ฟีบัคโซสตัต (Febuxostat)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟีบัคโซสตัตอย่างไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟีบัคโซสตัตอย่างไร?
- ฟีบัคโซสตัตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- เกาต์ (Gout)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
บทนำ: คือยาอะไร?
ฟีบัคโซสตัต (Febuxostat) คือ ยารักษาโรคเกาต์อันมีสาเหตุจากร่างกายมีกรดยูริค(Uric acid) เกิน ยานี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) โดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยา Teijin ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจในอเมริกาและยุโรป กลไกการทำงาน/ออกฤทธิ์ของยานี้ จะเป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่าแซนทีนออกซิเดส (Xanthine oxidase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดยูริคที่เป็นปัจจัยการเกิดโรคเกาต์) ส่งผลให้กรดยูริคถูกผลิตในร่างกายได้น้อยลงจึงช่วยป้องกันอาการกำเริบของโรคเกาต์
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวในกระแสเลือดได้ประมาณ 49% จากนั้นจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดประ มาณ 99% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ก่อนการใช้ยาฟีบัคโซสตัต ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลความปลอดภัยของยาเบื้องต้นดังนี้
- เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
- ป่วยเป็น โรคตับ โรคไต หรือไม่
- เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
- มีการใช้ยา Azathioprine, Didanosine, Mercaptopurine (ยาเคมีบำบัด), และ Theophylline หรือไม่ ด้วยยากลุ่มนี้จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาดังกล่าวได้มากขึ้นหากใช้ร่วมกับยาฟีบัคโซสตัต
- ไม่ควรปรับเปลี่ยนการรับประทานยานี้เองหรือหาซื้อยาแก้ปวดชนิดอื่นมารับประทานร่วมโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- อาการข้างเคียงโดยทั่วไปได้แก่ ปวดข้อ และรู้สึกคลื่นไส้ ซึ่งหากมีอาการข้างเคียงมากจนรบ กวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ฟีบัคโซสตัตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟีบัคโซสตัตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาบำบัดและป้องกันอาการกำเริบของโรคเกาต์
ฟีบัคโซสตัตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟีบัคโซสตัตคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ แซนทีนออกซิเดส (Xanthine oxidase) ซึ่งเป็นตัวการที่เปลี่ยนสารไฮโปแซนทีน (Hypoxanthine) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์ไปเป็นกรดยูริค (Uric acid) ที่เป็นปัจจัยเกิดโรคเกาต์ จึงทำให้ปริมาณของกรดยูริคในกระแสเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการของโรคเกาต์
ฟีบัคโซสตัตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีบัคโซสตัตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 40, 80 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด
ฟีบัคโซสตัตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีบัคโซสตัตมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 40 หรือ 80 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากโรคเกาต์มักเป็นโรคของผู้ใหญ่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟีบัคโซสตัต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีบัคโซสตัตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีบัคโซสตัตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
*อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา
ฟีบัคโซสตัตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีบัคโซสตัตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการข้างเคียงที่พบบ่อย/พบทั่วไป: เช่น ท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดข้อ หรือคล้ายกับอาการเกาต์กำเริบ มีภาวะบวมตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อต่างๆ
- อาการข้างเคียงที่พบได้แต่ไม่บ่อย: เช่น เบื่ออาหาร สมรรถภาพทางเพศถดถอย นอนไม่หลับ วิงเวียน หูอื้อ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เมื่อมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี/ECG อาจพบผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการร้อนวูบวาบ ผื่นคัน เป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ เกิดนิ่วในถุงน้ำดี เกิดนิ่วในไต มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
*อนึ่ง หากมีอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ตัวบวมมาก ผื่นและลมพิษขึ้นเต็มตัว ซึ่งเป็นอาการของการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยานี้ และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ฟีบัคโซสตัตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ฟีบัคโซสตัต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับกรดยูริคในเลือดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีกรดยูริคสูงอันเนื่องมาจากการรักษาโรคมะเร็งหรือจากการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ห้ามใช้ร่วมกับยา Azathioprine, Didanosine หรือ Mercaptopurine ด้วยยาฟีบัคโซสตัตจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากยาดังกล่าวได้มากขึ้น
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีโดยแพทย์ผู้รักษาไม่ได้สั่งใช้ยา
- การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือเด็ก จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีบัคโซสตัตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟีบัคโซสตัตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีบัคโซสตัตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีบัคโซสตัต ร่วมกับยา Theophylline ด้วยจะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากตัวยา Theophylline ได้มากยิ่งขึ้น
- การใช้ยาฟีบัคโซสตัต ร่วมกับยา Naltrexone (ยาบำบัดอาการติดยาเสพติด ติดสุรา), Methotrexate จะก่อให้เกิดความเสี่ยงผลกระทบที่มีต่อตับได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาฟีบัคโซสตัตอย่างไร?
ควรเก็บยาฟีบัคโซสตัต:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟีบัคโซสตัตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีบัคโซสตัต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ADENURIC (อะเดนูริก) | Patheon France |
Feburic (ฟีบูริก) | Ajanta Pharma Ltd |
Faburas (ฟาบูราส) | Intas Laboratories Pvt Ltd |
Feboxa (ฟีโบซา) | Ranbaxy Laboratories Ltd., |
Goustat (เก๊าสตัต) | Alembic Chemical Works Co Ltd |
Segera (เซเจอรา) | Le Renon Healthcare Pvt.Ltd |
Uloric (ยูโลริก) | Takeda Pharmaceuticals America, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Febuxostat#History [2022,Feb12]
- https://www.drugs.com/mtm/febuxostat.html [2022,Feb12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/febuxostat-index.html?filter=2#D [2022,Feb12]
- https://www.drugs.com/imprints/tap-80-14070.html [2022,Feb12]
- https://www.medindia.net/drug-price/febuxostat/feburic.htm [2022,Feb12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/febuxostat?mtype=generic [2022,Feb12]