ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 3 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานอย่างไร?
- ภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็งใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง?
- ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
- ควรสอบถามอะไรบ้างจากแพทย์ก่อนเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธียาภูมิคุ้มกันบำบัด?
- เมื่อเริ่มต้นการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดควรแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมเข้ารับการบริหารยา/สารภูมิต้านทานตามกำหนดเวลาต้องทำอย่างไร?
- การรักษาโดยยาภูมิคุ้มกันบำบัดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer immunotherapy หรือ Immuno-oncology) คือ ยารักษาโรคมะเร็งที่ช่วยส่งเสริมให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายผู้ป่วยสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ ทั้งในการกำจัด และการควบคุมเซลล์มะเร็ง กล่าวคือ รักษา ควบคุม และป้องกัน, ทั้งนี้ ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง จัดเป็นการรักษาในประเภท 'ชีวบำบัด/ชีวสารรักษา (Biotherapy)'
การวิจัยและพัฒนารักษาโรคมะเร็งในอดีตมุ่งเน้นการสังเคราะห์และการค้นหาสารต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวยาที่มีฤทธิ์ทำลาย/ฆ่าเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดียาที่วิจัยและค้นพบในอดีตมักมีความไม่จำเพาะเจาะจง กล่าวคือ มีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งรวมไปถึงเซลล์ปกติด้วย จึงก่อ ให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆ
การวิจัยและค้นหาวิธีรักษาโรคมะเร็งสมัยใหม่มุ่งเน้นการค้นหาตัวยาหรือวิธีการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงแก่ตัวเซลล์มะเร็งมากขึ้น เพื่อลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติที่อาจเกิดขึ้นจากยานั้นๆ โดยหนึ่งในวิธีการที่มีการวิจัยในปัจจุบัน คือ ‘ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)’ โดยอาศัยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (ภูมิคุ้มกันฯหรือภูมิต้านทานฯ)ในร่างกายเองในการทำลายเซลล์มะเร็ง
ระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อนอย่างมาก นอกจากมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันฯยังมีหน้าที่ในการกำจัดเซลล์ที่มีลักษณะผิด ปกติเช่น เซลล์เนื้องอกรวมไปถึงเซลล์มะเร็งด้วย ด้วยคุณสมบัตินี้เองจึงมีการวิจัยวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งที่เรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง’
อนึ่ง: ยาบางชนิดที่นำมาใช้ในวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดที่รวมถึงยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็งนั้นเป็น 'ยาชีววัตถุ (Biologics, สารที่ได้จากสิ่งมีขีวิต)' หรือยาที่มีต้นกำเนิดจากสารสกัดจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจเรียกวิธีการรักษาด้วยาชีววัตถุเหล่านี้อีกอย่างหนึ่งว่า ‘ชีวบำบัด’ ซึ่งในโรคมะเร็งจะเรียกว่า ‘Cancer biotherapy’
ปัจจุบันมีการวิจัยทางภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็งอย่างกว้างขวาง และมีการพัฒนาตัวยาหลายชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยเอง ให้ใช้ในผู้ป่วยในโรคมะเร็งบางชนิดได้
ภูมิคุ้มกันบำบัด ถือเป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่จะยกระดับการรักษา เพิ่มทางเลือก และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ ยังมีราคาแพงมาก และยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ด้วยตัวยาเดียว ปัจจุบันจึงมักยังใช้ร่วมกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีมาตรฐาน คือ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานอย่างไร?
ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) เป็นระบบที่มีความซับซ้อน เพื่อให้เข้าใจหลักการหรือ กลไกของภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันพื้นฐานของร่างกายเสียก่อน
ระบบภูมิคุ้มกันประกอบไปด้วยอวัยวะ/เซลล์ (เช่น ต่อมน้ำเหลือง) และสารภูมิต้านทานต่างๆ ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อโรคหรือต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันฯจะไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและทำการกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมด้วยวิธีการต่างๆ
โดยปกติทั่วไป เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันฯจะไม่ทำลายเซลล์ของร่างกายเนื่องจากมีความ สามารถในการจดจำเซลล์ของร่างกายได้ ซึ่งในที่นี้/ในบทความนี้ "ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง" สิ่งแปลกปลอมที่ระบบภูมิคุ้มกันฯสามารถตรวจจับได้รวมไปถึงเซลล์ของร่างกายที่มีความผิดปกติ คือ ‘เซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็ง’
ระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆขึ้นเพื่อตอบสนองเมื่อได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งแปลกปลอมโดย
- อาจเป็นไปอย่าง “ไม่จำเพาะเจาะจง” เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง (Nonspecific Immunity)” กล่าวคือเป็นภูมิคุ้มกันฯที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันจากแอนติเจน (Antigen) หรือสิ่งแปลกปลอมทั่วๆไปไม่มีความจำเพาะเจาะจง หรือภูมิคุ้มกัน
- อีกประเภทหนึ่งคือ “ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Specific Immunity)” โดยภูมิคุ้มกันฯประเภทนี้จะตอบสนองต่อแอนติเจนหรือต่อสิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะเจาะจงโดยเป็นแอนติเจนที่ระบบภูมิคุ้มกันฯ’แบบไม่เจาะจง’ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่ง การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย’แบบเจาะจงนี้ ยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
ก. ชนิดมีการทำงาน 'แบบพึ่งเซลล์' (Cell-medicated Immunity, CMI): ซึ่งเป็นการ 'พึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาว' ชนิดทีลิมโฟไซต์หรือทีเซลล์ (T lymphocytes หรือ T cell) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่งโดยมีความสามารถจดจำแอนติเจนหรือสารก่อภูมิต้านทานเมื่อมาเกาะที่ผิวของเซลล์และจะจดจำตอบสนองต่อแอนติเจนอย่างเฉพาะเจาะจงเมื่อตรวจพบสารแปลกปลอมดังกล่าว ในอนาคต
ข. ชนิดมีการทำงาน 'แบบพึ่งสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี' (Antibody Immunity): ซึ่งเป็นการ 'พึ่งสารโปรตีน' ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันร่างกาย สารภูมิต้านทานฯชนิดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin; Ig/ไอจี) มี 5 ชนิดได้แก่ IgA, IgD, IgE, IgG และ IgM แต่ชนิด ที่สำคัญและมีบทบาททำให้เกิดอาการแพ้/ภูมิแพ้คือ ชนิดอี (IgE)
ภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคมะเร็งใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง?
ในปัจจุบันมีการนำวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น
- มะเร็งต่อมลูกหมาก : เช่น ยาซิฟูลูว์เซล-ที (Sipuleucel-T)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฟอลลิคูลาร์ลิมโฟมา (Follicular lymphoma): เช่น ยาริทูซิแมบ (Rituximab) และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) เช่น ยาอิบริทูโมแมบ ไทออกซีแทน (Ibritumomab Tiuxetan)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรังชนิดบีเซลล์ (B-cell chronic lymphocytic leukemia; B-CLL): เช่น ยาอะเลมทูซูแมบ (Alemtuzumab), ยาโอฟาทูมูแมบ (Ofatamumab)
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มะเร็งไฝระยะแพร่กระจาย : เช่น ยาอิพิลิมูแมบ (Ipilimumab), ยาเพมโบรลิซูแมบ (Pembrolizumab)
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non-small Cell Lung Cancer): เช่น ยานิโวลูแมบ (Nivolumab)
- มะเร็งไต : เช่น ยาอินเตอร์ลิวคิน (Interleukins) และอินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
ภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมาในการรักษาโรคมะเร็งแบ่งออกตามกลไกและชนิดของเซลล์ภูมิคุ้มกันได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies; mAbs): ตัวยาชนิดนี้เป็นแอนติบอดี /สารภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งมีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยสามารถจดจำสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิต้านทาน และกระตุ้นการทำ งานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้าทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น
โมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นแอนติบอดีที่ได้รับการพัฒนาให้มีความจำเพาะต่อสิ่งแปลกปลอม โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบให้โมโนโคลนอลแอนติบอดีแต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งชนิดที่แตกต่างกันไป
โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่นำมาใช้รักษามะเร็งแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
- โมโนโคลนอลแอนติบอดีบริสุทธิ์ (Naked Monoclonal Antibodies) หรือโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ได้รับการออกแบบให้มีความจำเพาะเจาะจงต่อสิ่งแปลกปลอมหรือต่อแอนติเจนชนิดต่างๆโดย ไม่มีการเพิ่มเติมสารอื่นๆลงไปในแอนตีบอดี โดยตัวอย่างยาที่จัดเป็นโมโนโคลนอลแอนตีบอดีบริสุทธิ์ เช่น
- ยาอะเลมทูซูแมบ (Alemtuzumab): ที่มีความจำเพาะต่อสิ่งแปลกปลอมหรือต่อแอน ติเจนที่ชื่อ ซีดี52 (CD52) บนผิวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (Chronic Lympholytic Leukemia; CLL)
- ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab): ที่มีความจำเพาะกับโปรตีนเอชอีอาร์ 2 (HER2 หรือเฮอร์ทู) บนเซลล์มะเร็งเต้านม
- โมโนโคลนอลแอนติบอดีผสม (Conjugated Monoclonal Antibodies): เป็นการรวมยาเคมีบำ บัด สารกัมมันตรังสี หรือสารอื่นๆที่นำมาใช้รักษามะเร็งเข้ารวมกับโมโนโคลนอลแอนตีบอดีเพื่อให้ เกิดความจำเพาะในการส่งยาเข้าสู่เป้าหมายหรือเข้าสู่เซลล์มะเร็งโดยตรงเนื่องจากโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีความสามารถในการจดจำสิ่งแปลกปลอมนั้นๆได้ ซึ่งยาในกลุ่มนี้แบ่งย่อยได้ดังนี้ เช่น
- การใช้สารกัมมันตรังสีกับแอนตีบอดี: โดยการใช้สารกัมมันตรังสีขนาดเล็กๆเข้ารวมกับแอน ตีบอดีเพื่อให้แอนตีบอดีทำหน้าที่นำส่งสารกัมมันรังสีสู่เซลล์เป้าหมายเช่น ยาอิบริทูโมแมบ ไทออกซีแทน (Ibritumomab tiuxetan) ที่ใช้สารกัมมันตรังสีชื่อ ยิตเทรียม (Yttrium) จับกับโมโนโคลนอลแอนตีบอดีที่มีความจำเพาะต่อแอนติเจนที่ชื่อ ซีดี 20 (CD 20) บนผิวเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อ บีเซลล์ (B cell) ซึ่งใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินชนิดบีเซลล์ (B Cell Non-Hodgkin Lymphoma)
- การใช้ยาเคมีบำบัดกับแอนตีบอดี (Chemolabeled antibodies) โดยการนำยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์สูงมาเข้ารวมกับโมโนโคลนอลแอนตีบอดีเพื่อให้เกิดการนำส่งยาสู่เป้าหมายอย่างจำ เพาะเจาะจง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงจากยานี้เช่น ยาเบรนทูซิแมบ วิโดทิน (Brentuximab vedotin) ที่ใช้แอนตีบอดีที่มีความจำเพาะกับตัวรับ (Receptor) หรือแอนติเจนที่ชื่อ ซีดี 30 (CD30) บนผิวเซลล์เม็ดเลือดขาวนำมาใช้ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma)
2. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ (Non-specific Immunotherapies): เป็นการใช้ภูมิคุ้มกันฯในการรักษาโรคมะเร็งแต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่ใช้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันฯทั่วไปของร่างกายเพื่อให้นำไปสู่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันฯต่อเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพและว่องไวยิ่งขึ้น
ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะสามารถแบ่งออกได้ตามชนิดของสารภูมิต้านทานที่ใช้ในการรักษา: เช่น
- ไซโตไคน์ (Cytokines): เป็นสารชีวเคมีที่เม็ดเลือดขาวสร้างขึ้นเพื่อให้ร่างกายมีความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม การได้รับยาสารไซโตไคน์อาจได้รับโดยการฉีดยานี้เข้าใต้ผิว หนัง เช้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำ ขึ้นอยู่กับชนิด สภาวะของโรค และดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- อินเตอร์ลิวคินส์ (Interleukins; IL): เป็นกลุ่มของไซโตไคน์ที่ทำหน้าที่ช่วยในการสื่อสารระหว่าง เซลล์เม็ดเลือดขาว โดยพบว่าอินเตอร์ลิวคินส์ชนิดย่อยที่เรียกว่า อินเตอร์ลิวคินส์-2 (IL-2) มีความ สัมพันธ์กับการกระตุ้นการเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกันฯ ปัจจุบันมีการใช้ยาอินเตอร์ลิว คินส์-2 ในการรักษามะเร็งไตขั้นรุนแรง (Advanced Kidney Cancer) และมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มะเร็งไฝ (Melanoma) ระยะแพร่กระจาย
