ปากมดลูกตีบ (Stenosis of the uterine cervix)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ปากมดลูกตีบคืออะไร?

ในภาวะปกติ ที่คอมดลูก/ปากมดลูก(Uterine cervix)จะมีรูเปิดตรงกลาง/รูปากมดลูก(Cervical canal ) ที่ต่อจากโพรงมดลูกออกมา เพื่อเป็นทางผ่านของสิ่ง/สารคัดหลั่งจากในโพรงมดลูก และเลือดประจำเดือน ให้ไหลออกมาในช่องคลอด และออกมาภายนอกร่างกาย หากมี”การตีบแคบของรูปากมดลูก/ปากมดลูกตีบ(Stenosis of the uterine caevix หรือ Cervical stenosis)” จะทำให้สารคัดหลั่งหรือเลือดประจำเดือนไม่สามารถผ่านจากโพรงมดลูกออกมาภายนอกได้ ความรุนแรงของการตีบแคบนี้ มีตั้งแต่ตีบแคบเล็กน้อย ซึ่งไม่มีอาการผิดปกติ จนถึงรูปากมดลูกปิดสนิทจนทำให้มีอาการต่างๆตามมาได้

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดปากมดลูกตีบ?

ปากมดลูกตีบ

สาเหตุของปากมดลูกตีบ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ปากมดลูกตีบแต่กำเนิด(Congenital cervical stenosis): เกิดจากความผิดปกติด้านพัฒนาการของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด(Mullerian malformation) อาจทำให้มีการพัฒนาแต่เฉพาะตัวมดลูก แต่ไม่มีการพัฒนาเป็นปากมดลูก และไม่มีรูปากมดลูกที่เรียกว่า Cervical agenesis

2. ปากมดลูกตีบที่เกิดในภายหลัง(Acquire cervical stenosis): ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การอักเสบติดเชื้อบริเวณปากมดลูก(ปากมดลูกอักเสบ) หรือในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) ทำให้เกิดพังผืดยึดแน่นปากมดลูกตามมา จนทำปากมดลูกตีบตัน
  • การฉีกขาดของปากมดลูกจากการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น ขูดมดลูก(Dilatation and curettage), การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy), ซึ่งเมื่อมีการหายของแผลที่ฉีกขาดแบบผิดรูป หรือมีพังผืดเกิดขึ้น จะทำให้ปากมดลูกตีบได้
  • เป็นภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากการผ่าตัดปากมดลูกชนิดเป็นรูปกรวย(Conization) เพื่อใช้ในการวินิจฉัยภาวะมะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งปากมดลูกที่มีการเจริญของเนื้อเยื่อผิดปกติมาก จนส่งผลอุดตันรูคอมดลูก
  • การฉายแสง/การฉายรังสีรักษาเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก ก็ทำให้ปากมดลูกตีบได้เช่นกัน
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน รูปากมดลูกมักจะตีบแคบลง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ร่วมกับการยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อปากมดลูกหรือเมือกหล่อลื่นต่างๆ ลดลง

ผลข้างเคียงจากปากมดลูกตีบมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียง/ผลกระทบจากปากมดลูกตีบ เช่น

1. ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก จากอสุจิจะผ่านปากมดลูกเข้าโพรงมดลูกเพื่อไปผสมกับไข่ได้ยาก

2. ทำให้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน/ปวดประจำเดือน เนื่องจากเลือดประจำเดือนไม่สามารถไหลออกมาภายนอกไม่ได้ ทำให้เลือดคั่งในโพรงมดลูก (Hematometra)

3. เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลท้นเข้าไปในท่อนำไข่ และในช่องท้อง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญในอุ้งเชิงกราน และ/หรือในรังไข่

4. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง

5. คลอดบุตรยาก เนื่องจากการขยายของปากมดลูกไม่ดี

6. ทำให้ใส่เครื่องมือตรวจโพรงมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกทำได้ยากลำบาก

ปากมดลูกตีบทำให้มีอาการอย่างไร?

อาการจากปากมดลูกตีบขึ้นกับว่า ปากมดลูกตีบมากหรือตีบน้อย อาการส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่

1. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง

2. ทำให้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน เนื่องจากเลือดประจำเดือนไม่สามารถไหลออกมาภายนอกได้

3. อาจมีก้อนที่ท้องน้อย เนื่องจากโพรงมดลูกขยายมากขึ้นจากการมีเลือดประจำเดือนขังเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน

4. มีไข้ ปวดท้อง กรณีที่มีการอักเสบเกิดขึ้นในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)ที่สารคัดหลั่งต่างๆ ไหลออกมาภายนอกไม่ได้ ทำให้เกิดหนองขังอยู่ในโพรงมดลูก (Pyometra)

5. มีประจำเดือนกระปริดกระปรอย จากประจำเดือนออกไม่สะดวก หากปากมดลูกตีบไม่มากจนอุดตัน

