ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (Functional ovarian cyst)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 13 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติคืออะไร?
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติมีกี่ชนิด?
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติทำให้เกิดอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติอย่างไร?
- แพทย์รักษาถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติเกิดซ้ำได้หรือไม่?
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
- ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติได้หรือไม่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)
- ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum cyst)
- ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์ (Ovarian follicular cyst)
- รังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติคืออะไร?
ตามปกติในสตรีวัยเจริญพันธุ์จะมีการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นรังไข่ ทำให้มีการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) ไปเรื่อยๆจนเกิดมีขนาดใหญ่พอเหมาะ ทำให้ไข่ (Ovum) ใน Follicle ตกออกมาในช่องท้องน้อยเรียกว่า ‘การตกไข่ (Ovulation)’ และไข่ถูกดูดเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิ
แต่หากไม่มีการตกไข่ออกมา จะทำให้มีการสะสมของเหลวที่ใน Follicle มากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นถุงน้ำที่รังไข่ที่เรียกว่า ”ถุงน้ำรังไข่/ถงน้ำฟอลลิคิวล่าร์ (Follicular cyst)”
และในทางตรงกันข้าม หากมีการตกไข่เกิดขึ้น กลุ่มเซลล์ที่เหลืออยู่ในฟองไข่หลังจากไข่ตกออกไปจากรังไข่แล้ว จะเรียกว่า ‘คอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum)’ ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนเพื่อไปเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวเพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนหากไข่ได้รับการปฎิสนธิกับเชื้ออสุจิ
ซึ่งในภาวะปกติ หากไม่มีการปฎิสนธิ ‘คอร์ปัสลูเทียม’ที่มีอายุประมาณ 14 วันก็จะเสื่อมสลายไป ทำให้หยุดการสร้างฮอร์โมนฯ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
โดยเมื่อมองด้วยตาเปล่า จะเห็นคอร์ปัสลูเทียมเป็นก้อนสีเหลืองๆอยู่ในรังไข่ แต่บางครั้งเมื่อไข่ตกไปแล้ว ผนังของคอร์ปัสลูเทียมมาเชื่อมติดกัน และทำให้เกิดมีของเหลวเกิดการสะสมไปเรื่อยๆจนโตขึ้นเกิดเป็นถุงน้ำเรียกว่า “ถุงน้ำรังไข่/ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum cyst)”
หากการตกไข่เกิดบริเวณใกล้เส้นเลือด สามารถทำให้เส้นเลือดนั้นฉีกขาดทำให้มีเลือดออก ในคอร์ปัสลูเทียมได้ ทำให้กลายเป็นถุงน้ำเลือดได้ที่เรียกว่า “Hemorrhagic corpus luteum cyst” ซึ่งจะมองเห็นเป็นสีแดงแทนสีเหลือง
หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น คอร์ปัสลูเทียมจะทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง (ประมาณ 8 - 10 สัปดาห์) ทำให้สามารถพบ’ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม’ได้ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆซึ่งมักจะค่อยๆยุบไปเองเมื่อเวลาผ่านไป
ทั้งนี้ ถุงน้ำรังไข่ชนิดฟอลลิคิวล่าร์และชนิดคอร์ปัสลูเทียม จัดเป็นถุงน้ำอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เรียกรวมว่า “ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ หรือถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากรังไข่ทำงานผิดปกติ (Functional ovarian cyst)” ซึ่งถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกตินี้พบได้บ่อยและเกิดเฉพาะในสตรีวัยมีประจำเดือน
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติมีกี่ชนิด?
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ มี 2 ชนิดได้แก่
- ถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์ (Follicular cyst)
- ถุงน้ำคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum cyst)
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติทำให้เกิดอาการอย่างไร?
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติมักไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการอาจ ทำให้เกิดอาการดังนี้ เช่น
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ปวดท้องน้อยมากเฉียบพลันหากมีการแตกของถุงน้ำฯเข้าช่องท้องหรือมีการบิดขั้วของถุง น้ำ/รังไข่บิดขั้ว
- คลำได้ก้อนในท้องน้อย มักเกิดข้างเดียวซ้ายหรือขวาก็ได้ (โอกาสเกิดใกล้เคียงกัน, พบเกิด 2 ข้างได้น้อยมาก)
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดัง’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ ได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: จากมีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งเป็นๆหายๆ หรืออาจคลำก้อนได้ในท้องน้อย หรือไม่มีอาการผิดปกติเลยก็ได้ แต่พบได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องจากการวินิจฉัยโรคอื่น เช่น การตั้งครรภ์ หรือสงสัยไส้ติ่งอักเสบ
ข. การตรวจร่างกาย: อาจกดเจ็บบริเวณปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งการตรวจภายในมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ เพราะถุงน้ำชนิดนี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก แต่หากถุงน้ำขนาดใหญ่พอ ประมาณก็จะสามารถคลำก้อนถุงน้ำที่ปีกมดลูกได้
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้คือ การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด จะพบรังไข่มีถุงน้ำ
- ลักษณะของผิวถุงน้ำบาง ของเหลวภาย ในถุงน้ำจะใส แต่มองเห็นเป็นสีดำในภาพอัลตราซาวด์
- ในถุงน้ำฯไม่มีการงอกหรือมีติ่งเนื้อ
- การจะแยกว่าเป็นถุงน้ำชนิดใด แพทย์อาจพิจารณาประกอบจากประวัติประจำเดือน หรือตัดชิ้นเนื้อจาก ผนังของถุงน้ำฯไปตรวจทางพยาธิวิทยาถึงจะบอกว่าเป็นถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม
- สำหรับถุงน้ำรังไข่คอร์ปัสลูเทียมที่มีเลือดออกภายในถุงน้ำ ลักษณะของอัลตราซาวด์จะเห็นเป็นลักษณะคล้ายตาข่าย
โดยทั่วไปทางคลินิก ไม่มีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อของผนังถุงน้ำเหล่านี้มาตรวจ แต่แพทย์ ใช้การตรวจติดตามด้วยอัลตราซาวด์เป็นระยะๆเพื่อดูว่าถุงน้ำฯยุบไปหรือโตขึ้นหรือไม่
แพทย์รักษาถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติอย่างไร?
