazole ร่วมกับกลุ่มยาบางตัว เช่นยา Sucralfate, H2 blockers, และ Proton pump inhibitors จะทำให้ลดการดูดซึมของยา Ketoconazole และ Itraconazole หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล ร่วมกับยาวัณโรค เช่นยา Rifampicin และ Isoniazid จะทำให้ตับเร่งการทำลายยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล ประสิทธิภาพการรักษาจึงอาจลดลง แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล: เช่น

  • สำหรับยาชนิดรับประทาน: ให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาฉีด ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

อนึ่ง: การเก็บยาทั่วไปทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มเอโซล: ที่สำคัญคือ

  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มเอโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Chintaral (จินตารอล)Chinta
Dandril (แดนดริล)Osoth Interlab
Dezor (เดซอร์)HOE Pharmaceuticals
Diazon (ดิเอซอน)Unison
Fungazol (ฟังกาซอล)Biolab
Fungiderm-K (ฟังจิเดอร์ม-เค)Greater Pharma
Ninazol (นินาซอล)T. O. Chemicals
Ninazol Tablet (นินาซอล แท็บเล็ท)T. O. Chemicals
Nizoral Cream/Nizoral Cool CreamJanssen-Cilag
(ไนโซรอล ครีม/ไนโซรอล คูล ครีม)
Nizoral Shampoo (ไนโซรอล แชมพู)Johnson & Johnson
Nizoral Tablet (ไนโซรอล แท็บเล็ท)Johnson & Johnson
Sporaxyl Cream (สปอร์แอ็กซิล ครีม)Bangkok Lab & Cosmetic
Daktacort (ด๊ากตาคอร์ท)Janssen-Cilag
Daktarin (ด๊ากตาริน)Janssen-Cilag
Daktarin Oral Gel (ด๊ากตาริน ออรอล เจล)Janssen-Cilag
Kelaplus (เคลาพลัส)T. O. Chemicals
Fungisil (ฟังจิซิล)Silom Medical
Miconazole GPO (ไมโคนาโซล จีพีโอ)GPO
Nikarin (นิคาริน)T. O. Chemicals
Noxraxin (น็อกซ์ราซิน)Osoth Interlab
Ranozol (ราโนซอล)ST Pharma
Skindure (สกินเดียว)March Pharma
Trimicon (ไตรไมคอน)Unison
Canazol (คานาซอล)T. O. Chemicals
Canazol-BE (คานาซอล-บีอี)T. O. Chemicals
Candacort (แคนดาคอร์ท)HOE Pharmaceuticals
Candazole (แคนดาโซล)HOE Pharmaceuticals
Candid (แคนดิด)Glenmark
Candid Mouth Paint (แคนดิด เมาท์ เพนท์)Glenmark
Candinas Troche (แคนดินาส ทรอช)Thailand Jan Laboratories
Candinox 1 (แคนดิน็อกซ์ 1)Charoen Bhaesaj Lab
Candinox Troche (แคนดิน็อกซ์ ทรอช)Charoen Bhaesaj Lab
Canesten (คาเนสเทน)Bayer HealthCare Consumer Care
Canesten Cream (คาเนสเทน ครีม)Bayer HealthCare Consumer Care
Cotren (โคเทรน)Biolab
Cotren Vaginal Tablet (โคเทรน วาจินอล แท็บเล็ท)Biolab
VFEND (วีเอฟอีเอนดี)Pfizer
Hofnazole (ฮอฟนาโซล)Pharmahof
Itra (ไอทรา)MacroPhar
Itracon (ไอทราคอน)Unison
Itrasix (ไอทราซิกซ์)Sinensix Pharma
Itrazole (ไอทราโซล)Millimed
Norspor (นอร์สปอร์)Pond’s Chemical
Spazol (สปาซอล)Siam Bheasach
Sporal/Sporal OS (สปอรอล/สปอรอล โอเอส)Janssen-Cilag
Sporlab (สปอร์แลบ)Biolab
Spornar (สปอร์นาร์)Charoen Bhaesaj Lab
Sporzol (สปอร์ซอล)SR Pharma
Biozole (ไบโอโซล)Biolab
Diflucan (ไดฟลูแคน)Pfizer
Flucozole (ฟลูโคโซล)Siam Bheasach
Flunco (ฟลันโค)T. O. Chemicals
Funa (ฟูนา)L. B. S.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antifungal#Adverse_effects [2021,Sept25]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/azole-antifungals.html [2021,Sept25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Abafungin [2021,Sept25]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ketoconazole [2021,Sept25]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Canazol%20Lozenge/?type=brief [2021,Sept25]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Canazol%20Vaginal%20Tablet/?type=brief [2021,Sept25]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Candid/?type=brief [2021,Sept25]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=voriconazole [2021,Sept25]
  9. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/VFEND/?type=brief [2021,Sept25]
  10. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/antifungal-azole-vaginal-route/side-effects/drg-20069654 [2021,Sept25]
  11. https://www.medicinenet.com/fluconazole-oral/article.htm [2021,Sept25]
  12. https://quizlet.com/16647182/chapter-11-antifungal-agents-flash-cards/%2013%20http://www.drugspedia.org/drugclassification/view2/59/78 [2021,Sept25]
  13. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Diflucan/?type=brief [2021,Sept25]
  14. https://www.mims.com/thailand/drug/info/flucozole [2021,Sept25]
  15. https://www.medicinenet.com/fluconazole_suspension-oral/article.htm [2021,Sept25]