6. ไม่มีประจำเดือน หากปากมดลูกตีบมากจนอุดตัน

7. มีบุตรยาก

8. ไม่มีอาการ: ในกรณีที่ไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก เช่น ในกรณีที่การพัฒนาเป็นมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด เยื่อบุโพรงมดลูกจึงไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศ จึงไม่มีการหลุดลอกเป็นประจำเดือน หรือกรณีที่สตรีวัยหมดประจำเดือนรูปากมดลูกอาจตีบได้ แต่ไม่มีอาการผิดปกติเพราะไม่มีประจำเดือนแล้ว

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะปากมดลูกตีบ แต่จะมีอาการต่างๆ ตามที่กล่าวมา(ในหัวข้อ “อาการฯ”)ที่ชวนให้สงสัยว่า เกิดมีภาวะปากมดลูกตีบ เช่น หลังการทำหัตถการที่ปากมดลูกแล้วไม่มีประจำเดือน หรือปริมาณประจำเดือนลดลงเรื่อยๆ หรือมีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติพร้อมกับเลือดประจำเดือนออกน้อย เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้รวมถึงอาการที่ได้กล่าวถึงในหัวข้อ “อาการฯ “ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกตีบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกตีบได้จาก

ก.ประวัติทางการแพทย์: เช่น ผู้ป่วยมีประวัติปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องขณะมีประจำเดือน(ปวดประจำเดือนเรื้อรัง) มีก้อนที่ท้องน้อย หรือ เคยมีประจำเดือนแล้วไม่มีประจำเดือน หรือไม่เคยมีประจำเดือนเลยแต่ต่อมามีปวดท้องน้อยเป็นรอบๆ ในแต่ละเดือนร่วมกับคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย โดยเฉพาะหากมีประวัติการทำหัตถการที่ปากมดลูกมาก่อน หรือการฉายแสง/ฉายรังสีรักษาเพื่อรักษาโรคบริเวณอุ้งเชิงกราน ที่ประวัติต่างๆเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยมากขึ้น

ข. การตรวจร่างกาย: เช่น แพทย์อาจคลำพบก้อนที่ท้องน้อย การตรวจภายในพบก้อนที่ปากมดลูก ปากมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ คลำพบมดลูกโตผิดปกติ

ค.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยพบว่ามีของเหลวจำนวนมากคั่งอยู่ในโพรงมดลูก โพรงมดลูกขยาย ไม่มีของเหลวในช่องคลอด และ/หรือ อาจพบว่ามีการบวมโตของท่อนำไข่ (Hydrosalpinx or Pyosalpinx or Hematosapinx)

รักษาปากมดลูกตีบอย่างไร?

การรักษาภาวะปากมดลูกตีบ มีหลายแนวทางขึ้นกับความรุนแรง ได้แก่

1. ทำการถ่างขยายรูปากมดลูกด้วย เครื่องมือถ่างขยายปากมดลูก

2. ใช้แสงเลเซอร์ หรือ ไฟฟ้า จี้ตัดส่วนที่เป็นพังผืดที่รูปากมดลูก

3. ตัดมดลูก ในผู้ป่วยที่ทำการถ่างขยายรูปากมดลูกไม่สำเร็จ

4. ในกรณีที่เป็นมะเร็งปากมดลูก และก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ ต้องพิจารณาฉายแสงเพื่อให้เนื้องอกยุบ

5. ไม่ต้องรักษาในกรณีที่ไม่มีอาการ เช่น สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือ จากการตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยไม่พบการคั่งของเลือดหรือหนองในโพรงมดลูก

หลังการรักษาแล้วสามารถเกิดปากมดลูกตีบซ้ำได้หรือไม่?

ในกรณีรักษาปากมดลูกตีบ ด้วยการใช้การถ่างขยายรูปากมดลูก หรือ การจี้ตัดพังผืดด้วยไฟฟ้า มีโอกาสที่รูปากมดลูกจะกลับมาตีบอีกได้หากมีการทำลายเนื้อเยื่อ ปากมดลูกมากเกินไป หรือ ปากมดลูกเกิดการติดเชื้อ/ปากมดลูกอักเสบ

ดูแลตนเองอย่างไรหลังการรักษา?

การดูแลตนเองหลังการรักษาปากมดลูกตีบ ได้แก่

1. ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล

2. รับประทานยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งให้ครบ ไม่หยุดยาเอง ถึงแม้อาการดีขึ้นแล้ว

3. ดูแลรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ

4. เลิกการสวนล้างช่องคลอด

หลังการรักษาควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

หลังการรักษาปากมดลูกตีบ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

1. มีไข้

2. ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ

3. มีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ หรือตกขาวเป็นหนอง

4. มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งใช้ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก

5. กังวลในอาการ

ป้องกันปากมดลูกตีบอย่างไร?

สามารถป้องกันปากมดลูกตีบได้โดย

1. หลีกเลี่ยงการขูดมดลูกซ้ำซาก

2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมี่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่มดลูก(ปากมดลูกอักเสบ และ/หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)

3. หลีกเลี่ยงการทำหัตถการต่างๆบริเวณปากมดลูก

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Stenosis_of_uterine_cervix[2017,March11]
  2. https://www.uptodate.com/contents/congenital-cervical-anomalies[2017,March11]