พารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด หรือ พีเอเอส (Para-aminosalicylic acid or PAS)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดอย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดอย่างไร?
- พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัณโรค (Tuberculosis)
- ยาวัณโรค หรือ ยารักษาวัณโรค (Anti-tuberculosis medication)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- วัณโรคปอดในเด็ก (Childhood tuberculosis)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
บทนำ
ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด(Para-aminosalicylic acid) ย่อว่า พีเอเอส(PAS หรือ พี/P) หรือ Sodium PAS หรือ 4-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิด (4-Aminosalicylic acid ย่อว่า 4 ASA) จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาวัณโรค ทางคลินิก เริ่มใช้ยานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) เพื่อบำบัดรักษาภาวะลำไส้อักเสบ และโรคโครห์น (Crohn’s disease) และในปี ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) จึงมีการนำมารักษาวัณโรคก่อนหน้าที่จะใช้ยา Rifampicin และ Pyrazinamide ปัจจุบันก็พบว่า ยาพีเอเอส มีความแรง (Potency) น้อยกว่ายารักษาวัณโรคที่ใช้ในปัจจุบัน (คือยา Isoniazid, Rifampicin, Ethambutol, Pyrazinamide)
ยาพีเอเอส มักใช้ต้านวัณโรค/ยารักษาวัณโรคร่วมกับยารักษาวัณโรคชนิดอื่น โดยมีขนาดรับประทานครั้งละ 2 – 4 กรัม วันละ 4 ครั้ง และควรรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์เป็นกรดจึงอาจพบเห็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียหลังจากใช้ยานี้ นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยานี้เป็นชนิดแบบออกฤทธิ์นาน (Delayed release) เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว
ข้อจำกัดบางประการในการใช้ยาพีเอเอสที่ควรทราบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเลือด จี6พีดี (G6PD deficiency) ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Haemolysis)
- ห้ามนำไปบำบัดรักษาอาการโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
- ห้ามนำไปบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคไตในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ร่วมกับยาวิตามินบี12 ด้วยจะทำให้ประสิทธิผลของวิตามินบี12 ด้อยลงไป
- การใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นที่มิได้ตอบสนองกับยานี้ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อพบเห็นอาการโรคติดเชื้อที่แทรกซ้อนเข้ามาใหม่
- การใช้ยาพีเอเอสในการรักษาวัณโรค มักต้องใช้ควบคู่ไปกับยารักษาวัณโรคตัวอื่น การใช้ยาพีเอเอสเป็นยาเดี่ยวอาจทำให้อาการของวัณโรคไม่ทุเลา
- การติดเชื้อวัณโรคจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ยาพีเอเอสก็เช่นเดียวกันเป็นยาที่ต้องใช้รักษาวัณโรคเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น หากพบว่าอาการดีขึ้น ก็ยังต้องใช้ยาต่อจนครบคอร์ส(Course)ตามแพทย์สั่ง
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้พีเอเอสเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการผู้ป่วย และยานี้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ซึ่งมีการใช้ดังนี้ “ใช้รักษา Multidrug resistant tuberculosis โดยเป็น Second-line drug” คือใช้รักษาวัณโรคร่วมกับยารักษาวัณโรคชนิดอื่นโดยใช้เป็นยาตัวเลือกกลุ่มที่สองเมื่อผู้ป่วยวัณโรคดื้อยารักษาวัณโรคกลุ่มแรก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาวัณโรค) ทั้งนี้ เรามักจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาล และหากผู้ป่วยต้องการข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์/เภสัชกรโดยทั่วไป
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด/พีเอเอส มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาวัณโรค โดยต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคชนิดอื่นตามคำสั่งแพทย์ โดย ยาพีเอเอสมักจะใช้เป็นทางเลือกลำดับถัดมา เมื่อใช้ยารักษาวัณโรคตัวอื่นแล้ว ไม่ได้ผล
- รักษาโรค Crohn’s disease
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาพีเอเอสคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดโฟลิก(Folic acid) โดยตัวยาจะเข้าจับกับเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Pteridine synthetase ในตัวแบคทีเรีย/เชื้อวัณโรค(Mycobacterium tuberculosis) และยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของตัวเชื้อวัณโรค จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เชื้อวัณโรคหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิด/พีเอเอส มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาผงแกรนูล(Granule,เม็ดเล็กๆ) ขนาดบรรจุ 4 กรัม
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่องรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ได้ในบทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม)
