ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง


ท้อ
งนอกมดลูกคือโรคอะไรพบบ่อยไหม?

ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) คือ ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงทางการตั้งครรภ์ที่อันตราย จัดเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์อย่างหนึ่ง  ซึ่งแทนที่ตัวอ่อนของมนุษย์ที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่และตัวเชื้ออสุจิ จะไปฝังตัวที่โพรงมดลูกตามปกติแล้วค่อยๆเจริญเติบโตเป็นทารกและคลอดออกมา แต่กลับไปฝังตัวนอกโพรงมดลูก  ที่พบบ่อยที่สุด ประมาณ 95% ไปฝังตัวที่ปีกมดลูกหรือท่อนำไข่  (Tubal pregnancy) นอกจากนั้นสามารถไปฝังตัวที่รังไข่ ปากมดลูก หรือในช่องท้องได้

อนึ่งชื่ออื่นของ 'ท้องนอกมดลูก' เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก, การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่, การตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูก, Eccyesis, Tubal pregnancy

สถิติเกิดท้องนอกมดลูกที่มีรายงานจากหลายประเทศ พบอยู่ในช่วง 1-5% ของการคลอดปกติ โดยต่างกันในแต่ละประเทศขึ้นกับการสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ, พบทุกอายุในวัยเจริญพันธ์ (วัยมีประจำเดือน), และพบได้ทั้งในการตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่พบได้บ่อยกว่าในสตรีที่ตั้งครรภ์แล้วหลายครั้ง

สถิติการท้องนอกมดลูกในประเทศไทย พบประมาณ 1 ต่อ 200 ของการคลอด  และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

ความสำคัญของท้องนอกมดลูกมีอะไรบ้าง?

 

ในร่างกายมนุษย์ กล้ามเนื้อมดลูกเป็นอวัยวะที่หน้าทึ่งมาก เพราะสามารถขยายตัวได้หลายสิบเท่าเหมาะที่จะเป็นที่อยู่ของทารก มดลูกสามารถเปลี่ยนจากขนาดปกติที่เท่าไข่ไก่ กลายเป็นขนาดใหญ่เท่าลูกแตงโมผลใหญ่ได้ และเมื่อคลอดทารกแล้วก็สามารถหดตัวกลับมาสู่สภาพเดิมได้    

ส่วนท่อนำไข่ มีกล้ามเนื้อน้อย ขยายตัวได้น้อย เมื่อตัวอ่อนไปฝังตัวและเจริญเติบโต จะดันขยายท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่แตก และทำให้มีเลือดออกในช่องท้อง  ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวแม่และต่อทารกอย่างมาก  โดยทารกส่วนใหญ่จะเสียชีวิต (มีน้อยมากที่อาจสามารถไปเจริญเติบโตต่อในช่องท้อง) ส่วนมารดาจะได้รับอันตรายจากเลือดที่ออกเนื่องจากการแตกของท่อนำไข่ทำให้เกิดการฉีกขาดของท่อนำไข่จึงเกิดเลือดออกตามมา บางครั้งเลือดออกมากจนเกิดภาวะช็อก  หากให้การรักษาไม่ทันท่วงที สามารถเป็นอันตรายถึงตายได้

การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นปัญหาสำคัญในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เพราะหากให้การวินิจฉัยโรคไม่ได้หรือให้การรักษาไม่ทันท่วงที  มารดาอาจถึงกับเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากได้ นอกจากนั้นอาจมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาวทำให้เกิภาวะมีบุตรยากตามมาในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยงของการท้องนอกมดลูกมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงของการท้องนอกมดลูก เช่น

  • เคยติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะจากเชื้อ Chlamydia trachomatis, และ Nesseria gonorrheae จะทำให้เกิดพังผืดบริเวณปีกมดลูก และรังไข่ ทำให้ท่อนำไข่คดงอ หรือตีบตันบางส่วน  ทำให้ขัดขวางการเดินทางของตัวอ่อนที่จะไปฝังตัวที่โพรงมดลูก  หรือทำให้การเดินทางช้าลง  ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ปีกมดลูกก่อถึงมดลูก
  • เคยผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะการผ่าตัดที่บริเวณท่อนำไข่ เช่น การผ่าต่อหมัน ทำให้เกิดพังผืดหรือท่อนำไข่ตีบตันบางส่วนเช่นกัน    ส่วนการทำหมันแล้วก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกโอกาสตั้งครรภ์หลังทำหมันมีประมาน ใน 1,000  คนที่ทำหมัน, และเมื่อเกิดการตั้งครรภ์หลังทำหมัน  มักจะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • มีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน: จะเพิ่มความสี่ยงที่เกิดซ้ำในครรภ์ต่อไปมากกว่าคนทั่วไป 7-13 เท่า
  • รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว:  เช่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคุมกำเนิดฉุกเฉิน) อิทธิพลของฮอร์โมนจะทำให้การบีบตัวของท่อนำไข่ช้าลง ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้าลง  
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device –IUD): สามารถป้องการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้  แต่ไม่สามารถป้องการฝังตัวของตัวอ่อนที่ปีกมดลูก
  • ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เช่น การกระตุ้นการตกไข่ด้วยฮอร์โมน หรือการทำ กิฟท์ (GIFT, Gamete intrafallopian tube transfer) 
  • ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีความเสี่ยงมากว่าสตรีตั้งครรภ์อายุน้อย
  • สูบบุหรี่สารพิษจากบุหรี่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของปีกมดลูก และการโบกพัดของขนเล็กๆในท่อนำไข่ ระยะเวลาเดินทางของไข่จึงอาจผิดปกติ

แพทย์วินิจฉัยการท้องนอกมดลูกได้อย่างไร?

ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยการท้องนอกมดลูกได้จาก

ก. อาการ: เช่น  
  • อาการเด่นชัดของการท้องมดลูก ประกอบด้วย 3 อาการหลัก ซึ่งหากมีครบทั้ง 3 อาการ ก็วินิจฉัยโรคได้ง่าย, 3อาการ ได้แก่  
    • อาการปวดท้องน้อย มักมีอาการปวดเด่นด้านใดด้านหนึ่งของท้องน้อย (ด้านที่เกิดท้องนอกมดลูก)  
    • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มักเป็นแบบกะปรดกะปรอย ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน
    • และมีประวัติขาดประจำเดือนนำมาก่อน
  • อย่างไรก็ตาม สตรีที่มีปัญหาท้องนอกมดลูก
    • อาจมีอาการน้อยมากจนทำให้แพทย์วินิจฉัยไม่ได้
    • หรือผู้ป่วยอีกกลุ่มอาจมีบางอาการมากจนแพทย์มองผ่านอีก 2 อาการไป โดยคิดว่าเป็นอาการจากโรคอื่นแทน เช่น
      • ผู้ป่วยมีอาการซีดมากแต่ประวัติเลือดออกทางช่องคลอดมีนิดเดียว(แพทย์จึงนึกถึงสาเหตุของภาวะซีดทั่วไปแทน)
      • หรือมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยอย่างมากจนจะเป็นลมโดยไม่มีอาการอื่นอีก 2 อาการ
      • หรือบางคนอาจมาด้วยอาการปวดไหล่เนื่องจากมีเลือดออกในช่องท้องแล้วไประคายเคืองที่กะบังลม ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทไปเลี้ยงบริเวณไหล่ด้วย ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ (Refer pain)  

**** ดังนั้นแพทย์ทุกคนจะต้องคิดถึงภาวะนี้ไว้เสมอหากสตรีในวัยเจริญพันธุ์มีอาการปวดท้องน้อยและมีเลือดออกกระปริดกระปรอยทางช่องคลอด

