ภาวะขาดวิตามิน เอ (Vitamin A deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะขาดวิตามินเอ(Vitamin A deficiency ย่อว่า VAD) คือภาวะที่ร่างกายมีวิตามินเอไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงก่อให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆขึ้น

ภาวะขาดวิตามินเอ เกิดได้ในคนทุกอายุ และในคนทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน โดยพบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็ก จากการขาดอาหาร โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกพบว่า ประมาณ 2.8 ล้านคนของเด็กก่อนวัยเรียนในประเทศเหล่านี้ เสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามินเอ

ทั้งนี้ การได้รับวิตามินเออย่างพอเพียงในเด็กในช่วงอายุ 6-59 เดือน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคบางโรคได้อีกด้วย เช่น

  • ลดโอกาสเกิดโรคหัดได้ประมาณ 50%
  • ลดโรคท้องเสียได้ประมาณ 33%
  • และลดอัตราเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยต่างๆลงได้ประมาณ 23%

วิตามินเอ (Vitamin A หรือ Retinol หรือ Retinal)มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

ก. รูปแบบที่เป็นวิตามินเออยู่แล้วตั้งแต่ต้น และร่างกายดูดซึมได้เลยในลำไส้เล็กหลังการบริโภค เรียกว่า “Preformed vitamin A (Active form of vitamin A)” ซึ่งเป็นวิตามินเอ แบบที่ได้รับจากสัตว์ และ

ข. วิตามินเอในรูปแบบของ แคโรทีน (Carotene, สารกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสารกลุ่มที่เรียกว่า Carotenoid) ซึ่งที่สำคัญ คือ บีตาแคโรทีน (Beta carotene)ที่มีอยู่เฉพาะในพืชที่ให้สี เหลือง แดง ส้ม แสด โดยน้ำย่อยในลำไส้เล็กจะต้องเปลี่ยนแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอก่อนการดูดซึม ซึ่งเรียกวิตามินเอรูปแบบนี้ว่า “Provitamin A”

ดังนั้น บางครั้งการบริโภค แต่แคโรทีน ไม่บริโภคเนื้อสัตว์หรืออาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาจทำให้เกิดภาวะขาดวิตามิน เอ ได้จากการที่ร่างกายมีพยาธิสภาพบางอย่างที่ทำให้ขาดน้ำย่อยที่จะเปลี่ยนสารแคโรทีนไปเป็นวิตามิเอ โดยทั่วไป ร่างกายจะเปลี่ยน แคโรทีนไปเป็นวิตามินเอได้ประมาณ 40-60% ของแคโรทีนที่กินเข้าไป ในขณะที่ร่างกายดูดซึมวิตามินเอจากแหล่งอาหารจากสัตว์ได้ประมาณ 80-90% ดังนั้นในคนกินอาหารมังสวิรัติชนิดเคร่งครัดที่ไม่กินอาหารทุกชนิดที่มาจากสัตว์ จึงมีโอกาสขาดวิตามินเอได้สูงกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้วิตามินเอที่ร่างกายดูดซึมแล้ว ส่วนหนึ่งร่างกายจะสะสมไว้ใช้ในภายหลัง โดยสะสมไว้ที่ตับ ดังนั้นในคนที่เป็นโรคตับ จึงมีโอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินเอได้สูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนั้น บางส่วนของวิตามินเอจะถูกสะสมใน เนื้อเยื่อไขมัน ปอด และไต

แหล่งอาหาร:

วิตามินเอ มีมากในตับ และในน้ำมันตับปลา นอกจากนั้น คือ นมโดยเฉพาะชนิดที่เพิ่มวิตามินเอเป็นอาหารเสริม เนื้อสัตว์ และไข่ ส่วนในพืช คือ ในพืชที่มีสี ส้ม แดง แสด เหลือง และผักที่มีใบเชียวเข้ม เช่น แครรอด ฟักทอง มันเทศ ใบตำลึง ชะอม ใบคะน้า ผักโขม บรอกโคลี แคนตาลูป มะละกอสุก และมะม่วงสุก

วิตามินเอมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ภาวะขาดวิตามินเอ

วิตามินเอ มีหน้าที่/ประโยชน์ ในการช่วยการเจริญเติบโตและในการทำงานของเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย ทั้งผิวหนัง ฟัน กระดูก เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไขกระดูก และเยื่อบุภายในอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ คือ

