ซาลบูทามอล (Salbutamol) เวนโทลิน (Ventolin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยาซาลบูทามอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลบูทามอลอย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซาลบูทามอลอย่างไร?
- ยาซาลบูทามอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
บทนำ
ซาลบูทามอล (Salbutamol หรือ Albuterol หรือ Albuterol sulfate) เป็นยารักษาภาวะหลอดลมเกร็งตัว ใช้บรรเทาอาการป่วยจาก โรคหืดและโรคปอดชนิดเรื้อรัง จัดเป็นยาออกฤทธิ์สั้น อยู่ประเภทเบต้า2-แอดริเนอจิก รีเซฟเตอร์ อโกนิส (Beta-2 adrenergic receptor agonist, ยากลุ่มทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว) ในประเทศไทยจะรู้จักในชื่อการค้าว่า ‘เวนโทลิน (Ventolin)’
ซาลบูทามอลถูกจัดจำหน่ายในตลาดยาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) การบริหารยาในคน ไข้มีทั้งแบบฉีด สูดพ่นเข้าทางเดินลมหายใจ และแบบรับประทาน
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลา 1 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกจัดให้ยานี้เป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุซาลบูทามอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดยาอัน ตราย ด้วยมีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการใช้ยา ดังนั้นการใช้ยาซาล บูทามอลจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ยาซาลบูทามอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาซาลบูทามอลมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาอาการหลอดลมหดเกร็ง/หดตัวแบบเฉียบพลัน
- บรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันในระดับรุนแรง
ยาซาลบูทามอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซาลบูทามอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้นตัวรับในระดับเซลล์ของผนังหลอดลมที่เรียกว่า เบต้า-2 รีเซฟเตอร์ (Beta- 2 receptor) ทำให้หลอดลมคลายตัว จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาซาลบูทามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซาลบูทามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ดขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาพ่นขนาด 100 ไมโครกรัม/โด๊ส (Dose, ปริมาณยาที่ใช้ต่อครั้ง)
- ยาพ่นชนิดสารละลาย ขนาดความเข้มข้น 0.1% และ 0.5% น้ำหนัก/ปริมาตร
- ยาพ่นชนิดเนปบูล (Nebules, ยาพ่นแบบฝอยละอองเพื่อเพิมประสิทธิภาพในการดูดซึมตัวยา) 2.5 มิลลิกรัม
- ยาชนิดน้ำเชื่อมขนาด 2 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาซาลบูทามอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซาลบูทามอลมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลัน: ขนาดการใช้แบบยารับประทาน:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2 - 4 มิลลิกรัม (อาจเพิ่มได้ถึง 8 มิลลิกรัม) วันละ 3 - 4 ครั้ง หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน รับประทาน 8 มิลลิกรัม เช้า - เย็น
- เด็กอายุ 1 เดือน - 2 ปี: รับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (อาจเพิ่มสูงสุดได้ถึง 2 มิลลิกรัม)
- เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 6 ปี: รับประทาน 2 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 2 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง
ข. สำหรับหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลัน: ขนาดการใช้แบบยาพ่น:
- ผู้ใหญ่: พ่น 100 หรือ 200 ไมโครกรัม (พ่น 1 - 2 ครั้ง) วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กทุกอายุและผู้สูงอายุ: ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ค. สำหรับหลอดลมหดเกร็งตัวระดับรุนแรง: ขนาดการใช้แบบยาพ่นชนิดฝอยละออง
- ผู้ใหญ่: ใช้ขนาด 2.5 - 5 มิลลิกรัม อาจพ่นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง/วัน โดยใช้อัตรา 1 - 2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 18 เดือน: ใช้ขนาด 2.5 - 5 มิลลิกรัม อาจพ่นซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง/วัน โดยใช้อัตรา 1 - 2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน : ขนาดการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ
ยานี้ในรูปแบบของยารับประทาน ควรรับประทานยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังอาหาร 2 ชั่วโมง หากรับประทานยานี้เกินขนาด จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว อาการมือสั่น เกิดการกระตุ้นสมอง (ทำให้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ) มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ (กล้าม เนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ) และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งถ้าเกิดอาการเช่นนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซาลบูทามอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขั้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซาลบูทามอลอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานหรือพ่นยาซาลบูทามอล สามารถรับประทานหรือพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้า เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานหรือพ่นยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาซาลบูทามอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซาลบูทามอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เกิดอาการมือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรผิดปกติ เป็นตะคริว ปวดศีรษะ ลมพิษ และความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลบูทามอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลบูทามอลดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาซาลบูทามอล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตกเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์
- ยานี้ขับออกมากับน้ำนมของมารดาได้ แต่ไม่ทราบปริมาณที่แน่นอน การจะใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวาน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาลบูทามอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้ คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้ง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาซาลบูทามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซาลบูทามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยา Co-trimoxazole อาจทำให้การดูดซึมของยา Co-trimo xazole มากขึ้น เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงเพิ่มจากเดิม หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน อาจปรับขนาดรับประทานตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ เช่น Digoxin อาจทำให้ความเข้มข้นของ Digoxin ในกระแสเลือดลดต่ำลง จนส่งผลต่อการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาซาลบูทามอลอย่างไร?
