ฟู้ดโคม่า หรือ ง่วงนอนหลังกินอาหาร (Food coma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ฟู้ดโคม่ามีสาเหตุจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดฟู้ดโคม่า?
- ฟู้ดโคม่ามีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยฟู้ดโคม่าได้อย่างไร?
- รักษาฟู้ดโคม่าอย่างไร?
- ผลข้างเคียงจากฟู้ดโคม่าคืออะไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันฟู้ดโคม่าอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- สมองล้า (Brain fog)
- อินซูลิน (Insulin)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- โรคซีลิแอก (Celiac disease)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ฟู้ดโคม่า(Food coma) คือ อาการง่วงนอนและอิดโรยที่เกิดตามหลังกินอาหารอิ่มแล้วนานประมาณ30นาที ซึ่งถ้าอาการไม่มากจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน หรือการเรียน ถือเป็นอาการปกติ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต(กล่าวใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’), ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัดของอาการนี้
ฟู้ดโคม่า หรือ อาการง่วงนอนหลังกินอาหาร พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงสถิติเกิด เพราะผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่มาพบแพทย์ เพราะทั่วไปถือเป็นภาวะปกติของร่างกายและอาการหายได้เอง
อนึ่ง: ฟู้ดโคม่า: ชื่ออื่น เช่น Postprandial somnolence, Postprandial sleep
ฟู้ดโคม่ามีสาเหตุจากอะไร?
ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุเกิดฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร แต่มีหลากหลายทฤษฏีที่ใช้อธิบายกลไกการเกิด/สาเหตุของอาการนี้ และเชื่อว่าน่าเกิดจะหลาย กลไกร่วมกัน ทฤษฏีต่างๆที่พอมีการศึกษาสนับสนุน เช่น
ก. ขาดสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของระบบทางเดินอาหาร: เมื่อกินอาหารปริมาณมาก/อิ่มมาก กระเพาะอาหารและลำไส้จะขยายตัวมาก จะกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติชนิดระบบประสาทพาราซิมพาเทติกที่ทำให้ร่างกายต้องการพักผ่อน(ง่วงนอน)ทำงานสูงขึ้นเกินปกติ เหนือการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกที่กระตุ้นให้ร่างกายพร้อมทำงาน จึงส่งผลให้เกิดอาการ ’ฟู้ดโคม่า’
ข. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังกินอาหาร: จากหลังกินอาหารอิ่มเกินไปโดยเฉพาะ กลุ่มแป้งและน้ำตาลสูง น้ำตาลในเลือดจะสูงมากจนตับอ่อนสร้างฮอร์โมน อินซูลิน มากเกินปกติจนส่งผลตามมาให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาการหลักคือ ง่วงนอนและอิดโรย/อ่อนเพลีย ซึ่งก็คือ ‘ฟู้ดโคม่า’
ค. การเพิ่มของสารสื่อประสาทชื่อเซโรโทนินและของฮอร์โมนชื่อเมลาโทนินจาก การเพิ่มฮอร์โมนอินซูลินและกรดอะมิโนชนิดทริปโตแฟนในเลือด: เพราะทั้งเซโรโทนินและเมลาโทนินเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการง่วงนอน/การนอนหลับ ทั้งนี้เมื่อกินอาหารอิ่มเกินไปโดยเฉพาะอาหารที่มีกรดอะมิโนชนิดทริปโตแฟนสูง(อาหาร คาร์โบไฮเดรตบางชนิด และโปรตีน) ตับอ่อนจะสร้างอินซูลินในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอินซูลินจะเป็นตัวส่งกรดอะมิโนชนิดต่างๆเข้าสู่การทำงานของกล้ามเนื้อ ยกเว้นทริปโตแฟน ดังนั้นจึงมีทริปโตแฟนในเลือดสูง ซึ่งเซลล์สมองจะนำทริปโตแฟนไปใช้ได้มากขึ้น สมองจะใช้ทริปโตแฟนโดยเปลี่ยนเป็น เซโรโทนินและเมลาโทนินที่ทำให้ง่วงนอน/นอนหลับ จึงเกิด ‘ฟู้ดโคม่า’
ง. ฮอร์โมนอินซูลินก่อภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ: การมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำจะส่งผลให้เกิด อาการอ่อนล้า/อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง หมดแรง ซึ่งคือ ‘ฟู้ดโคม่า’
จ. น้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติมากหลังกินอาหาร: น้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติจะส่งผลลดกระบวนการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัส จึงทำให้เกิดอาการง่วงนอน คือ ‘ฟูดโคม่า’
อนึ่ง: ทฤษฏีที่ได้รับการพิสูจน์จากการศึกษาแล้วว่า ’ไม่ใช่เรื่องจริง’ คือ
- ทฤษฎีเมื่อกินอิ่มเกินไป เลือดจะไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้มากขึ้น จนลดเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองจึงขาดเลือดจนก่ออาการง่วงนอนและอิดโรย
- กินไก่งวงแล้วเกิดอาการง่วงนอนเพราะไก่งวงมีกรดอะมิโนทริปโตแฟนมาก ซึ่งไม่จริงเพราะไก่งวงมีทริปโตแฟนเท่ากับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดฟู้ดโคม่า?