ข. อาการแสดง: คืออาการที่แพทย์สามารถตรวจพบได้ทั่วไป ได้แก่  
  • นรายที่มีการเสียเลือดไม่มากนัก สัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต และอัตราการหายใจ) มักไม่มีการเปลี่ยนแปลง  
  • แต่หากมีการเสียเลือดภายในช่องท้องมาก  ความดันโลหิตจะต่ำ  ชีพจรจะเต้นเร็วเป็นสัญญาณบอกเหตุว่ากำลังจะช็อ,
    • เมื่อตรวจเปลือกตา จะเห็นตาขาวซีด
    • เมื่อสังเกตจะเห็นท้องบวมโตขึ้น ซึ่งเมื่อตรวจจะพบว่ามีของเหลวในท้อง (Fluid thrill positive)
  • หากกดบริเวณท้องน้อย(ขึ้นกับว่าพยาธิสภาพอยู่ข้างซ้ายหรือขวา) ผู้ป่วยจะปวดและเกร็ง (Guarding and rebound tenderness), ซึ่งหากกมีเลือดในช่องท้องมาก  ผู้ป่วยจะปวดและเกร็งไปทั่วๆช่องท้อง
ค. การตรวจภายใน: เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ตรวจพบ เช่น
  • ตรวจพบเลือดออกเล็กน้อยในช่องคลอด  
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บในอุ้งเชิงการ/ท้องน้อยเมื่อโยกปากมดลูกไปมา  
  • เมื่อแพทย์กดบริเวณปีกมดลูกจะปวดมากในด้านที่มีท้องนอกมดลูก
  • อาจคลำได้ก้อนเนื้อบริเวณปีกมดลูกข้างเกิดท้องนอกมดลูกหรือคลำได้ว่ามีการโป่งนูนของช่องในเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานตอนล่าง (Cul-de-sac) เนื่องจากมีของเหลวจำนวนมากอยู่ในช่องเชิงกรานนั้น
ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น
  • การตรวจความเข้มข้นของเลือด/การตรวจซีบีซี/CBC จะพบว่ามีโลหิตจาง
  • การตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ (Urine pregnancy test) เป็นสิ่งจำเป็น  ทำได้ง่าย ราคาถูกช่วยในการวินิจฉัยได้เร็ว  ปัจจุบันมีแถบตรวจการตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพหรือความไวดีมาก (ให้ผลถูกต้องประมาณ 99. 9%)  ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ แม้ว่าตั้งครรภ์อ่อนๆและมีระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ( Beta human chorionic gonadotropin – hCG) ต่ำ ยังสามารถตรวจพบได้, ทั้งนี้ สตรีที่ตั้งครรภ์ปกติและตั้งครรภ์นอกมดลูกจะตรวจพบว่ามีฮร์โมนนี้ในปัสสาวะ หากตรวจปัสสาวะแล้วไม่พบว่าตั้งครรภ์ แพทย์แทบจะไม่คิดถึงโรคนี้เลย
  • การตรวจระดับ ฮอร์โมน Beta hCG ในเลือดวิธีนี้ไม่ได้ใช้ตรวจในผู้ป่วยทุกรายจะใช้ตรวจในรายที่สงสัยว่าเป็นการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก,หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก,หรือในรายมีอาการน้อยมากแทบไม่มีอาการปวดท้อง, มีประวัติประจำเดือนแทบเป็นปกติ, เพราะการตรวจเลือดนี้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจปัสสาวะ  ต้องใช้เวลาในการตรวจ และผู้ป่วยเจ็บตัว  
    • ในรายที่จะแยกว่า ตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ และอายุครภ์ยังอ่อนมากที่อาจยังมองไม่เห็นจากเครื่องตรวจเสียงความถี่สูง จะมีการเจาะเลือด, ครั้งแรกเพื่อดูระดับฮอร์โมนนี้ก่อน, และเจาะเลือดตรวจอีกครั้งในอีก  2 วันถัดมา  หากระดับฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งแรก 66% ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติให้รอสังเกตอาการต่อไป,
    • แต่หากระดับฮอร์โมนฯเพิ่มขึ้นไม่ถึง 66% ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติ อาจเป็นการแท้ง, หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ได้,  
    • แต่หากตรวจระดับฮอร์โมนครั้งแรกแล้วระดับสูงกว่า 1,500 mIU/ml (หน่วยการวัดสารตัวนี้) ประกอบกับการตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูงทางช่องคลอดไม่พบถุงการตั้งครรภ์สามารถบอกได้เลยว่า 'เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก' ต้องให้การรักษาต่อไป  
    • หากใช้การตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูงทางหน้าท้อง(Trans abdominal ultrasound) จะใช้เกณฑ์ระดับฮอร์โมนนี้สูงกว่า 6,500 mIU/ml ต้องพบถุงการตั้งครรภ์แล้ว, หากไม่พบก็ให้คิดถึง 'การตั้งครรภ์นอกมดลูก'
จ. การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์โดยเฉพาะการตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) จะทำให้มองเห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานชัดเจนกว่าการตรวจคลื่นเสี่ยงความถี่สูงทางหน้าท้อง, สิ่งที่ช่วยสนับสนุนว่ามีการท้องนอกมดลูกจริง  ทั่วไป ได้แก่
  • มองไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์โนโพรงมดลูกในระยะเวลาที่ควรจะมองเห็น  
  • เห็นตัวทารกอยู่นอกโพรงมดลูก
  • เห็นของเหลวจำนวนมากในอุ้งเชิงกราน
  • และพบก้อนที่ปีกมดลูก
ฉ. การส่องกล้องวินิจฉัยทางหน้าท้อง (Diagnostic laparoscopy): ทั่วไปใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจน, ซึ่งต้องดมยาสลบ แล้วจึงส่องกล้องเข้าไปดูภายในช่องท้องดยตรงว่า มีการตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูกจริงหรือไม่ แต่เป็นวิธีที่ผู้ป่วยต้องเจ็บตัว