  • เซลล์ของจอตาในการช่วยให้มองเห็นภาพ (การขาดวิตามินเอ จึงส่งผลให้เกิดตาบอดได้ โดยเฉพาะตาบอดหรือมองไม่เห็นในตอนกลางคืน/โรคตาบอดกลางคืน
  • และเซลล์เยื่อตา ซึ่งถ้าขาดวิตามินเอ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อตาแห้งมาก (Xerophthalmia) โดยเฉพาะเนื้อเยื่อของกระจกตา จนก่อให้เกิดแผลของกระจกตาจนถึงขั้นตาบอดได้เช่นกัน

นอกจากนั้น วิตามินเอยังมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งถ้าขาดวิตามินเอ เด็กจะมีโอกาสติดเชื้อโรคได้สูงกว่าเด็กทั่วไปถึงประมาณ 9 เท่า และมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงจนอาจส่งผลถึงการเสียชีวิตได้ เช่นใน โรคหัด และภาวะท้องเสีย

โทษจากวิตามิน เอ:

แต่การได้รับวิตามินเอเสริมอาหารสูงเกินไป ก็อาจก่อโทษได้เช่นกัน และเนื่องจากวิตามินเอ เป็นวิตามินที่ไม่ละลายน้ำ(ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามิน อี และวิตามิน เค)แต่จะละลายในไขมัน ดังนั้นจึงสะสมอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวิตามินที่ละลายน้ำ(เช่น วิตามิน บี และวิตามิน ซี) จึงมีโอกาสที่จะก่อโทษจากภาวะมีวิตามินเอสูงในร่างกายเมื่อกินวิตามินเอปริมาณสูงเสริมอาหารต่อเนื่อง

โดยอาการที่พบได้จากได้รับวิตามินเอสูง หรือสูงต่อเนื่องมีหลายอาการ ที่พบบ่อย เช่น

  • เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • กระสับกระส่าย
  • ตามัว
  • ผมร่วง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผิวแห้งมาก
  • ปาก/คอแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • คันตามตัว
  • ท้องเสีย
  • ตับอักเสบ
  • กระดูกพรุน
  • และถ้าตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการแต่กำเนิดได้

ร่างกายต้องการวิตามินเอวันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณวิตามินเอที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ปี ค.ศ. 2011 คือ

ภาวะขาดวิตามินเอมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดวิตามินเอ มีสาเหตุได้จาก ภาวะขาดอาหาร, ภาวะลดการดูดซึมวิตามินเอ, ภาวะสันดาปวิตามินเอผิดปกติ, และ/หรือภาวะที่ร่างกายต้องการวิตามินเอสูงกว่าปกติ

ก. ภาวะขาดอาหาร: เกิดขึ้นจากกินอาหารไม่มีประโยชน์ กินอาหารที่ไม่มีหรือมีวิตามินเอต่ำต่อเนื่อง ซึ่งมักเกิดจากฐานะทางเศรษฐกิจ และภาวะขาดวิตามินเอจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อร่วมกับภาวะขาดสังกะสี และภาวะขาดธาตุเหล็ก เพราะเกลือแร่/ธาตุอาหารทั้งสองชนิดช่วยในการดูดซึมวิตามินเอในลำไส้เล็ก และสังกะสียังช่วยให้ร่างกายนำวิตามินเอมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข. ภาวะลดการดูดซึมวิตามินเอ: มักเกิดจากการมีโรคของลำไส้เล็ก เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง นอกจากนั้น เนื่องจากวิตามินเอ เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ในการดูดซึมจึงจำเป็นต้องใช้น้ำย่อยอาหารจากตับและจากตับอ่อน ดังนั้นถ้ามีโรคตับเรื้อรัง (เช่น โรคตับแข็ง) และ/หรือ โรคตับอ่อนเรื้อรัง (เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง) ก็จะส่งผลให้ลำไส้ลดการดูดซึมวิตามินเองลง

