มะเร็งรก (Choriocarcinoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งรก หรือมะเร็งเนื้อรก หรือมะเร็งโคริโอคาร์ซิโนมา(Choriocarcinoma) เป็นมะเร็งที่ถือกำเนิดจากเนื้อเยื่อที่ทั้งหมดพบในรก คือ’ เนื้อเยื่อรก (Trophoblatic tissue หรือ Placental tissue)’ ที่จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และเกือบทั้งหมดจะเป็นมะเร็งที่เกิดในมดลูก แต่ส่วนน้อยมากๆพบเนื้อเยื่อรกในอวัยวะอื่นๆได้บ้างเป็นครั้งคราว เช่นใน รังไข่ อัณฑะ ปอด และโพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง (Retroperitoneum) ซึ่งเมื่อมะเร็งนี้เกิดในเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆ มักมีธรรมชาติของโรคต่างจากที่เกิดในมดลูก ดังนั้นในบทความนี้ จึงจะกล่าว ถึงเฉพาะ “มะเร็งรกที่เกิดในมดลูก” เท่านั้น และขอเรียกว่า “มะเร็งรก”

มะเร็งรก พบได้น้อยมาก น้อยกว่า 1% ของมะเร็งในระบบสูตินรีเวชทั้งหมด โดยทั่วไป

  • ประมาณ 50% ของผู้ป่วยเกิดตามหลังการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
  • ประมาณ 20% เกิดตามหลังการแท้งบุตร
  • ประมาณ 20-30% เกิดตามหลังการคลอดปกติ
  • และประมาณ 2% เกิดตามหลังการท้องนอกมดลูก

มะเร็งรกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งรก

สาเหตุการเกิดมะเร็งรกที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง คือ

  • สตรีอายุมากกว่า 40 ปี หรือ อายุน้อยกว่า 20 ปี
  • มีประวัติตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
  • มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
  • ขาดอาหาร
  • สูบบุหรี่
  • เชื้อชาติ: พบในคนเอเชียและอเมริกาใต้ สูงกว่าคนยุโรปและสหรัฐอเมริกา

มะเร็งรก มีอาการอย่างไร?

อาการของมะเร็งรก ไม่ใช่อาการเฉพาะ เป็นอาการที่พบได้ในโรคต่างๆทางสูตินรีเวช เช่น การติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ส่วนอาการอื่นๆที่พบได้ คือ

  • อาการจากการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ไปปอด ได้แก่ หายใจลำบาก หอบ เหนื่อย ไอเป็นเลือด
  • อาการจากมีสารมะเร็งที่เซลล์มะเร็งรกสร้างขึ้น คือ ฮอร์โมน Beta human Chorionic gonadotropin (Beta hCG) ที่ส่งผลกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานเกินปกติ จึงเกิดอาการคล้ายต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น เหงื่อออกมาก ใจสั่น มือสั่น หิวบ่อย ผอมลง

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งรกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งรกได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการตั้ง ครรภ์ ประวัติการคลอดบุตร ประวัติประจำเดือน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายในที่พบเลือดออกจากมดลูก และมดลูกมีขนาดโต
  • แต่ที่สำคัญ คือ
    • การตรวจเลือด ดูค่าสารมะเร็ง ที่ชื่อ Beta hCG และ
    • การขูดมดลูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อที่ได้จากขูดมดลูก

และเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งรก จะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาระยะโรค เช่น

  • เอกซเรย์ปอดดูโรคแพร่กระจายมายังปอด
  • การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ ดูโรคแพร่กระจายมา ตับ ในช่องท้อง และ/หรือ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ สมอง และ/หรือ ช่องท้อง ดูโรคแพร่กระจายสู่สมอง และ/หรือในช่องท้อง ตามลำดับ

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงของโรค?

ปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค หรือตัวบอกการพยากรณ์โรคที่รุนแรงได้แก่

  • อายุ: ถ้าเกิดในอายุตั้งแต่40ปีขึ้นไป โรครุนแรง
  • ถ้าเกิดในคนมีประวัติครรภ์ไข่ปลาอุก การพยากรณ์โรคดีกว่าเมื่อเกิดในคนเคยแท้งบุตร มาแล้ว และการพยารณ์โรคไม่ดีถ้าเกิดในคนครรภ์ปกติ
  • ระยะเวลาเกิดโรค: ยิ่งเกิดโรคนานหลังตั้งครรภ์ โรคยิ่งรุนแรง โดยถ้าเกิดโรคภายใน 4เดือนหลังตั้งครรภ์ โรครุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่เกิดโรคนานกว่านี้ และโรครุนแรงที่สุดเมื่อโรคเกิดหลังตั้งครรภ์ 12 เดือนขึ้นไป
  • เซลล์มะเร็งสร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า HCG (Human chorionic gonadotropin) ถ้าระดับฮอร์โมนนี้ในเลือดยิ่งสูง ความรุนแรงโรคยิ่งสูง และสูงมากเมื่อค่าฮอร์โมนนี้สูงตั้งแต่ 1แสนหน่วยขึ้นไป
  • ขนาดของก้อนมะเร็ง: ยิ่งก้อนโตมากกว่า3ซม.โรคยิ่งรุนแรง และจะรุนแรงมากเมื่อก้อนโตตั้งแต่ 5ซม.ขึ้นไป
  • ตำแหน่งอวัยวะที่โรคแพร่กระจาย: ถ้าแพร่กระจายสู่ปอด โรครุนแรงน้อย โรครุนแรงสูงสุดเมื่อโรคแพร่กระจายสู่ สมอง และ/หรือ ตับ
  • จำนวนอวัยวะที่โรคแพร่กระจาย: ยิ่งแพร่กระจายหลายอวัยวะ โรคยิ่งรุนแรง และรุนแรงสูงสุดเมื่อแพร่กระจายมากกว่า 8 อวัยวะ
  • การไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ซึ่งโรครุนแรงสูงมากถ้าไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดตั้งแต่2ชนิดขึ้นไป

มะเร็งรกมีกี่ระยะ?