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อสตรีทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อแพทย์จะตรวจความผิดปกติต่างๆได้โดยเร็ว  

โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ที่ปกติจะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือปวดท้องน้อยอย่างมาก ***หากพบว่าตนเองตั้งครรภ์/ขาดประจำเดือน แล้วปวดท้องต้องรีบไปปรึกษาแพทย์

การรักษาการท้องนอกมดลูกมีอะไรบ้าง ?

การรักษาการท้องนอกมดลูก มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หรือการเสียเลือดจากการแตกของท่อนำไข่   วิธีการรักษามีดังนี้ เช่น

  • คอยสังเกตาการเพียงอย่างเดียวแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติน้อยมาก, อาการปวดท้องมีไม่มา, หรือไม่ปวดท้อง,  ไม่มีเลือดออกในช่องท้อง, ไม่มีการแตกของท่อนำไข่ซึ่งมักเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้วเกิดการแท้งหรือหลุดเข้าไปในช่องท้อง 
  • การรักษาด้วยยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate): ปัจจุบันนิยมรักษาด้วยยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่มีการเตกของท่อนำไข่หรือแตกเล็กน้อยและเลือดออกเล็กน้อยหรือหยุดไปแล้วมีอาการไม่มาก, ปวดท้องเล็กน้อยหรือไม่ปวดเลยสัญญาณชีพคงที่ขนาดของตัวก้อนท้องนอกมดลูกมีขนาดเล็กกว่า 4 เซนติเมตร, ระดับฮอร์โมน Beta  hCG ในเลือดน้อยกว่า 3,000- 5,000 mIU/L, วิธีการให้ยา:  
    • สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้เลย, มี 2 วิธี คือ ฉีดแบบครั้งเดียว,  หรือ หลายครั้ง,  ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวกมาก  
    • นอกจากนั้น สามารถวิธีฉีดยาเข้าไปที่ตัวทารกโดยตรงผ่านกล้องส่องตรวจทางหน้าท้องแล้วฉีดยาที่บริเวณท่อนำไข่โดยตรง
    • ข้อดีของการใช้ยาแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ: คือ  ผู้ป่วยไม่ต้องถูกผ่าตัด, สามารถเก็บท่อนำไข่ไว้เพื่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้
    • แต่ข้อด้อย: คือ ไม่สามารถรักษาได้ในผู้ป่วยทุกราย, ไม่สามารทำในผู้ป่วยที่มีอาการมาก, มีสัญญาณชีพไม่คงที่ระดับฮอร์โมน Beta hCG ในเลือดมากกว่า 15,000 mIU/Lตรวจพบหัวใจทารกไม่เต้นแล้ว  
      • นอกจากนั้นการรักษาวิธีนี้ สามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่สามารถตรวจระดับฮอร์โมน Beta  hCG  ในเลือดได้ เพื่อใช้ติดตามระดับฮอร์โมนว่าลดลงหรือไม่  ซึ่งเป็นตัวแสดงว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาดีหรือไม่,  ผู้ป่วยต้องเสียเวลามาตรวจเลือดทุกสัปดาห์ว่าปกติหรือยัง,  โดยทั่วไปต้องใช้เวลาติดตามนาน  7-8  สัปดาห์,  นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายยังต้องถูกผ่าตัดอีกหากผลการรักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น
  • การรักษาโดยการผ่าตัด:  สามารถทำผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง  หรือ ผ่าตัดแบบส่องกล้อผ่านหน้าท้องซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน   แต่อย่างไรก็ตามการรักษาขึ้นกับอาการหนักเบาของผู้ป่วย,  ความชำนาญของแพทย์, ความพร้อมของอุปกรณ์,  วิธีการผ่าตัดขึ้นกับอายุ,  ความต้องการมีบุตรความรุนแรงของโรค, ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีดังนี้
    • การตัดปีกมดลูก (ท่อนำไข่และเนื้อเยื่อรอบๆท่อนำไข่)ด้านตั้งครรภ์ออกทั้งหมด  (Salpingectomy)  
    • การตัดปีกมดลูกด้านตั้งครรภ์ออกบางส่วน (Partial  salpingectomy)
    • การผ่าตัดเฉพาะที่ปีกมดลูกแล้วดูดเอาส่วนที่ตั้งครรภ์ออก (Salpingotomy or Salpingostomy)