โดยทั่วไปถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติทั้งถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์และถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ใช้การเฝ้าติดตามอาการและขนาดถุงน้ำรังไข่โดยประมาณ 3 เดือนแล้วมาตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำ เนื่องจากถุงน้ำรังไข่กลุ่มนี้สามารถยุบหายเองได้
ระหว่างติดตามโรค:
- หากมีอาการปวดท้องน้อยแต่ไม่มาก ก็ให้รับประทานยาแก้ปวด Paracetamol
- หรือบางครั้งแพทย์ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อไม่ให้มีการพัฒนาของฟองไข่และเพื่อไม่ให้มีการตกไข่ ก็จะไม่ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำฯ แล้วมีการนัดตรวจติดตามอาการเช่นกัน
- *ยกเว้นหากมีการแตกหรือบิดขั้วของถุงน้ำเหล่านี้ โดยมีอาการปวดท้องน้อยมากเฉียบพลัน แพทย์ก็พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ?
สตรีส่วนมากเมื่อทราบว่าตนเองเป็นถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติก็จะมีความกลัวและ ความกังวลอย่างมาก กลัวการเป็นมะเร็งรังไข่ แต่เนื่องจากทั้งถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์และถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงตามรอบประจำเดือน มีอันตรายน้อย และ’ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง’ การตรวจตามนัดของแพทย์ก็เพียงพอ
แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้นก่อนแพทย์นัด เช่น เกิดการแตกหรือการบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์หรือของถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อยมากๆเพราะดังกล่าวแล้วว่า โดยทั่วไปถุงน้ำรังไข่กลุ่มนี้จะมีขนาดเล็กยุบหายได้เองโดยไม่ก่ออาการ) จะทำให้เกิดอาการ’ปวดท้องน้อยมากและเฉียบพลัน’ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไป
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นก่อนแพทย์นัด เช่น เกิดการแตกหรือการบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่ จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (ถุงน้ำรังไข่ฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม) จะทำให้เกิดอาการ”ปวดท้องน้อยมากเฉียบพลัน’ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีก่อนนัด
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องการบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังไข่บิดขั้ว
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติเกิดซ้ำได้หรือไม่?
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (ถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม) สามารถ เกิดซ้ำเป็นๆหายๆได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์/วัยมีประจำเดือน
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (ถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม) ‘ไม่กลาย เป็นมะเร็ง’
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (ถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม) มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักหายเองโดยไม่ต้องรักษา ไม่กลายเป็นมะเร็ง
และผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้คือ ถุงน้ำแตกเข้าเส้นเลือดและมีเลือดออกเข้าช่องท้องหรือเกิดรังไข่บิดขั้ว แต่ก็พบผล ข้างเคียงเหล่านี้ได้น้อยมากๆและเมื่อเกิดขึ้นก็สามารถรักษาได้หายดีเช่นกันด้วยการผ่าตัด
ป้องกันถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติได้หรือไม่?
สามารถป้องกันการเกิดถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติ (ถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม) ได้โดยแพทย์ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเพราะยาเหล่านี้เป็นฮอร์โมนเพศที่ไปยับยั้งการพัฒนาฟองไข่ ทำให้ฟองไข่ไม่เจริญเติบโตไปจนสามารถ ตกไข่ได้ จึงสามารถใช้ยาเหล่านี้ป้องกันการเกิดถุงน้ำฟอลลิคิวล่าร์หรือถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียมได้
แต่ในชีวิตจริง/ในทางคลินิกเนื่องจากถุงน้ำรังไข่จากรังไข่ทำงานผิดปกติไม่ได้มีอันตราย และของเหลวในถุงน้ำก็สามารถถูกร่างกายดูดซึมให้หายไปได้ แพทย์จึงไม่ได้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดป้องกันการเกิดถุงน้ำนี้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ เพราะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือใช้ยาฉีดคุมกำเนิดต้องมีค่าใช้จ่ายและมีผลข้างเคียงของยาที่ใช้ที่แพทย์และผู้ป่วยต้องพิจารณาร่วมด้วยเสมอ
บรรณานุกรม
- https://www.uofmhealth.org/health-library/hw181644 [2022,March12]
- https://www.nhs.uk/conditions/ovarian-cyst/causes/hw181644 [2022,March12]