2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 30
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 6 เมษายน 2567
- Tweet
ตัวอย่างเช่น อินเดีย แม้มีประชากรสูงอายุ (Elderly population) เกือบ 140 ล้านคน แต่คิดเป็นสัดส่วน (Proportion) เพียง 10.1% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประชากรส่วนมากของอินเดีย (54.3%) มีอายุไม่เกิน 30 ปี
เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และบราซิล ซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรของแต่ละประเทศเพียง 10.1% และ 14% ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ด้วย จำนวน 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.2% ของประชากรทั้งประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้ของประชากรในแต่ละประเทศร่วมด้วย พบว่าสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union: EU) [เช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และอิตาลี] เป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูง โดยมีค่าเฉลี่ยของ GDP (= Gross domestic product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต่อหัวสูงกว่า 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.05 ล้านบาท) บาท) ต่อปี
จึงนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ (Potential) เพราะผู้สูงอายุมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย (Purchasing power) ขณะที่จีน แม้ GDP ต่อหัวอยู่ห่างจากประเทศในกลุ่มข้างต้น แต่ยังมีโอกาสจากจำนวนประชากรสูงอายุที่มากที่สุดในโลก ระดับรายได้ (Income) ปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร
นอกจากนี้ รายได้ของชาวจีนมีแนวโน้ม (Trend) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuous growth) จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว (Economic expansion) ในเกณฑ์ดี สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่น่าสนใจ ตลอดจนโอกาส (Opportunity) ของสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว ในแต่ละประเทศ มีดังนี้
ผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง (Wealth) สูง สังเกตจากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Bank: FED) ที่ระบุว่าประชากรกลุ่มชั่วอายุคน (Generation) Y หรือ Millenium (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2524 - พ.ศ. 2539) ในสหรัฐอเมริกา ถือครอง (Possess) สินทรัพย์ (Property) เพียง 5.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 181.65 ล้านล้านบาท) หรือ 4.6% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของชาวอเมริกันเท่านั้น
ในขณะที่ประชากรกลุ่มเด็กเกิดมาก (Baby Boomer) [ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2507] ถือครองสินทรัพย์รวมกันกว่า 10 เท่าของกลุ่ม Millenium คิดเป็นมูลค่ารวม 59.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,098.6 ล้านล้านบาท) หรือ 53.2% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากประชากรกลุ่ม Baby Boomer เกิดมาหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) และสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Economic recovery) จนถึงยุคที่ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (Continuous expansion) ทำให้มีโอกาสสะสม (Accumulate) ความมั่งคั่งมาอย่างยาวนาน
ขณะที่คนรุ่นใหม่หรือคนในวัยกลางคน (Middel-aged) ต้องเผชิญช่วงที่ เศรษฐกิจตกต่ำหรือเผชิญวิกฤต (Economic crisis) ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้มีรายได้ต่ำกว่า และไม่อาจสะสมความมั่งคั่งได้มาก เช่นคนรุ่นก่อนๆ ค่ายา (Medicine) และค่าบริการทางการแพทย์ (Medical services) เป็นรายจ่ายหลัก (Major expenditure) ของผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งชาวอเมริกันสูงอายุมักมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงกว่า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานถึง 3 เท่า ทั้งนี้ Euromonitor คาดว่าค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ของครัวเรือน (Household) ผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มขึ้นจากปีละราว 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.05 ล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2562 เป็นปีละเกือบ 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนในปี พ.ศ. 2583
แหล่งข้อมูล –
- https://kmc.exim.go.th/detail/20210121152800/20210322110347 [2024, April 5].
- https://www.nber.org/bah/2015no2/medical-spending-elderly [2024, April 5].