ภาวะแทรกซ้อนของการท้องนอกมดลูกมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของการท้องนอกมดลูกที่อาจพบได้ เช่น

ก. ภาวะแรกซ้อนในระยะเฉียบพลัน: คือ การเสียเลือดมาก อาจถึงตายได้
ข. ภาวะแรกซ้อนในระยะยาว: เช่น  
  • การมีภาวะท้องนอกมดลูกซ้ำในครรภ์ต่อไป,  มีโอกาสเกิดมากกว่าคนทั่วไป  7-13เท่า
  • หากต้องผ่าตัดปีกมดลูก: อาจเกิดพังผืด, ท่อรังไข่ ตีบตัน ทำให้เกิด ภาวะมีบุตรยากตามมาได้
  • มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

ภายหลังรักษาท้องนอกมดลูกแล้วจะตั้งครรภ์ได้อีกหรือไม่? และควรรออีกนานเท่าไรจึงควรตั้งครรภ์?

หลังการรักษาท้องมดลูกแล้ว หากยังมีท่อรังไข่อีกข้างที่ดีเหลืออยู่อีกข้าง ในกรณีที่ต้องตัดท่อนำไข่ไปข้างหนึ่ง (Salpingectomy) หรือในกรณีที่ที่รักษาด้วยยา Methotrexate โดยไม่มีการผ่าตัดท่อนำไข่, ก็สามารถตั้งท้องปกติได้, โดยโอกาสตั้งครรภ์จะประมาณ 50-90%  ขึ้นอยู่กับสภาพของท่อนำไข่  และสภาพภายในอุ้งเชิงกรานว่าปกติหรือไม่ซึ่งโอกาเกิด 'ท้องนอกมดลูกซ้ำ' พบได้ประมาณ 10-15%  

อนึ่ง: ไม่มีกเกณฑ์ตายตัวว่า หลังจากท้องนอกมดลูกแล้วต้องรออีกกี่เดือนจึงจะตั้งครรภ์ได้

  • หลังการท้องนอกมดลูก อาจมีการตกไข่ในรอบประจำเดือนถัดมาเลยและเกิดการตั้งครรภได้เลย  
  • ดังนั้นหากยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์, ควรมีการคุมกำเนิดไว้ด้วยหลังการรักษาท้องนอกมดลูก  
  • *อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพของสตรี ควรคุมกำเนิดไปอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้สุขภาพมารดากลับมาสมบูรณ์ก่อน เพราะการท้องนอกมดลูกก่อนหน้านี้อาจมีการเสียเลือดไปมาก และ/หรือ มีการผ่าตัดดังกล่าว

