ตกเลือดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ หรือ เลือดออกทางช่องคลอดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ (Bleeding during first half of pregnancy)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 21 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หมายถึงอะไร?
- สาเหตุของเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์?
- มีผลข้างเคียงจากภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อะไรบ้าง?
- ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- วินิจฉัยสาเหตุภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรหลังขูดมดลูกหรือมีการแท้งแล้ว?
- หลังแท้งแล้วนานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?
- วิธีคุมกำเนิดหลังแท้งควรทำอย่างไร? ควรเริ่มคุมกำเนิดเมื่อไหร่?
- เมื่อเคยแท้งมาแล้ว ตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะแท้งอีกหรือไม่?
- มีวิธีป้องกันภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หรือไม่?
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- แท้งคุกคาม (Threatened abortion)
- ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion)
- ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)
- ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
- แท้งสมบูรณ์ แท้งครบ (Complete abortion)
- แท้งค้าง (Missed abortion)
- ท้องลม ท้องหลอก (Blighted ovum)
ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หมายถึงอะไร?
ทางการแพทย์ ถือว่าสตรีตั้งครรภ์ใช้เวลาประมาณ 40 สัปดาห์ จึงจะครบกำหนดคลอด ระหว่างนี้ไม่ควรมีเลือดออกทางช่องคลอด หากมีเลือดออกทางช่องคลอดถือว่าผิดปกติ
การมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ การตกเลือด (ในบทความนี้ วลีว่า “การตกเลือด หรือ การมีเลือดออก หรือ ภาวะมีเลือดออก” หมายถึง “มีเลือดออกทางช่องคลอด”) ระหว่างตั้งครรภ์ (Bleeding during pregnancy) แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
ก. การมีเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คือ เลือดออกช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ลงมา โดยเฉพาะจะพบบ่อยในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก อุบัติ การณ์ของเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์พบมากถึง 20-40% กับ อีกกลุ่มคือ
ข. การมีเลือดออกในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ หรือ การตกเลือดก่อนคลอด คือ เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีสาเหตุได้หลายสาเหตุ ซึ่งลักษณะและปริมาณเลือดที่ออก จะมีตั้งแต่เป็น หยดเลือดกะปริดกะปรอย ไปจนถึงมีเลือดออกมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อุบัติการณ์ของเลือดออกในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์พบได้ประมาณ 4% (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การตกเลือดก่อนคลอด)
สาเหตุของเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
สาเหตุของเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มสาเหตุ คือ
- สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
- เลือดออกจากการฝังตัวของตัวอ่อน (Implantation bleeding) ลักษณะจะเป็นเลือดออกเล็กน้อย หากรู้ประวัติประจำเดือนได้แน่นอน ก็สามารถคาดคะเนวันที่ตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ คือ จะประมาณ 3 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ในสมัย ก่อนจะเรียกว่า “เลือดล้างหน้าลูก หรือ เลือดล้างหน้าเด็ก” ซึ่งบางคนไม่สังเกต คิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน แต่โดยทั่วไปปริมาณจะน้อยกว่าประจำเดือนปกติมา
- การแท้ง (Abortion or Miscarriage) คือ เคยมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แต่ไม่สา มารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงก่อนที่ทารกจะมีชีวิตรอดนอกครรภ์มารดา การแท้งมีหลายชนิด คือ
- แท้งคุกคาม (Threatened abortion) จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็ก น้อย อาจมีปวดท้อง ปากมดลูกปิด โอกาสจะตั้งครรภ์ต่อไปได้ มีประมาณ 50%
- แท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) มีเลือดออก ปวดท้อง บางครั้งมีถุงน้ำคร่ำแตกร่วมด้วย ปากมดลูกเปิด ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้
- แท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) จะมีลักษณะเลือดออกมาก ปวดท้องมาก มีเศษทารก หรือ มีเศษรก หลุดมาบางส่วน ปากมดลูกเปิด ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ แพทย์ต้องทำการขูดมดลูกเอาส่วนที่ค้างในโพรงมดลูกออก มาให้หมด เพื่อให้มดลูกหดรัดตัวได้ เลือดจะได้หยุดไหล
