ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 เมษายน 2561
- Tweet
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
- ธาลามัส (Thalamus)
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส (Hypothalamus hormones)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
ต่อมไทรอยด์ หรือไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อตั้งอยู่ด้านหน้าของลำคอในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่คือ กลีบด้านซ้ายและกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus)
ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 -30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 2 - 3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8 - 1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถคลำพบได้
ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิดคือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine หรือ Tetraiodothyronine) ย่อว่า T4 (ที4) , ไตรไอโอโดไธโรนีน(Triiodothyronine) ย่อว่า ที3(T3), และแคลซิโทนิน (Calcitonin)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง “ไทรอยด์ฮอร์โมน/ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์(Thyroid hormone)” จึงมักหมายความถึงเฉพาะ “ฮอร์โมน ที4 และ ที3” เท่านั้น
ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมากคือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหารและจากออกซิเจนหรือที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism หรือกระบวนการแปรรูปอณู)ของเซลล์ต่างๆเพื่อการเจริญเติบโต การทำงาน และการซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย
ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้อยู่ในสมดุล
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปธาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วยเช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และการทำงานของต่อมไทรอยด์ยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ จึงสัมพันธ์กับโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ความจำ สติปัญญา การตระหนักรู้ ของสมองที่อยู่ภายใต้การกำกับของสมองไฮโปธาลามัส
บรรณานุกรม
- http://haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%8C/ [2018,March31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thyroid [2018,March31]