ภาวะขาดไอโอดีน (Iodine deficiency)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ร่างกายต้องการไอโอดีนวันละเท่าไร?
- ไอโอดีนมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
- ภาวะขาดไอโอดีนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ภาวะขาดไอโอดีนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไอโอดีนได้อย่างไร?
- รักษาภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?
- ภาวะขาดไอโอดีนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ไฟโบรซีสติคเต้านม หรือ ซีสต์เต้านม (Fibrocystic breast)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- คอพอก (Goitre)
- ยาโรคไทรอยด์ (Thyroid medication)
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (Potassium iodide)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ภาวะขาดไอโอดีน (Iodine deficiency) คือ โรค-อาการ-ภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายได้รับธาตุอาหารไอโอดีน (ใช้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) ไม่เพียงพอ, ต่อมไทรอยด์จึงไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน(ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์)ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงส่งผลให้เกิดโรค หรือ อาการ หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น คอพอก, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, กลุ่มอาการขาดไอโอดีนแต่กำเนิด, เป็นต้น
ภาวะขาดไอโอดีน เป็นภาวะพบบ่อยในภูมิภาคที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล หรือห่างไกลจากทะเลมากๆ เนื่องจากในดินจะมีไอโอดีนอยู่น้อย
ภาวะขาดไอโอดีนพบทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้โอกาสเกิดภาวะนี้ใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่มักพบ อาการในเพศหญิงมากกว่า
ไอโอดีน: เป็นธาตุอาหาร/เกลือแร่ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของเกลือโซเดียมไอโอดายด์ (Sodium iodide) หรือเกลือ โพแทสเซียม-ไอโอไดด์ (Potassium iodide) โดยไอโอดีนเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร/น้ำดื่มเท่านั้น
อาหารที่ 'มีไอโอดีนอุดมสมบูรณ์' คือ อาหารทะเล สาหร่ายทะเล อาหารที่ใช้เกลือทะเล/เกลือแกงเพื่อเพิ่มความเค็ม เช่น ขนมปัง น้ำผลไม้กล่อง เนย โยเกิรต์ นม นมถั่วเหลือง และอาหารเช้าซีเรียล (Cereal)ที่เพิ่มเสริมอาหารด้วยธาตุอาหารไอโอดีน
ร่างกายดูดซึมไอโอดีนในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็กตอนบน หลังจากดูดซึม ไอโอดีนจะเข้าสู่กระแสเลือด เซลล์ต่อมไทรอยด์จะจับกินไอโอดีน เพื่อนำไปสร้างเป็นไทรอยด์ฮอร์โมน โดยไอโอดีนส่วนเกินส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางไตในน้ำปัสสาวะ และส่วนน้อยทางอุจจาระ และทางเหงื่อ
ร่างกายต้องการไอโอดีนวันละเท่าไร?
ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณไอโอดีนที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ปีค.ศ. 2019 คือ
อายุ | ปริมาณไอโอดีน (ไมโครกรัมต่อวัน) |
0 ถึง 6 เดือน 7-12 เดือน 1-8 ปี |
110 130 90 |
ผู้ชาย | |
9 ถึง 13 ปี 14 ถึง มากกว่า (>) 70 ปี |
120 150 |
ผู้หญิง | |
9 ถึง 13 ปี 14 ถึง > 70 ปี |
120 150 |
หญิงตั้งครรภ์ | |
14 ถึง 50 ปี | 220 |
หญิงให้นมบุตร | |
14 ถึง 50 ปี | 290 |
ไอโอดีนมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
ไอโอดีนเป็นธาตุอาหารสำคัญ และจำเป็นต่อร่างกายในทุกๆช่วงอายุ ตั้งแต่แรกปฏิสนธิ เป็นเด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายนำไอโอดีนไปใช้โดยผ่านทางต่อมไทรอยด์ ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญ (ประโยชน์) คือ
- ควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย
- เพื่อการทำงานต่างๆของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ
- เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะช่วงทารกในครรภ์ต่อทุกเซลล์ของสมอง, เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน, กระดูก
- ควบคุมอุณหภูมิ ความร้อนหนาว ของร่างกาย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
นอกจากนั้น ในเพศหญิง ไอโอดีนยังอาจเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมอีกด้วย โดยมีรายงานการรักษาโรคก้อนในเต้านมชนิดที่เป็นพังผืดและถุงน้ำ (Fibrocystic breast disease, ซีสต์เต้านมใน haamor.com) โดยการให้กินไอโอดีนเสริมอาหาร ซึ่งได้ผลในผู้ป่วยบางราย
โทษ:
เมื่อได้รับ 'ไอโอดีนสูงเกินความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง' จะก่อให้เกิดโทษ/ผลข้างเคียง หรืออาการ หรือภาวะ หรือโรคต่างๆได้เช่นกัน ที่พบบ่อย คือ
- หลายคนจะเกิดการแพ้ไอโอดีน เช่น เกิดผื่นคัน หรือบางคนอาจแพ้จนอาจเกิด ภาวะช็อกได้
- บางคนอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น
- อาจเกิดกล้ามเนื้อมือและเท้า ชา อ่อนแรง
- อาจมีอาการสับสน
- อาจเกิด
- โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเพราะไอโอดีนที่มากเกินไปจะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน
- หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจากต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มผิดปกติ
- หรือภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ
- หรือโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์
- นอกจากนั้นมีบางการศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า ในบางคน การได้รับไอโอดีนมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้
ภาวะขาดไอโอดีนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ภาวะขาดไอโอดีน มักเกิดจากในอาหารที่บริโภคประจำทุกวันขาดหรือมีไอโอดีนต่ำ หรือร่างกายมีภาวะต้องการไอโอดีนสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย คือ
- อาศัยอยู่ในที่สูง หรือ ที่ห่างไกลจากทะเล เพราะดังกล่าวแล้วว่า แหล่งอาหารสำคัญของไอโอดีน คือ อาหารทะเล และเกลือทะเล ทั้งนี้เพราะในดินจะมีไอโอดีนต่ำกว่าในทะเลมาก
- คนที่ใช้เกลือสินเธาว์/เกลือจากดินเค็มเป็นประจำ
- การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร: เป็นภาวะที่ร่างกายต้องการไอโอดีนสูงขึ้นเพื่อการเจริญพัฒนาทุกเซลล์โดยเฉพาะเซลล์สมองตั้งแต่ทารกในครรภ์ และช่วยในการสร้างน้ำนม
อนึ่ง:
- *ในบางครั้ง ร่างกายไม่ได้ขาดไอโอดีน แต่ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนไปใช้ไม่ได้ เพราะอาหารหรือยาบางชนิดที่บริโภคต่อเนื่องมีคุณสมบัติต้านการจับกินไอโอดีนของเซลล์ต่อมไทรอยด์ จึงทำให้ต่อมไทรอยด์ขาดไอโอดีน จึงสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนลดลง จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการของการขาดไอโอดีน (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)ได้ ซึ่งเรียก อาหารและยาที่มีคุณสมบัตินี้ว่า ‘กอยโทรเจน(Goitrogen)’
- ยาที่มีผลข้างเคียงเป็น Goitrogen เช่น ยาโรคไทรอยด์บางชนิด, ยาจิตเวชบางชนิด
- อาหารที่มีสารกลุ่ม Goitrogen เช่น กะหล่ำ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง หัวผักกาด ข้าวฟ่าง ข้าวเดือย แต่การบริโภคอาหารเหล่านี้ด้วยการปรุงสุกจะทำลายสารตัวนี้ลงได้
ภาวะขาดไอโอดีนมีอาการอย่างไร?