ค.ภาวะสันดาปวิตามินเอผิดปกติ: ภาวะสันดาปวิตามินเอ คือ กระบวนการที่ร่างกายจะนำวิตามินเอไปใช้ ซึ่งแอลกอฮอล์จะเป็นตัวขัดขวางกระบวนการนี้ ดังนั้นจึงมักพบการขาดวิตามินเอ ในผู้ที่ติดสุรา(โรคพิษสุรา)

ง.ภาวะร่างกายต้องการวิตามินเอเพิ่มมากกว่าปกติ: ที่สำคัญคือในเด็กอ่อน และในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเมื่อมีไข้บ่อย หรือเป็นโรคหัด และท้องเสีย นอกจากนั้น คือในหญิงให้นมบุตร แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ร่างกายต้องการวิตามินเอเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือถือว่าไม่ได้ต้องการเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องเสริมอาหารด้วยวิตามินเอ ใช้บริโภคอาหารที่มีวิตามินเอสูงก็เพียงพอ นอกจากนั้นพบว่า การบริโภควิตามินเอเสริมอาหารในปริมาณสูงต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้ด้วย

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินเอ ได้แก่

  • เด็กอ่อน และเด็กเล็ก
  • ติดสุรา
  • โรคเรื้อรังของตับและของตับอ่อน
  • หญิงให้นมบุตร

ภาวะขาดวิตามินเอมีอาการอย่างไร?

อาการของภาวะขาดวิตามินเอ ในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อเกิดการขาดวิตามินเอเรื้อรัง อาการที่พบได้ คือ

  • ภาวะตาแห้ง
  • ตาบอดกลางคืน
  • และมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายและรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กอ่อน และเด็กเล็ก จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ประโยชน์และโทษของวิตามินเอ ซึ่งโรคต่างๆดังกล่าว เช่น
    • โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
    • โรคหัด และ
    • ท้องเสีย
  • ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น
    • ผมแห้ง
    • ผิวแห้ง
    • คันตามเนื้อตัวโดยไม่มีผื่น
    • อ่อนเพลีย
    • อาจมีภาวะซีด
    • เจริญเติบโตช้า (ในเด็ก)
    • และทารกในครรภ์อาจพิการแต่กำเนิดได้

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินเอได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินเอได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการบริโภคอาหาร
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจตา
  • อาจมีการตรวจเลือด ดูค่าวิตามินเอ หรือดูสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิตามินเอ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC)ดูภาวะซีด
    • ตรวจเลือดดูเอนไซม์การทำงานของตับ
    • หรือตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

รักษาภาวะขาดวิตามินเออย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินเอ คือ

  • การให้วิตามินเอเสริมอาหาร อาจโดยการกิน หรือการฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
  • ร่วมกับการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอสูง
  • นอกจากนั้น คือการรักษา ควบคุมโรค ที่เป็นผลข้างเคียง เช่น โรคหัด และ ท้องเสีย เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามินเอรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การขาดวิตามินเอ ถือเป็นภาวะที่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กอ่อนและในเด็กเล็ก เพราะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต และตาบอดได้

ในส่วนผลข้างเคียงจากภาวะขาดวิตามินเอ คือ

  • ตาบอดกลางคืน
  • ตาบอดจากกระจกตาเป็นแผลจากภาวะตาแห้งมาก
  • และร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจึงติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย (โดยเฉพาะในเด็กอ่อนและในเด็กเล็ก) โดยเฉพาะ
    • โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหัด
    • และโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียเรื้อรัง

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” คือ การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หลังจากนั้น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

นอกจากนั้น การดูแลตนเอง เมื่อรู้ว่ามีภาวะขาดวิตามินเอ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้อ โดยกินอาหารที่มีวิตามินเอสูง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคตับแข็ง
  • เลิก/ไม่ดื่ม สุรา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตามัวลงมาก
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีท้องเสียเรื้อรัง
    • มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามินเออย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินเอได้โดย

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามิน เอ สูง
  • เลิก/ไม่ดื่ม สุรา
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ(ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” เช่น โรคตับแข็ง เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly[2019,July13]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypervitaminosis_A[2019,July13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_A [2019,July13]
  5. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminA-HealthProfessional/[2019,July13]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_A_deficiency[2019,July13]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/126004-overview#showall[2019,July13]
  8. http://www.fao.org/docrep/004/y2809e/y2809e0d.htm[2019,July13]