ระหว่างรอตั้งครรภ์ใหม่ ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

ระหว่างรอตั้งครรภ์ใหม่ ควรจะคุมกำเนิดไปก่อน การจะเลือกคุมกำเนิดวิธีใดขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะเว้นระยะการตั้งครรภ์หรือการมีบุตรไปนานเพียงใด ทั้งนี้ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ให้การรักษา 'ท้องนอกมดลูก' ถึงวิธีคุมกำเนิดที่เมาะสมกับตนเอง, ทั่วไปเช่น 

  • หากต้องการเว้นระยะการตั้งครรภ์เพียงสั้นๆ: สามารถใช้ถุงยางอนามัยชายได้ เพราะไม่มีฮอร์โมน ไม่มีผลกระทบต่อระบบประจำเดือน สามารถตั้งครรภ์ได้เร็วเมื่อหยุดคุมกำเนิด    
  • แต่หากต้องการเว้นระยะการมีบุตรไปนาน: สามารถพิจารณาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือยาฉีดคุมกำเนิดได้

มีโอกาสตั้งครรภ์ปกติไหมในครั้งต่อไป?

แม้เกิดท้องนอกมดลูกไปแล้ว สตรีที่ยังมีท่อนำไข่ปกติอีกหนึ่งข้าง หรือ ทั้ง  2 ข้างยังสามารถตั้งครรภ์ตามปกติได้ ยกเว้นสตรีที่โชคร้าย เกิดท้องนอกมดลูกไป 2 ครั้ง และถูกตัดท่อนำไข่ไปทั้ง 2 ข้าง จะไม่สามารถมีลูกเองโดยวิธีธรรมชาติได้  ต้องทำเด็กหลอดแก้ว

มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป?

หากเคยท้องนอกมดลูกในครรภ์ที่แล้ว  มีโอการเกิดท้องนอกมดลูกซ้ำในครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 10-15% สามารถเกิดได้ทั้งที่ท่อนำไข่ด้านเดิมที่เคยเกิดปัญหา แต่ไม่ได้ตัดท่อนำไข่ แต่ใช้รักษาด้วยวิธี Salpingostomy, หรือ Salpingotomy,  หรือให้ ยาเมโธเทรกเซท หรืออาจเกิดท้องนอกมดลูกที่ท่อนำไข่อีกข้างซึ่งอาจมีสภาพไม่สมบูรณ์ได้       

ดังนั้น ในการดูแลสตรีที่เคยท้องนอกมดลูก แพทย์จะเน้นให้สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง *หากประจำเดือนขาด ต้องรีบตรวจว่า 'ตั้งครรภ์จริงหรือไม่'และ 'ป็นการตั้งครรภ์ปกติในโพรงมดลูก', หรือ 'เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำอีก'

การป้องกันการท้องนอกมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง?

ทั่วไปสามารถป้องกันท้องนอกมดลูกได้โดย

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยชายเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หากมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์และรักษาโรคให้หายขาด  การซื้อยารับประทานเอง บ่อยครั้งไม่เพียงพอ เพราะอาจเกิดเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง  และทำให้เกิดพังผืดมากมายนอุ้งเชิงกราน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • ควรงดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

บรรณานุกรม

  1. Craig LB, Khan S. Expectant management of ectopic pregnancy. Clin Obstet Gynecol 2012; 55:461-70.
  2. Skubisz MM, Li J, Wallace EM, Tong S. Decline in β-hCG levels between days 0 and 4 after a single dose of methotrexate for ectopic pregnancy predicts treatment success: a retrospective cohort study. BJOG 2011; 118:1665-8.
  3. Stock L, Milad M. Surgical management of ectopic pregnancy. Clin Obstet Gynecol 2012; 55:448-54.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/2041923-overview#showall   [2023,March11]