ซีรีโบรไลซิน (Cerebrolysin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ซีรีโบรไลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซีรีโบรไลซินอย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซีรีโบรไลซินอย่างไร?
- ซีรีโบรไลซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานูโทรปิก (Nootropic drug)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด (Vascular dementia)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
บทนำ
ยาซีรีโบรไลซิน(Cerebrolysin) เป็นสารสกัดบริสุทธิ์จากสมองของสุกร มีส่วนประกอบของสารประเภทเปปไทด์ (Peptide), นูโทรปิกแฟคเตอร์ (Nootropic factor, สารที่ช่วยในการบำรุงเซลล์สมอง), สารปรับการเจริญเติบโตของสมอง (Nerve growth factor) , และซีเลียรี นิวโรโทรปิก แฟคเตอร์ (Ciliary neurotrophic factor, สารช่วยสร้างสารสื่อประสาท), ด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมา ทางการแพทย์จึงได้นำยาซีรีโบรไลซินมาบำบัดอาการทางสมอง เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก (Stroke), รวมถึงผู้มีภาวะความจำเสื่อม/ สมองเสื่อมด้วยพยาธิสภาพหลอดเลือดในสมอง (Vascular dementia)อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ทางคลินิกดังกล่าวยังต้องการข้อมูลทางการแพทย์ มาสนับสนุนอีกมากพอสมควร
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของ ยาซีรีโบรไลซิน เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้ากล้ามเนื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าสารเปปไทด์(Peptide, สารในกลุ่ม กรดอะมิโน )ในตัวยานี้สามารถถูกทำลายได้โดยน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหาร
ผู้จัดจำหน่าย ยาซีรีโบรไลซิน บางรายยังได้อ้างถึงสรรพคุณและจัดให้ยานี้เป็นยาในกลุ่มนูโทรปิก (Nootropic drug) อีกด้วย
ทั่วไป เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ในแถบประเทศรัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีนและประเทศในแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทย ยาซีรีโบรไลซินถูกจัดให้อยู่ในหมวด ยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
ซีรีโบรไลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซีรีโบรไลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการทางสมองในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke)
- บำบัดภาวะความจำเสื่อม/สมองเสื่อมด้วยเลือดมาเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ/ ภาวะสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด (Vascular dementia)
ซีรีโบรไลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซีรีโบรไลซิน มีส่วนประกอบของสารเปปไทด์ซึ่งมีกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีสารจำพวกแฟคเตอร์(Factor, สารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบช่วยในการทำงานของเซลล์)ต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง กลไกการทำงานจึงคล้ายกับสารอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงบำรุงสมอง จึงทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ยาซีรีโบรไลซินในผู้ป่วยสมองขาดเลือด หรือ ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก(โรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพาต/ Stroke) ตลอดรวมถึงผู้ที่มีภาวะความจำเสื่อม/สมองเสื่อมด้วยเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
ซีรีโบรไลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาซีรีโบรไลซิน:
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Cerebrolysin ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อหลอด
ซีรีโบรไลซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซีรีโบรไลซิน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ให้ยาขนาด 10–50 มิลลิลิตร โดยผสมกับน้ำเกลือโซเดียมคลอร์ไรด์ 0.9% แล้วหยดเข้าทางหลอดเลือดวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ หรือฉีดยานี้ 5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดยา 10 มิลลิลิตรเข้าทางหลอดเลือดอย่างช้าๆ วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์
- เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 0.1 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง แพทย์อาจให้ยาได้ถึง 4 สัปดาห์
ทางคลินิก: ยังได้แนะนำการใช้ยานี้ เช่น
- Stroke: ฉีดยา 20–50 มิลลิลิตรโดยเร็ว เป็นเวลา 10–21 วัน
- Traumatic brain injury: ฉีดยา 20–50 มิลลิลิตรโดยเร็ว เป็นเวลา 7–30 วัน
- Vascular dementia และ Alzheimer’s disease: ฉีดยา 10–30 มิลลิลิตร โดยฉีดยา 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลาต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ภายใน 1 ปี ควรได้รับการให้ยา 2–4 รอบ
อนึ่ง:
- ขนาดการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หลังจากให้ยานี้จนครบเทอมของการรักษา แพทย์อาจนัดหมายผู้ป่วยให้มารับยาใหม่ทุก 2 เดือน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีรีโบรไลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว ขึ้นผื่น คลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีรีโบรไลซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมมารับการฉีดยาซีรีโบรไลซิน ให้ทำการนัดหมายแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมารับการฉีดยาในครั้งใหม่โดยเร็ว
ซีรีโบรไลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาซีรีโบรไลซินเท่าที่มีรายงาน ได้แก่ มีความรู้สึกร้อนวูบวาบหากมีการให้ยาทางหลอดเลือดเร็วเกินไป
มีข้อควรระวังการใช้ซีรีโบรไลซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ซีรีโบรไลซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตระยะรุนแรง
- มารับการฉีดยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
- กรณีมีอาการแพ้ยาหลังให้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีไข้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซีรีโบรไลซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซีรีโบรไลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่พบข้อมูลรายงานการเกิดอันตรกิริยา/ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาซีรีโบรไลซินกับยาชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาซีรีโบรไลซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษาซีรีโบรไลซิน เช่น
- สามารถเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ซีรีโบรไลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซีรีโบรไลซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cerebrolysin (ซีรีโบรไลซิน) | EVER Neuro Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.cerebrolysin.com/fileadmin/redakteur/Cerebrolysin/PDF/Cerebrolysin/Cerebrolysin_Dosage_recommendation.pdf[2019,July27]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cerebrolysin/?type=brief[2019,July27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cerebrolysin[2019,July27]
- http://opac.tistr.or.th/Multimedia/STJN/4603/4603-2.pdf[2019,July27]