ควรเก็บยาซาลบูทามอลชนิดรับประทานที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius), สำหรับชนิดพ่นและพ่นฝอยละออง เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 25 องศาเซลเซียส, และควรเก็บยาเหล่านี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาซาลบูทามอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซาลบูทามอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aerotamol 100 (เอโรทามอล 100) | Aerocare |
Antomol (แอนโทมอล) | Medicine Products |
Asmasal SDU (แอสมาซอล เอสดียู) | Silom Medical |
Asmasal Syrup (แอสมาซอล ไซรัป) | Silom Medical |
Asmol (แอสมอล) | Suphong Bhaesaj |
Asthalin CFC-Free (แอสทาลิน ซีเอฟซี-ฟรี) | Cipla |
Asthamol (แอสทามอล) | Okasa Pharma |
Asthmolin (แอสโมลิน) | Pharmasant Lab |
Bronchosol (บรอนโชซอล) | Siam Bheasach |
Buto-Asma (บูโท-แอสมา) | Lab Aldo-Union |
Buventol Easyhaler (บูเวนทอล อิสซีเฮเลอร์) | Orion |
Durasal-CR (ดูราซอล-ซีอาร์) | Raptakos |
Naso (นาโซ) | T.Man Pharma |
Sabumol (ซาบูมอล) | GPO |
Salbusian (ซาลบูเซียน) | Asian Pharm |
Salbutac (ซาลบูแทค) | Polipharm |
Salbutamol GPO (ซาลบูทามอล จีพีโอ) | GPO |
Salbutamol Inhalation CFC-Free (ซาลบูทามอล อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี) | Jewim |
Salbutamol Medicpharma (ซาลบูทามอล เมดิฟาร์มา) | Medicpharma |
Salbutamol Osoth (ซาลบูทามอล โอสถ) | Osoth Interlab |
Salbutamol Utopian (ซาลบูทามอล ยูโทเปียน) | Utopian |
Saldol (ซาลดอล) | The Forty-Two |
Salmol Atlantic (ซาลมอล แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Salmol Syrup (ซาลมอล ไซรัป) | Biolab |
Salvent (ซาลเวนท์) | Okasa Pharma |
Sulbuta-N (ซาลบูทา-เอ็น) | L. B. S. |
Venterol (เวนเทอรอล) | Greater Pharma |
Ventolin (เวนโทลิน) | GlaxoSmithKline |
Violin (ไวโอลิน) | T.O. Chemicals |
Zalbu Nebule (ซาลบู เนบลู) | Pharma Innova |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Proventil, Proventil HFA
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Salbutamol [2018,April21]
- http://salbutamol.org/ [2018,April21]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=salbutamol&page=0 [2018,April21]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/salbutamol/?type=full&mtype=generic [2018,April21]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ventolin/?type=brief [2018,April21]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/020503s039lbl.pdf [2018,April21]
Updated 2018,April21