ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ (Sexual headache)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 10 ตุลาคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์คืออะไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์?
- ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีลักษณะอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร?
- รักษาปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์อย่างไร?
- ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์อย่างไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- ปวดศีรษะจากเครียด (Tension typed headache)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ไมเกรน (Migraine)
บทนำ
ปวดศีรษะ /ปวดหัว (Headache) เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด และน่าจะพูดได้ว่าไม่มีใครที่ไม่เคยปวดศีรษะเลยในชีวิต สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การปวดศีรษะที่ไม่มีสาเหตุร้ายแรง (Functional headache) เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากเครียด มีเพียงส่วนน้อยมากที่เกิดจากสาเหตุร้ายแรง (Organic headache) เช่น การติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง (เช่น จากโรคหลอดเลือดสมอง/โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) แต่ก็ยังมีบางสาเหตุที่พบไม่บ่อย หรือไม่เป็นที่รู้จักกัน ได้แก่ “ภาวะหรืออาการปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ (Sexual headache)”
ภาวะ/อาการปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์นี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับทุกข์ทรมาน และไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไปหาแพทย์ก็ไม่กล้าบอกว่าเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอายและ/หรือคาดไม่ถึงว่าการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ปวดศีรษะได้ เช่นเดียวกัน แพทย์เองก็อาจไม่ทราบถึงภาวะนี้ เพราะพบได้น้อย และเป็นเรื่องของแพทย์เฉพาะทาง ทำให้การรักษายิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยและคู่ครองอาจมีปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาครอบครัวตามมาได้ ดังนั้น ควรต้องติดตามบทความนี้แล้วครับ
ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์คืออะไร?
ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นระหว่างการมีกิจกรรมทางเพศไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือตนเอง, การร่วมเพศ, การทำออรอลเซ็กส์/การใช้ปากในการร่วมเพศ(Oral sex) โดยเกิดอาการปวดศีรษะได้ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์, ขณะที่ถึงจุดสุดยอด, และ /หรือภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้หลายชั่วโมง
ภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์นี้ ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นระบบมากนัก และขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัย และความร่วมมือของผู้ป่วยที่บอกประวัติว่า อาการปวดศีรษะนั้นว่า มีความสัม พันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจากการศึกษาในบางประเทศพบว่า เป็นสาเหตุของการปวดศีรษะประมาณ 0.2% ซึ่งถือว่าน้อย แต่ก็มีความสำคัญ เพราะถ้าประชาชนทั่วไปไม่ทราบว่ามีภาวะนี้ รวมทั้งแพทย์ด้วย ถ้าไม่ทราบก็ทำให้ไม่สามารถให้การรักษาภาวะนี้ได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับความทรมานอย่างมาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์?
ผู้ชายมีโอกาสมีภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ได้มากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า พบได้บ่อยช่วงอายุ 20-24 ปี และในช่วงอายุ 35-44 ปี
นอกจากนั้น ภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ ยังพบบ่อยในผู้ที่มีความเครียด ตื่นเต้นง่าย ปวดศีรษะไมเกรน ใช้ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด ใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เสพกัญชา ใช้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน และ/หรือผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีลักษณะอย่างไร?
อาการจากปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีหลายลักษณะ ได้แก่
- อาการปวดศีรษะขณะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ อาการปวดศีรษะ จะเป็นแบบปวดรัด แน่นบริเวณท้ายทอย ต้นคอ ปวดเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาการรุนแรงปานกลางไม่รุนแรงมาก อาการรุนแรงสัม พันธ์กับความรวดเร็วและความแรงของการมีเพศสัมพันธ์ ถ้ากิจกรรมดังกล่าวค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ก็จะมีอาการไม่รุนแรง ถ้าตื่นเต้นมาก เครียดมาก ก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เหตุเกิดจากกล้ามเนื้อต่างๆมีการหดรัดตัวมากขึ้น
- อาการปวดศีรษะขณะถึงจุดสุดยอด จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ระยะเวลาปวดศีรษะนานประมาณ 15-20 นาที ปวดบริเวณท้ายทอย ต้นคอ หลังเบ้าตา และอาจกระจายไปทั่วทั้งศีรษะได้ เหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วขณะถึงจุดสุดยอด
- อาการปวดศีรษะภายหลังการเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นภายหลัง เช่น เมื่อลุกขึ้นเดิน อาจเป็นได้นานหลายชั่วโมงถึงหลายวัน อาจมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่ามัว เหตุเกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา (Dura) เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของความดันในโพรงกะโหลกศีรษะอย่างรวดเร็ว (Rapid increased intracranial pressure) จากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้มีการรั่วไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid: CSF) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจากการที่มีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะลดต่ำลง (Low CSF pressure) จากการรั่วของ CSF เหมือนผู้ป่วยปวดศีรษะภายหลังการเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง/การเจาะหลัง ที่เรียกการปวดศีรษะนี้ว่า Post lumbar headache
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
กรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง เป็นบ่อยๆ มีอาการเป็นอยู่นาน มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาเจียนมองเห็นภาพซ้อน มีภาวะเสียความจำชั่วคราว (Transient amnesia) หมดสติ หรือต้องการรักษาอาการปวดศีรษะให้หายก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะ/อาการปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ได้จาก
- ประวัติอาการที่ผู้ป่วยได้เล่าให้แพทย์ทราบว่า อาการปวดศีรษะมีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์อย่างไร
- ประวัติโรคประจำตัว
- ประวัติการใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกายทั่วไป และ
- ที่สำคัญคือ การตรวจร่างกายทางระบบประสาทที่ไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทใดๆ
*ทั้งนี้ ภาวะ/โรคที่ให้อาการคล้ายกับภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)
- โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม (Arteriovenousmalformation: AVM)
- ภาวะมีเลือดออกในผนังหลอดเลือดสมอง (Arterial dissection)
- โรคหลอดเลือดสมอง (URL ในเว็บ haamor คือ อัมพาต)
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (URL ในเว็บ haamor คือ โรคหัวใจ )
- โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง(Subarachnoid hemorrhage: SAH)
อนึ่ง ในการวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ มักไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสืบ ค้นเพิ่มเติม เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้องได้จากลักษณะทางคลินิก และความสัมพันธ์ของอาการกับการมีเพศสัมพันธ์ มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่แพทย์จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง การสวนหลอดเลือดและฉีดสีหลอดเลือดสมอง (การตรวจหลอดเลือดสมองทางรังสีร่วมรักษา) การเจาะหลังตรวจน้ำไขสันหลัง ทั้งนี้ตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค จากโรคต่างๆที่ให้อาการคล้ายกันได้ ดังได้กล่าวแล้ว เช่น กรณีผู้ป่วย มีอาการหมดสติ มีการมองเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย และ/หรือเมื่อมีอาการปวดศีรษะ และอาการผิดปกติอื่นๆ เป็นอยู่หลายๆวันหลังมีเพศสัมพันธ์
หมายเหตุ: การเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ ทั้งที่พบบ่อยและพบไม่บ่อย การให้การรักษาที่ดี จะได้จากการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องได้ประวัติทางการแพทย์ที่ละ เอียดจากผู้ป่วย ดังนั้นการพบแพทย์ต้องเล่าอาการที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และต้องไม่มีความ ลับกับแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะให้การวินิจฉัยและรักษาได้ดี
รักษาปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์อย่างไร?
รักษาปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ โดย
กรณีมีอาการไม่บ่อย ไม่รุนแรง อาจให้การรักษาด้วยการทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตีย รอยด์ (เอนเสด/NSAIDs) ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์
กรณีที่มีอาการบ่อยๆ รุนแรง ก็จำเป็นต้องให้ทานยาเป็นประจำ เช่น ยาต้านเบต้า (Beta-blocker) หรือกลุ่มยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blocker) ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนจากปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ที่สำคัญ คือ ปัญหาทางสุขภาพจิตมาก กว่าปัญหาทางกาย เพราะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากมีความกังวลใจหรือกลัวว่าจะมีอาการปวดศีรษะขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่บางรายก็อาจเกิดปวดศีรษะจากมีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะต่ำ มีอาการวิงเวียนศีรษะได้ง่าย เวลาลุกขึ้น จากมีการรั่วของน้ำ CSF ดังได้กล่าวในหัวข้อ ลักษณะของการปวด
ทั้งนี้ ภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นหมัน และภาวะนี้ไม่ ได้มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ หรือก่อให้เกิดความผิดปกติทางด้านความต้องการ หรือการตอบ สนองอารมณ์ทางเพศโดยตรง แต่จะมีผลด้านความกังวลใจ หรือกลัวการมีเพศสัมพันธ์มากกว่า เพราะกลัวและกังวลใจว่าจะมีอาการปวดศีรษะอีกหรือไม่ เมื่อมีเพศสัมพันธ์อีก ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงและเป็นบ่อย จึงอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความต้องการทางเพศ หรือผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงขณะที่ถึงจุดสุดยอดนั้น ก็อาจมีปัญหาว่ากลัวการถึงจุดสุดยอด จึงส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปัญหาผลแทรกซ้อนของยาที่ใช้รักษาภาวะนี้ โดยเฉพาะยากลุ่มต้านเบต้า เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งถ้ามีอาการจากยา ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ เพื่อการปรับ เปลี่ยนยา
ปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่รักษาได้ผลดี ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำ และทานยาป้องกัน หรือทานยาก่อนมีเพศสัมพันธ์ ตามความเหมาะสม ตามแพทย์แนะนำ
ควรดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ป่วยปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ ควรยอมรับปัญหาดังกล่าว และค่อยๆแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ลดความกังวล ความตื่นเต้นขณะมีเพศสัมพันธ์ และค่อยๆทำกิจกรรมดังกล่าว ไม่รุนแรงหรือเร่งรัดกิจกรรมดังกล่าว ควรพยายามแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต ถ้ามีร่วมด้วย และถ้ามีปัญ หาการมีเพศสัมพันธ์กับคู่สามี- ภรรยา ต้องอธิบายให้คู่สามี –ภรรยาทราบถึงปัญหาดังกล่าวด้วย และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะการอ่อนแรง และ/หรือ
- อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น และ/หรือ
- มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาพร่ามัว อาเจียน หมดสติ ภาวะเสียความจำชั่วคราว และ/หรือ
- ไม่มีความต้องการทางเพศ และ/หรือ
- อวัยวะเพศไม่แข็งตัว/นกเขาไม่ขัน
ป้องกันปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์อย่างไร?
ภาวะปวดศีรษะเหตุเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันได้ ดังนี้คือ
- ควบคุมอารมณ์ ความตื่นเต้น ไม่รีบร้อนในการทำกิจกรรม ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง
- ทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด) ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ตามแพทย์แนะนำ