มะเร็งรกแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งทั่วไป นอกจากนั้นยังต้องนำปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค(ดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยต่อความรุนแรงฯ’)มาร่วมจัดระยะโรคด้วย

ระยะโรคหลักทั้ง 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะ 1: โรคเกิดเฉพาะในมดลูก และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค
  • ระยะ 2: โรคลุกลามเช้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะเพศในอุ้งเชิงกราน เช่น ช่องคลอด รังไข่ ท่อนำไข่ และ/หรือมีปัจจัยต่อความรุนแรงโรคระดับปานกลาง
  • ระยะ 3: โรคแพร่กระจายเข้าสู่ปอด
  • ระยะ 4: โรคแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่ปอด เช่น ตับ สมอง หรือแพร่กระจายสู่หลายอวัยวะ และ/หรือ มีปัจจัยต่อความรุนแรงโรคสูง/สูงมาก

อนึ่ง มะเร็งรก มักไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นในระยะโรคจึงมักไม่กล่าวถึงการลุก ลามเข้าต่อมน้ำเหลือง แต่ถ้ามีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง มักจัดเป็นโรคระยะที่ 4

รักษามะเร็งรกอย่างไร?

การรักษามะเร็งรกขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ระยะโรค, ปริมาณฮอร์โมน Beta hCG ที่ขึ้นสูงในเลือด, และการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้การรักษาหลักในมะเร็งรก คือ ยาเคมีบำบัด เพราะเป็นมะเร็งที่โดยทั่วไปธรรมชาติของโรคตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด ส่วนการผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป และในส่วนของยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษาทางการแพทย์ ยังไม่มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน

ก. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด:

  • มักให้ยาเคมีบำบัดเพียงชนิดเดียว ในผู้ป่วยที่มีฮอร์โมน Beta hCG ต่ำ และเป็นโรคในระยะที่ 1 หรือ 2
  • แต่ถ้าเป็นโรคในระยะที่ 3, 4 หรือมีปริมาณ Beta hCG สูง หรือโรคตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัดชนิดเดียว แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน

อนึ่ง ระยะเวลาในการรักษา หรือจำนวนครั้งของยาเคมีบำบัด จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยประเมินจาก ระยะโรค, ปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค, และการตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด

ข. การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก: แพทย์จะพิจารณาจาก อายุผู้ป่วย, การมีบุตรเพียงพอแล้ว, การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด, การควบคุมเลือดออกจากมดลูกได้หรือไม่ (ด้วยยาเคมีบำบัด), และมีการติดเชื้อในมดลูกร่วมด้วยหรือไม่

ค. รังสีรักษา: จะพิจารณาให้การรักษา ในกรณีก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ และก้อนเนื้อไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด เช่น การแพร่กระจายมายังช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศภายนอก (เช่น แคมเล็ก หรือ แคมใหญ่ เป็นต้น)

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งรก ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมะเร็งรก จะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งรกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มะเร็งรก เป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดได้ดีมาก ดังนั้นการพยากรณ์โรคจึงอยู่ในขั้นดีถึงดีมากถึงแม้ในระยะที่มีโรคแพร่กระจาย โดย

  • ในโรคระยะที่ยังไม่แพร่กระจาย หรือแพร่กระจายไปปอดเพียงอวัยวะเดียว อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 80-95%
  • ส่วนโรคในระยะที่ 4 ที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50-60%

อนึ่ง:

  • อย่างไรก็ตาม หลังการรักษาหาย โรคอาจย้อนกลับคืนได้ ซึ่งถ้าจะมีการย้อนกลับเป็นอีก มักเกิดภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปีหลังครบการรักษาครั้งแรก
  • ทั้งนี้โอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำมักพบใน
    • ผู้ป่วยโรคระยะที่ 4
    • ผู้ป่วยที่มีปริมาณ Beta hCG ในเลือดสูงมากตั้งแต่แรกวินิจฉัย และ/หรือ
    • ผู้ป่วยที่ตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัด
  • มะเร็งรกที่เกิดนอกมดลูก การพยากรณ์โรคจะไม่ดี เพราะโรคมักดื้อต่อยาเคมีบำบัด

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรกไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรก แต่ในผู้ป่วยที่มีครรภ์ไข่ปลาอุก ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งรก แพทย์จะนัดผู้ป่วยเป็นระยะๆต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี เพื่อการตรวจเลือดดูค่า Beta hCG เพื่อการวินิจฉัยมะเร็งรกให้ได้ตั้งแต่ในระยะแรก ที่จะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดีมาก

ป้องกันมะเร็งรกอย่างไร?

การป้องกันมะเร็งรก คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งรกอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งรก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดมาก ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้/อาเจียนทุกครั้งที่กิน/ดื่ม วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. https://www.cancer.org/cancer/gestational-trophoblastic-disease/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019,Jan12]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Choriocarcinoma [2019,Jan12]
  4. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/gestational-trophoblastic-disease-gtd/persistent-trophoblastic-disease-ptd-choriocarcinoma/survival [2019,Jan12]