9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 31

ธุรกิจการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือ ผู้ให้บริการหาหมอจากทางไกลผ่านระบบการประชุมวีดิทัศน์ (Video- conference) ถือเป็นธุรกิจนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ (Innovative healthcare) กลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดท่ามกลางวิกฤต (Crisis) ของไวรัส COVID-19

โดยในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ตลาดการแพทย์ทางไกลทั่วโลกเติบโต (Global growth) ขึ้นถึง +35% สวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่อัตราการเจาะตลาด (Penetration rate) ของการแพทย์ทางไกลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา นั้น ก็ได้พุ่งสูงขึ้นจาก +0.24% ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 ขึ้นมา มีสัดส่วน (Proportion) เป็น 7% ของการเข้าพบแพทย์ทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี

การแพทย์ทางไกลได้เข้ามาแก้ปัญหา (Problem-solving) และ สร้างคุณค่า (Value creation) ที่สำคัญหลายประการต่อผู้ใช้งาน บุคลากรทางแพทย์ (Medical staff) และระบบสาธารณสุข (Public health) โดยประโยชน์หลักของการแพทย์ทางไกล ก็คือ ความสะดวกสบาย (Convenience)

เนื่องจากคนไข้สามารถเข้ารับคำปรึกษา (Consultation) อาการต่างๆ กับแพทย์ผ่านโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart phone) หรือแทบเล็ต (Tablet) ได้ทันที โดยคนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการการแพทย์ทางไกลนั้น มักจะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Chronic disease) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer), โรคเบาหวาน (Diabetes), และโรคความดันโลหิตสูง (Hyper-tension)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ (Respiratory tract) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ต่อเนื่องยาวนาน ต้องมีการติดตาม (Monitor) อาการและรับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนควบคุมไม่ให้มีการเกิดภาวะแทรกซ้อน (Complication) ในบางกรณี

การใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล จะช่วยให้แพทย์สามารถดูแลอาการคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสามารถลดความคับคั่ง (Traffic) ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลลงได้

นอกจากนี้ การใช้การแพทย์ทางไกล ยังช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการเดินทาง (Travel) อีกด้วย จากงานวิจัยของวารสารอเมริกันการดูแลแบบเหมาจ่าย (American Journal of Managed Care) ระบุว่า คนอเมริกันใช้เวลาในการเดินทางไปพบแพทย์และเวลาในการนั่งรอเรียกคิว (Waiting queue) ที่โรงพยาบาลโดยเฉลี่ยรวมกันมากถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที

การใช้บริการระบบการแพทย์ทางไกล จะช่วยตัดต้นทุนทางด้านเวลาดังกล่าวนี้ออกไป ให้เหลือเพียงเวลาที่คนไข้ใช้ไปกับการพบแพทย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ประเทศที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (Geography) ขนาดใหญ่อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา หรือจีน การใช้บริการรูปแบบพื้นฐาน (Platform) ของการแพทย์ทางไกล ก็ช่วยให้ผู้คนในเขตชนบท (Rural area) สามารถเข้าถึง (Access) บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด (Limited) ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง

จากงานวิจัยของ McKinsey (บริษัทที่ปรึกษาระดับสากล) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2021 ชี้ว่า จำนวนผู้ใช้งานการแพทย์ทางไกล ในสหรัฐอเมริกา ได้พุ่งสูงขึ้น 38 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด (Pandemic) ของไวรัส COVID-19 และทรงตัวในระดับดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้แล้ว

แต่ก็สะท้อน (Reflect) ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior) อย่างถาวรในการหันมาใช้บริการการแพทย์ทางไกลมากขึ้นของคนอเมริกัน ซึ่งผลสำรวจจาก McKinsey ยังชี้ว่า แพทย์และคนไข้มีระดับความพึงพอใจจากการใช้งานการแพทย์ทางไกล Telemedicine ที่สูงถึง 64% และ 74% ตามลำดับ และมีแนวโน้ม (Trend) ที่จะใช้บริการ Platform ดังกล่าวต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.tiscowealth.com/article/innovative-healthcare/Telemedicine-Platform.html [2024, May 12].
  2. https://www.marketdataforecast.com/ [2024, May 12].