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด/พีเอเอส มีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาวัณโรค:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 – 4 ครั้งตามแพทย์สั่ง ควรรับประทานยาร่วมกับ อาหาร เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เช่น โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น
- เด็ก: รับประทานยา 200 – 300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 – 4 ครั้งตามแพทย์สั่ง ควรรับประทานร่วมกับ อาหาร เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เช่น โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 กรัม/วัน
ข.สำหรับรักษา Crohn’s disease:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.5 กรัม/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึง ขนาดยา ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- กรณีได้รับยานี้เกินขนาด อาจพบภาวะไตวาย พบผลึกของยานี้ในปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งแพทย์อาจบำบัดโดยให้ยา Sodium bicarbonate และเร่งการขับปัสสาวะเพื่อป้องกันการตกผลึกของยานี้(PSA sodium salt)ในปัสสาวะ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพีเอเอส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาพีเอสเอ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน ยาพีเอเอส สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทาน ยาพีเอเอส ตรงเวลา
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพีเอเอส สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจางด้วยภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะ Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวต่ำ) Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
- ผลต่อตับ: เช่น ดีซ่าน ตับอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ประสาทตาอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด/พีเอเอส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคเลือด จี6พีดี (G6PD deficiency)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ควบคุมภาวะอาการต่างๆต่อไปนี้อย่างใกล้ชิดระหว่างที่มีการใช้ยานี้ใน 3 เดือนแรก เช่น เกิดแผลในลำคอ มีไข้ มีภาวะเลือดออกง่าย คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับวัคซีนบีซีจี (BCG)
- ห้ามใช้ยามีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือ สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- กรณีใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม/ตามที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับยาพร้อมกับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดด้วย) ยาแผนโบราณ ทุกชนิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา ทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด/พีเอเอส มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพีเอเอส ร่วมกับยา Teriflunomide, Mipomersen(ยาลดไขมันในเลือด), Leflunomide, Lomitapide(ยาลดไขมันในเลือด), ด้วยจะทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของตับ/ตับอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพีเอเอสร่วมกับ ยา Deferasirox ด้วยจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเป็นเหตุให้มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย
- หลีกเลี่ยง/ห้ามใช้ยาพีเอเอสร่วมกับยา Prilocaine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ Methemoglobinemia คือภาวะทำให้ความสามารถของเลือดที่จะนำออกซิเจน ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายน้อยลง
- การใช้ยาพีเอเอสร่วมกับยา Entecavir (ยาต้านไวรัสเอชไอวี) อาจทำให้ระดับยาทั้ง 2 ตัวในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาพารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาพารา-อะมิโนซาลิไซลิกแอซิด/พีเอเอส ดังนี้ เช่น
- กรณีเป็นยารูปแบบผงแกรนูล ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส(Celsius)
- กรณียาเม็ดชนิดรับประทาน ให้เก็บตามคำแนะนำจากเอกสารกำกับยา
ทั้งนี้ ยานี้ทุกรูปบบ ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด/แสงสว่าง ความร้อนและความชื้นและไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
พารา-อะมิโนซาลิไซลิก แอซิดมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพีเอเอสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
PAS Sodium (พีเอเอส โซเดียม) | Atlantic Lab |
อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Granupas, Paser, Q-Pas, Monopas
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/4-Aminosalicylic_acid [2016,Nov19]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pas%20sodium/?type=brief [2016,Nov19]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/para-aminosalicylic%20acid/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov19]
- https://www.drugs.com/cdi/aminosalicylic-acid-controlled-release-granules-packet.html [2016,Nov19]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/aminosalicylic-acid-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov19]