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferons; INF): เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็ง ยากลุ่มนี้มี 3 ชนิดย่อย (Type I/INF-alpha, Type II/INF-gamma และ INF type III) โดยพบว่าอินเตอร์เฟอรอน-แอลฟา (INF-alfa) มีคุณสมบัติในการรักษามะเร็งโดยการเพิ่มระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายและช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งได้นำมาใช้ในการรักษามะเร็งชนิดต่างๆเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) บางชนิด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) บางชนิด มะเร็งไต (Kidney Cancer) มะเร็งเมโลโนมา (Melanoma) และมะเร็งคาโปซี (Kaposi’s Sar coma)
- บาซิลลัส แคลแมตต์-เกริน (Bacillus Calmette-guérin): หรือวัคซีนบีซีจีที่ใช้ในการกระตุ้นการ ตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบโดยใช้หยดเข้ากระเพาะปัสสาวะเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะเริ่มเป็น (มะเร็งระยะศูนย์/Stage 0)
3. การยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors): โดยปกติ ระบบภูมิคุ้มกันจะมีระบบย่อยเพื่อควบคุมและสั่งการให้มีการทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกายเรียกระบบนี้ว่า อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint) ในบางกรณีเซลล์ มะเร็งอาศัยระบบนี้ในการป้องกันตัวเองจากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย นักวิทยา ศาสตร์จึงมีการพัฒนายาในกลุ่มนี้ขึ้นเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายเกิดการกระตุ้นและสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ง่ายยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น ยาอิพิลิมูแมบ (Ipilimumab) ที่นำมาใช้รักษามะเร็งไฝ, และยาอะทีโซลิซูแมบ (Atezolizunab) ทีนำมาใช้รักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
4. วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines): วัคซีนโรคมะเร็งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู่กับเซลล์มะเร็งได้โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายให้สามารถจดจำเซลล์มะ เร็งและสามารถทำลายโปรตีนที่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ
- วัคซีน 'ป้องกัน' โรคมะเร็ง: เช่น วัคซีนมะเร็งปากมดลูก, วัคซีนมะเร็งปากมดลูกชนิดที่ป้องกันมะเร็งอวัยวะเพศหญิงได้, และวัคซีนตับอักเสบบี ซึ่งใช้ป้องกันมะเร็งตับ เป็นต้น
- วัคซีน 'รักษา' โรคมะเร็ง: เป็นวัคซีนที่ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำลายสิ่งแปลกปลอม/เซลล์มะ เร็งของระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น เช่น ยาซิฟูลูว์เซล-ที (Sipuleucel-T) ที่ช่วยรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
ควรสอบถามอะไรบ้างจากแพทย์ก่อนเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัด?
หากแพทย์แนะนำการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯเพื่อรักษามะเร็งของผู้ป่วย ผู้ป่วย/ญาติควรสอบถามแพทย์ถึงรูปแบบและกระบวนการรักษาเพื่อให้เข้าใจวิธีรักษาอย่างครบถ้วน เช่น
- รูปแบบยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯชนิดใดที่แพทย์แนะนำ
- ทำไมถึงแนะนำรูปแบบยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯนั้นๆ
- เป้าหมายของการรักษาคืออะไร?
- จะใช้วิธีการอื่นใดร่วมในการรักษาหรือไม่เช่น ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา หรือใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯเพียงวิธีเดียว
- มีวิธีการให้ยาหรือให้สารภูมิคุ้มกันบำบัดฯอย่างไร? ต้องให้บ่อยแค่ไหน?
- ยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
- วิธีการรักษาจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน หรือการออกกำลังกาย หรือไม่ อย่างไรบ้าง?
เมื่อเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด ควรแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อจะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันฯร่างกาย เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาไมโคฟิโนเลต (Mycophenolate) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) และยาเสตียรอยด์ รวมไปถึงยาเคมีบำบัดอื่นๆ หากมีการใช้ร่วมอยู่
- ประวัติโรคต่างๆทั้งโรคที่เป็นมาในอดีตและโรคต่างๆที่เป็นอยู่
- แจ้งให้แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบหากกำลังอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์, วางแผนที่จะตั้งครรภ์, หรือให้นมบุตร, เนื่องจากสารหรือยาบางชนิดที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดฯอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
หากลืมเข้ารับการบริหารยา/สารภูมิต้านทานตามกำหนดเวลาต้องทำอย่างไร?
หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ใช้ยาหรือใช้สารภูมิต้านทานที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดฯตามกำหนดนั้น ให้แจ้งให้แพทย์/พยาบาลผู้ทำการรักษาทราบโดยทันที โดยอาจติดต่อไปยังสถานพยาบาลที่ท่านกำลังเข้ารับการรักษาอยู่และทำการนัดหมายวันได้รับยาฯโดยเร็วที่สุด
การรักษาโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
โดยทั่วไปการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดฯอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลไม่พึงประ สงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประการที่อาจเกิดจากสาเหตุได้ในหลายประการ เช่น อา การเหนื่อยล้า คลื่นไส้ มีแผลในช่องปาก ท้องเสีย ความดันโลหิตสูงขึ้น ขา/เท้าบวม มีไข้ ปวดหัว, ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีนี้จะค่อยๆลดลงไปภายหลังการรักษาครั้งแรก
อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรเฝ้าระวังและดูแลตนเอง หากอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง, รุนแรงขึ้น, หรือไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาลง, ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม 'โมโนโคลนอลแอนตีบอดี' ที่ได้รับการบริหารโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำนั้นอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนล้า วิงเวียน ปวดหัว อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ แต่ยากลุ่มนี้บางชนิดอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะของแต่ละตัวยานั้นๆเนื่องจากเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากเป้าหมายหรือ ตัวรับของยานั้นๆ เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, แผลหายได้ช้า, เลือดจับตัวรวมกันเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ง่าย ,เกิดหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด, เป็นต้น โดยปกติแพทย์จะทำการตรวจและเฝ้าติดตามอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆสม่ำเสมอ
ผู้ป่วยที่ใช้ยา 'อินเตอร์ลิวคีนส์ (Interleukins)' ในการรักษา อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เพิ่มเติมมา ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้บ้าง ในผู้ป่วยบางรายพบว่าอาจมีความดันโลหิตต่ำ รวมไปถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อย เช่น เกิดอาการปวดเค้นช่วงอก/เจ็บหน้าอก เป็นต้น, ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลหากเกิดอาการดังกล่าว
*ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้ยาหรือแพ้สารเคมีที่ได้รับระหว่างการรักษา เช่น อาจก่อให้ เกิดผื่นขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาบวม, หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก, *ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษ หรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา
*อนึ่ง: ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งแพทย์/รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
อาการไม่พึงประสงค์ที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นโดยทั่วไปจากการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการนี้มีความหลากหลาย, ละเอียดอ่อน, และแตกต่างกันไป, ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์พยาบาลและ/หรือเภสัชกรถึงอาการข้าง เคียง/อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น และ *สิ่งที่จำเป็น/อาการสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังระหว่างการได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ตัวผู้ป่วยเอง
บรรณานุกรม
- Alexander N Shoushtari, et al. Principles of Cancer Immonotherapy. UpToDate.
- Eggermont AM, Schadendorf D. Melanoma and immunotherapy. Hematol. Oncol. Clin. North Am. 2009 ; 23 (3): 547–64, ix–x.
- Gardner TA, Elzey BD, Hahn NM. Sipuleucel-T (Provenge) autologous vaccine approved for treatment of men with asymptomatic or minimally symptomatic castrate-resistant metastatic prostate cancer". Human Vaccines & Immunotherapeutics. 2012; 8 (4): 534–9.
- Lynnette Atwood, et al. Understanding Cancer Immunotherapy (Second Edition). The Society for Immunotherapy of Cancer (SITC) 2015.
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/immunotherapy/what-is-immunotherapy.html [2022,Sept3]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/immunotherapy/monoclonal-antibodies.html [2022,Sept3]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/immunotherapy.html [2022,Sept3]
- https://www.cancercenter.com/treatment-options/precision-medicine/immunotherapy [2022,Sept3]
- https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/immunotherapy-and-vaccines/what-immunotherapy [2022,Sept3]
- https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/immunotherapy-and-vaccines/what-are-cancer-vaccines [2022,Sept3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cytokine [2022,Sept3]