อาการขาดไอโอดีนสำหรับทารกในครรภ์ คือ ร่างกายและสมองเจริญเติบโตช้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิด, และภาวะปัญญาอ่อนไปตลอดชีวิต
อาการจากขาดไอโอดีนตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เรียกว่า ‘กลุ่มอาการขาดไอโอดีนแต่กำเนิด(Congenital iodine deficiency syndrome)’ ชื่ออื่นคือ ‘สภาพแคระโง่ (Cretinism): อาการหลัก คือ เด็กจะแคระแกรน ปัญญาอ่อน ตาเข หูหนวก เป็นใบ้ และกล้ามเนื้อชักกระตุก
แต่ถ้าขาดไอโอดีนในเด็กหลังคลอดแล้ว: จะพบว่า เด็กเจริญเติบโตช้า มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจมีต่อมไทรอยด์โต (คอพอก)
อาการจากการขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่: ที่สำคัญ คือ ต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) และอาจมีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น อ้วนฉุ เชื่องช้า หัวใจเต้นผิดปกติ บวมน้ำ
แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไอโอดีนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไอโอดีน ได้จาก
- ประวัติอาการ ประวัติกินอาหารไอโอดีนต่ำหรือสูงเกินไปต่อเนื่อง ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติการกินยาต่างๆ ประวัติกินอาหารกลุ่ม 'กอยโทรเจน'
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจปริมาณไอโอดีนในน้ำปัสสาวะด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการเก็บปัสสาวะนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ และเพศ
รักษาภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะขาดไอโอดีน คือ การเสริมอาหารด้วยธาตุไอโอดีนเพื่อเพิ่มไอโอดีนในอาหารที่บริโภค เช่น ในเกลือ หรือในน้ำปลา และในอาหารต่างๆ เช่น นม นมถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) และบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ชดเชย
อนึ่ง:ในเด็ก หรือในคนที่เริ่มขาดไอโอดีน ต่อมไทรอยด์ที่โต (คอพอก) อาจยุบขนาดกลับเป็นปกติได้ภายหลังได้อาหารเสริมไอโอดีน แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ที่โตอยู่นานแล้ว หรือต่อมมีขนาดโตมาก ต่อมจะยุบลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งการรักษาคือการผ่าตัดต่มไทรอยด์
ภาวะขาดไอโอดีนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
การขาดไอโอดีนในช่วงเป็นทารกในครรภ์ และในวัยเด็ก ถือว่าสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและต่อสมอง/ภาวะเชาว์ปัญญา ดังได้กล่าวแล้ว แต่การขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่ มักเป็นภาวะที่รักษาได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความจากเว็บ haamor เรื่อง โรคของต่อมไทรอยด์/ไทรอยด์)
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการขาดไอโอดีนจากอาหาร โดยการกินอาหารทะเล และใช้เกลือจากทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร, แต่ไม่ควรกินยาไอโอดีนเสริมอาหาร เพราะมีผลข้างเคียง/โทษได้หลายอย่าง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “ประโยชน์และโทษของไอโอดีน”
และเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ หรือเมื่อเด็กโตช้า ควรพบแพทย์เสมอเพื่อหาสาเหตุ เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันภาวะขาดไอโอดีนอย่างไร?
สามารถป้องกันภาวะขาดไอโอดีนได้โดยการกินอาหารที่มีไอโอดีนสมบูรณ์ การเลือกใช้เกลือและน้ำปลาที่ทำจากเกลือทะเลหรือเกลือที่เสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น ภาวะตั้งครรภ์ และภาวะให้นมบุตร
เมื่อวางแผนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์ เพื่อการดูแล และควรเพิ่มอาหารที่สมบูรณ์ด้วยไอโอดีนตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อสม
อนึ่ง: เนื่องจากร่างกายต้องการไอโอดีนในปริมาณไม่มาก และการกินไอโอดีนเสริมอาหารปริมาณสูงๆต่อเนื่องอาจมีโทษได้ ดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ ประโยชน์ และโทษฯ' ดังนั้นจึงไม่ควรกินไอโอดีนในรูปแบบของยาเกลือไอโอดีนเสริมอาหารโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
บรรณานุกรม
- Smith, L. (2007). Update AAP guidelines on newborn screening and therapy for congenital hypothyroidism. Am Fam Physician. 76, 439-444.
- Thurlow, R. et al. (2006). Risk of zinc, iodine and other micronutrient deficiency among school children in northeast Thailand. Eur J Clin Nutr. 60, 623-632.
- Zimmermann, M. (2009). Iodine deficiency. Endocrine Reviews. 30, 376-408.
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK545442/table/appJ_tab3/?report=objectonly [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Congenital_iodine_deficiency_syndrome [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Goitrogen [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Iodine [2022,Aug 6]
- https://www.ndhealthfacts.org/wiki/Iodine [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Iodine_deficiency [2022,Aug 6]
- https://emedicine.medscape.com/article/122714-overview#showall [2022,Aug 6]
- https://www.healthcare.uiowa.edu/path_handbook/handbook/test2821.html [2022,Aug 6]