- แท้งครบ (Complete abortion) จะมีลักษณะเลือดออกมาก ปวดท้องมากช่วงแรก ต่อมามีทารก หรือรกหลุดออกมา อาการปวดท้องจะหายไป เลือด ออกน้อยลง
- ท้องลมหรือไข่ฝ่อ (Blighted ovum) มีการตั้งครรภ์ แต่ตัวอ่อนฝ่อไป จะมีลักษณะเลือดออกไม่มาก
- แท้งค้าง (Missed abortion) คือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ก่อนแล้วจึงเกิดการแท้ง
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่นอกโพรงมดลูก ที่พบบ่อย คือ ที่ท่อนำไข่ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ท้องนอกมดลูก)
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ที่ต้องได้ รับการยุติการตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกทั้งหมด (Complete mole) มีเฉพาะถุงน้ำใสจำนวนมากในโพรงมดลูก ไม่มีทารก
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกบางส่วน (Incomplete mole) จะมีทารกร่วมกับถุงน้ำใสจำนวนมากในโพรงมดลูก
- สาเหตุไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
- การอักเสบของอวัยวะภายในของสตรี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก และ/หรือ มด ลูก ซึ่งจะมีลักษณะเลือดออกเพียงเล็กน้อย
- การมีติ่งเนื้อเมือกที่ปากมดลูก (Endocervical polyp) จะมีลักษณะเลือดออกเพียงเล็กน้อย
- การมีพยาธิสภาพที่ปากมดลูก เช่น มะเร็งปากมดลูก (Carcinoma of cervix) เลือดที่ออกอาจมีปริมาณเล็กน้อย ไปจนถึงปริมาณมากๆจนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ได้แก่
- สตรีตั้งครรภ์อายุมาก
- สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กายผิดปกติ
- มีความผิดปกติในโครงสร้างหน่วยพันธุกรรม (โครโมรโซม, Chromosome) ในสามี หรือ ในภรรยา หรือในทั้งคู่
- มีความผิดปกติ หรือ มีพยาธิสภาพ ของมดลูก และ/หรือของปากมดลูก
- มีความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
มีผลข้างเคียงจากภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อะไรบ้าง?
ผลข้างเคียง (ภาวะ/ผลแทรกซ้อน) จากมีภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คือ
- แท้งบุตร
- ภาวะซีดจากการเสียเลือด
- ผลต่อด้านจิตใจ ทำให้เกิด ความกังวลใจ ผิดหวัง เสียใจ หมดกำลังใจ เมื่อเกิดการแท้ง
ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะนี้ ขึ้นกับสาเหตุ
- หากทารกสุขภาพแข็งแรงดี เลือดออกไม่มาก มักสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้เป็นปกติ โดยทารกไม่พิกลพิการจากการที่มีเลือดออก
- แต่หากทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซม (Chromosome) ภาวะนี้มักสิ้นสุดด้วยการแท้ง ซึ่งเป็นกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้สิ่งที่แข็งแรงที่สุด
วินิจฉัยสาเหตุภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะนี้ โดย
- ซักประวัติอาการ และประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกใน ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์มีหลายสาเหตุ แพทย์จึงซักประวัติฯอย่างละเอียด เช่น ลักษณะเลือดที่ออก ปริมาณเลือด มีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วยหรือไม่ อาการร่วม เช่น ปวดท้อง ตำแหน่งการปวด ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ตรวจร่างกาย เช่น การวัดความดันโลหิต จับชีพจรว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจหนังตาด้านในว่าซีดหรือไม่ (เพราะหากมีเลือดออกมาก หรือมีเลือดออกในช่องท้องกรณีตั้ง ครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก หนังตาด้านในจะซีด) ตำแหน่งที่มีอาการปวดท้อง มีก้อนในท้องผิดปกติหรือไม่ ขนาดมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่
- การตรวจภายใน ดูว่า มีแผล หรือร่องรอยความผิดปกติต่างๆของช่องคลอด ปากมดลูกหรือไม่ ตรวจขนาดมดลูกว่า สัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ และกดเจ็บหรือไม่ ตรวจปีกมด ลูกมีก้อนหรือไม่ และกดเจ็บหรือไม่
- ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ หรือเป็นการตั้ง ครรภ์นอกมดลูก หรือเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เพราะการตรวจปัสสาวะจะให้ผลบวก (พบว่า มีการตั้งครรภ์) หมดทั้ง 3 โรค ไม่สามารถใช้แยกโรคได้ หรือแม้แต่หากทารกในครรภ์เสียชีวิตในครรภ์ การตรวจปัสสาวะก็ยังให้ผลบวกว่าตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากยังมีฮอร์ โมนเหลืออยู่ในปัสสาวะแม่นานได้ถึง 2-3 สัปดาห์หลังทารกเสียชีวิต
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
การมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้น ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอหากพบว่ามีเลือดออก
รักษาภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อย่างไร?
การรักษาภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์จะขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- แท้งคุกคาม: แพทย์จะแนะนำให้นอนพักผ่อนมากๆ งดทำงานหนัก งดมีเพศสัมพันธ์ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 50% ในกลุ่มที่จะสามารถตั้ง ครรภ์ต่อไปได้ อาการปวดท้องจะลดลง เลือดจะค่อยๆหยุดไป ซึ่งหากการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป เลือดที่ออกก็ไม่ได้มีผลทำให้ทารกผิดปกติ แต่ในรายที่มีโอกาสแท้ง อาการปวดท้องจะเพิ่มขึ้น เลือดออกมากขึ้น แล้วก็จะแท้งออกมา
- แท้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์: การรักษามี 3 ทาง ได้แก่
- รอให้แท้งออกมาเอง ซึ่งส่วนมากจะแท้งภายใน 2 สัปดาห์
- ขูดมดลูก
- เหน็บยาในช่องคลอดเพื่อชักนำให้เกิดการแท้ง
- แท้งไม่ครบ: มักต้องขูดมดลูกหากมีเลือดออกมาก
- แท้งครบ: แพทย์จะเพียงให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก: (อ่านเพิ่มเติมในบท ท้องนอกมดลูก)
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก: การรักษา คือ ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (เครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ) ดูดสิ่งที่อยู่ในโพรงมดลูกออกมา ซึ่งจะดูดได้อย่างรวดเร็ว ลดการเสียเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดูแลตนเองอย่างไรหลังขูดมดลูกหรือมีการแท้งแล้ว?
การดูแลตนเองหลังจากการขูดมดลูกหรือมีการแท้งแล้ว คือ
- พักผ่อนให้เต็มที่
- งดทำงานหนักประมาณ 1 สัปดาห์
- งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- สังเกตอาการเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งควรจะต้องลดลงเรื่อยๆ ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีไข้ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
หลังแท้งแล้วนานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?
ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนจากการศึกษาวิจัยว่า หลังแท้ง นานแค่ไหนจึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมหรือที่ดีที่สุดจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ส่วนมากที่แพทย์แนะนำผู้ป่วยคือ
- หากต้องการมีบุตรเร็ว น่าจะเว้นการมีบุตรไปอย่างน้อยประมาณ 2-3 รอบประจำเดือน คือ ควรรอให้มีประจำ เดือนมาจนเป็นปกติก่อน เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้แข็งแรง ค่อยตั้งครรภ์ครั้งต่อไป โดย เฉพาะหลังได้รับการขูดมดลูก
- แต่หากยังไม่ต้องการมีบุตร ควรพิจารณาคุมกำเนิดไปก่อน จน กว่าจะพร้อมทั้งครอบครัวและสุขภาพมารดา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
วิธีคุมกำเนิดหลังแท้งควรทำอย่างไร? ควรเริ่มคุมกำเนิดเมื่อไหร่?
กรณียังไม่รีบที่จะมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องเริ่มคุม กำเนิดเร็วกว่าการคลอดทารกปกติ
ทั้งนี้ โดยทั่วไป แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจหลังแท้งประทาน 2 สัปดาห์ และแนะนำให้คุมกำเนิดเลย เนื่องจากสตรีกลุ่มนี้จะมีการตกไข่ที่ทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสามารถเกิดได้อย่างรวดเร็วภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังแท้ง
เมื่อเคยแท้งมาแล้ว ตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะแท้งอีกหรือไม่?
สตรีทุกคนมีโอกาส
- แท้ง 1 ครั้งได้ประมาณ 10-15% ซึ่งส่วนมากเกิดจากความผิดปกติของทารก
- ส่วนโอกาสที่จะแท้ง 2 ครั้ง ติดต่อกันมีได้ประมาณ 2 %
- และแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งประมาณ 0.3% โดยหากแท้งติดต่อกัน 3 ครั้ง เรียกว่า แท้งเป็นอาจิณ (Recurrent pregnancy loss) ซึ่งกรณีนี้ ต้องได้รับการสืบค้นหาสาเหตุอย่างจริงจังจากแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม
มีวิธีป้องกันภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หรือไม่?
วิธีป้องกันภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ ซึ่งคือวิธีป้องกันการแท้ง คือ
- รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน ในทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การออกกำลังกาย)
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์)
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ หรือ สารพิษ
- รักษาโรคประจำตัวโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลอดเลือดผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรค เอสแอลอี)
- ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่