4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 10
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 3 กรกฎาคม 2566
- Tweet
ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ 2560 ถึง พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2561 เป็น 13.5 ล้านคนในปี พ.ศ. 2566 และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 6.3 หมื่นล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็น 2.1% ของรายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP) เป็น 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็น 2.8% ของ GDP ในปี พ.ศ. 2565
กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical equipment) และกลุ่มน้ำยา (Re-agent) และชุดวินิจฉัยโรค (Diagnostic kit) มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ปัจจัยหนุนจากนโยบายภาครัฐ ที่สนับสนุนให้มีการตรวจโรคระดับชุมชน (Community) และหน่วยตรวจโรคเคลื่อนที่ (Mobile unit)
การขยายหรือปรับปรุง (Renovation) และการก่อสร้าง (Construction) ของโรงพยาบาลใหม่ ทำให้คาดว่าความต้องการใช้ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมีแนวโน้ม (Trend) สูงขึ้น ส่วนกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค คาดว่าชุดตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular) จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด
ส่วนเครื่องมือแพทย์ (Medical device) ที่คาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical robot) ซึ่งจะได้รับการนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค, การรักษา (Treatment), การฟื้นฟู (Rehabilitation) และการสร้างอวัยวะ (เช่น แขนและขา) เทียม (Prosthetics)
ตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) มาช่วยในการวินิจฉัยภาพถ่ายรังสี (Imaging), หุ่นยนต์กล้อง (Robotic scope) และเครื่องจับความไว (Sensor) รวมถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผ่าตัด (Robotic surgery) ที่ศัลยแพทย์สามารถควบคุมได้จากระยะไกล (Distance) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัด (Limitation) ในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced technology) ทั้งในด้านเงินทุน (Capital investment) และในด้านองค์ความรู้ (Know-how) ส่วนมากยังต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือการผลิตจากบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิต (Production base) ในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
ภาวการณ์แข่งขัน (Competitive landscape) ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ที่ตอบรับนโยบายส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) รวมถึงมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน (Parts) และวัตถุดิบ (Raw material) เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา
ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563 บริษัทต่างชาติได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการแพทย์ 18 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,453 ล้านบาท และระบบอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์ 2 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 111 ล้านบาท โดยเฉพาะนักลงทุนบริษัทญี่ปุ่น ยังคงสนใจที่จะใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง จึงอาจมีส่วนเพิ่มแรงกดดันด้านการแข่งขัน (Competitive pressure)
แหล่งข้อมูล –