3. ตลาดยา – ตอนที่ 9

ยาที่ผลิตได้ในประเทศไทยประมาณ 90% ใช้บริโภคในประเทศ และอีก 10% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) หรือบัตรทอง (Gold card) หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค”  

ระบบ UHC ครอบคลุมประชากรถึง 99.61% ของผู้มีสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งทำให้การบริโภคยา ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย โดยที่งบประมาณรัฐ (Government budget) ในปี พ.ศ. 2564 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น +2.2% จากปี พ.ศ. 2563

สำหรับตลาดในประเทศ (Domestic market) นั้น ช่องทางการจำหน่าย (Distribution channel) ของยามี 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การจำหน่ายผ่านโรงพยาบาล:ระบบสวัสดิการสาธารณสุขของรัฐที่ครอบคลุมข้าราชการและประชาชนส่วนมาก มีผลให้มูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล (Hospital channel) มีสัดส่วนถึง 80% ของตลาดยาทั้งหมดโดยโรงพยาบาลรัฐ (Pubic hospital) มีสัดส่วน 60% ของมูลค่าตลาดยารวม และโรงพยาบาลเอกชน (Private hospital) มีสัดส่วนอยู่ที่ 20% โดยที่ยาที่จำหน่ายผ่านโรงพยาบาลเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ (Prescription drug) ซึ่งแบ่งเป็น
  • ยาชื่อสามัญ (Generic drug) มีสัดส่วน 61% ของมูลค่ายาที่จำหน่ายผ่านโรงพยาบาลทั้งหมด และ
  • ยาจดสิทธิบัตร (Patented drug) มีสัดส่วน 39% แต่มีอัตราการเติบโตสูงกว่ายาชื่อสามัญ ตามความต้องการของผู้ใช้ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCDs) เรื้อรัง เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง (High blood pressure), ยารักษาโรคเบาหวาน (Diabetes), และยารักษาโรคหัวใจ (Heart disease)
  1. การจำหน่ายผ่านร้านขายยา (Over-the-counter: OTC) แม้ระบบ UHC มีผลให้คนป่วยบางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ร้านขายยายังเป็นช่องทางที่ประชาชนเลือกใช้บริการเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ โดยมูลค่าการจำหน่ายยาผ่านร้านขายยามีสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมด ข้อมูลล่าสุด ปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า จำนวนร้านขายยา ทั่วประเทศมี 22,205 แห่ง โดยเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน 18,551 แห่ง (สัดส่วน 5%) ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 19.8% และต่างจังหวัด 80.2% แบ่งเป็น
  • ร้านขายยาเดี่ยว เป็นกิจการขนาดกลางและเล็ก มีจำนวนประมาณ 75% ของร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งหมด
  • ร้านขายยาสาขา (Chain store) ส่วนมากเป็นกิจการรายใหญ่ที่ลงทุนเองและขยายธุรกิจในรูปสาขาเครือข่าย (Franchise) เช่น Fascino, P&F, และ Save Drug (เครือ รพ. กรุงเทพ - BDMS) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) เช่น Discount store, Super-market, ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, และกลุ่มร้านค้าเฉพาะอย่างในหมวดสินค้าสุขภาพ เช่น Watson และ Boots ซึ่งขยายขอบข่ายธุรกิจ โดยเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง

แหล่งข้อมูล

  1. https://workpointtoday.com/medicine-industry/ [2023, June 17].
  2. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/chemicals/phamaceuticals/io/io-pharmaceuticals-2023-2025 [2023, June 17].