ปัจจัยเสี่ยงเกิดฟู้ดโคม่า เช่น
- กินอาหารอิ่มมากเกินไปโดยใช้เวลากินสั้นๆ โดยเฉพาะอาหารคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล) และ โปรตีน
- กินอาหาร และหรือดื่มเครื่องดื่ม ประเภทมีน้ำตาลที่ถูกดูดซึมได้เร็วสูง เช่น แป้งที่ผ่านการขัดสี (เช่น ข้าวสารทั่วไป) ขนมหวาน น้ำตาลทรายขาว น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงหรือใส่น้ำตาลเพิ่ม
- ดื่มน้ำน้อยเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หรือไม่ดื่มน้ำเลยระหว่างกินอาหาร และ/หรือ หลังกินอาหาร
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบร่วมด้วยขณะบริโภค เพราะแอลกอฮอล์กดการทำงานของสมอง จึงเกิดฟู้ดโคม่าได้ง่าย
- นอนหลับพักผ่อนไม่พอ, กลางคืนนอนหลับไม่สนิท
- เป็นอาการเริ่มต้นของบางโรค เช่น
- เบาหวาน
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคซีด
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- โรคซีลิแอก
(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆดังกล่าวที่รวมถึงอาการได้จากเว็บ haamor.com)
ฟู้ดโคม่ามีอาการอย่างไร?
อาการหลักของฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร คือ ง่วงนอนและอิดโรย/เพลียหลังกินอาหารมื้อหนักปริมาณมาก/กินอิ่มมาก นานประมาณ 30 นาทีโดยเฉพาะอาหารแป้งและน้ำตาลสูงและ/หรืออาหารโปรตีนสูง แต่ทั้งนี้ ทั่วไปอาการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ถือเป็นอาการปกติที่ไม่ต้องพบแพทย์ ไม่มีการรักษา เพียงแต่ปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต(จะกล่าวในหัวข้อการรักษาฯ)
*แต่อาจมีอาการอื่นๆที่เป็นสัญญาณเตือนว่า ‘ฟู้ดโคม่า’อาจเป็นอาการจากโรค(ดังกล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ)ที่ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไร ซึ่งอาการต่างๆ เช่น
- สมองล้า
- ลืมง่ายผิดปกติ
- ไม่มีสมาธิ
- สับสนง่าย
- อารมณ์แปรปรวน
- วิงเวียนศีรษะ
- เหงื่อออกมากเกินปกติ
- ตัวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ
- ร้อนวูบวาบเนื้อตัว ใบหน้า
- คลื่นไส้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการฟู้ดโคม่ามากต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน การเรียน หรือ มีอาการอื่นๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยฟู้ดโคม่าได้อย่างไร?
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร ได้จาก การซักถามอาการ และตรวจร่างกายทั่วไป
แต่อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ตามอาการ และความรุนแรงของอาการกรณีมีอาการอื่นๆร่วมด้วยและดุลพินิจของแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการของบางโรค เช่น ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด, หรือดูค่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด ฟู้ดโคม่า ดังกล่าวใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่รวมถึง การวินิจฉัย ได้จากเว็บ haamor.com)
รักษาฟู้ดโคม่าอย่างไร?
ฟู้ดโคม่าอย่างไร?
ทั่วไป การรักษา ฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต ได้แก่
ก. ปรับพฤติกรรมการบริโภค: ทั่วไป เช่น
- กินอาหารแต่ละ3มื้อหลักให้ปริมาณน้อยลง แต่เพิ่มอาหารว่างในช่วงเวลาต่างๆให้จำนวนครั้งเพิ่มขึ้น เช่น รวมทั้งหมดเป็น6มื้อ
- กินอาหารแต่ละมื้อให้หลากหลายชนิด ไม่กินอาหารคาร์โบไฮเดรต และ/หรือโปรตีน สูงมากเกินควร
- กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักใบเขียวเข้ม ถั่วต่างๆ ถั่วกินฝัก ผลไม้ชนิดไม่หวานจัด
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการกินอาหาร
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีนสูงมากเกินควร ทั่วไปไม่ควรเกินวันละ1ถ้วยกาแฟ หรือ 1ช้อนชา เพราะจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับสนิทช่วงกลางคืน
- ดื่มน้ำพอควรก่อนกินอาหาร ระหว่างกิน และหลังกินอาหาร
ข. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: เช่น
- จัดเวลาไว้นอนกลางวันหลังกินอาหารประมาณ 10 นาที
- นอนให้พอในแต่ละวัน โดยต้องมีคุณภาพของการนอนหลับ
- หลังกินอาหาร โดยเฉพาะเมื่ออิ่มมาก ควรเดินออกกำลังกายช้าๆประมาณ 15-30นาทีก่อนเริ่มทำงานเพื่อเพิ่มการใช้น้ำตาลและปรับให้น้ำตาลในเลือดสมดุลกับปริมาณอินซูลินที่ตับอ่อนสร้าง
อนึ่ง: ในกรณีอาการฟู้ดโคม่ามากจนส่งผลต่อ การใช้ชีวิตประจำวัน การงาน การเรียน และแพทย์หาสาเหตุพบ การรักษาคือการปรับพฤติกรรมฯดังกล่าวร่วมกับการรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ ฟู้ดโคม่า ดังกล่าวใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่รวมถึงการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)
ผลข้างเคียงจากฟู้ดโคม่าคืออะไร?
ผลข้างเคียงจากฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร คือ การมีผลลบต่อ
- บุคลิกภาพ
- การงาน
- การเรียน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิด ฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหาร ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ, ข้อย่อย ก.และข.’
- เมื่อมีอาการมากจนกระทบต่อ การใช้ชีวิตประจำวัน การงาน การเรียน หรือ มีอาการต่างๆร่วมด้วยดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ประเมินว่า ‘ฟู้ดโคม่า’ เป็นอาการเริ่มต้นของโรคต่างๆหรือไม่
ป้องกันฟู้ดโคม่าอย่างไร?
สามารถป้องกันฟู้ดโคม่า/ง่วงนอนหลังกินอาหารได้จากการปรับพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ, ข้อย่อย ก.และข.’