ซัลฟาดอกซีน (Sulfadoxine or Sulphadoxine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ซัลฟาดอกซีน (Sulfadoxine หรือ Sulphadoxine) คือ ยาต้านมาลาเรีย/ ไข้จับสั่น ในกลุ่มยา Sulfonamide, ซึ่งทางคลินิก เมื่อใช้รักษาโรคไข้จับสั่นจะใช้ร่วมกับยา Pyrimethamine, และยาซัลฟาดอกซีนยังใช้เป็นยาป้องกันสำหรับผู้ต้องการเดินทางเข้า พื้นที่ที่มีมาลาเรียชุกชุมอีกด้วย, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน    

ยาซัลฟาดอกซีน เป็นอีกหนึ่งรายการยาที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นมูลฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองใช้ให้บริการกับผู้ป่วย   สามารถใช้ยาซัลฟาดอกซีนได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งการใช้ยาของแพทย์

 หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาซัลฟาดอกซีนจะมีความเข้มข้นสูงสุดในกระแสเลือดภายในประมาณ 4 ชั่วโมง, จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 90%,  ยาซัลฟาดอกซีนสามารถผ่านเข้ารก และถูกขับออกมากับน้ำนมของมารดาได้,  ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 200 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาซัลฟาดอกซีนออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ                                      

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนที่จะใช้ยาซัลฟาดอกซีน: เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติการแพ้ยาซัลฟาดอกซีนมาก่อน
  • ต้องไม่ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง  หรือป่วยด้วยอาการภาวะซีดที่เกิดจากขบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติเนื่องจากการขาดสารโฟเลท (Folate) / ภาวะขาดโฟเลท ที่เรียกว่า โรคโลหิตจางจากขาดวิตามินบี     
  • เป็นผู้ที่อยู่ใน ภาวะตั้งครรภ์ ภาวะให้นมบุตร หรือ เป็นทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติ โรคหืด   ป่วยด้วยโรคระบบเลือด  โรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกดี (G6PD) โรคลมชัก ติดสุราเรื้อรัง หรือเป็นโรคซึมเศร้า ควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบก่อนทุกครั้ง เพราะยาซัลฟาดอกซีนจะทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • การปรับขนาดรับประทานยานี้เอง สามารถส่งผลเสียต่ออาการป่วยได้ทั้งสิ้น เช่น   หากรับประทานยานี้น้อยกว่าคำสั่งแพทย์  อาการของมาลาเรียจะไม่ทุเลาลง และสามารถเกิดภาวะดื้อยาของเชื้อมาลาเรียติดตามมา,   หรือการรับประทานยานี้มากกว่าคำสั่งแพทย์ สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด และมักจะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน เช่น  ปวดหัว  คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  เกิดการ กระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือสมอง(ส่งผลเกิดอาการชัก)  เกิดภาวะทางระบบเลือด เช่น โลหิตจางจากขาดวิตามินบี, เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, มีภาวะลิ้นอักเสบ, ตรวจพบผลึกยานี้ในปัสสาวะ (ตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะ)               

อนึ่ง: หากพบกรณีแพ้ยาซัลฟาดอกซีน แพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องและให้สารน้ำกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันความเสียหายของไตเนื่องจากภาวะขาดน้ำของร่างกาย รวมถึงการควบคุมสัญญาณชีพ และอาการต่างๆของร่างกายให้เป็นปกติมากที่สุด 

ข้อสำคัญ การใช้ยารักษาโรคเป็นเรื่องของปลายเหตุ ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยง และป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย โดยไม่เข้าพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียชุกชุมโดยไม่มีความจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานยาป้องกันก่อนเข้าพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียระบาด, ใช้โลชั่นทากันยุง, นอนกางมุ้ง,  และใส่เสื้อผ้ามิดชิด, เป็นต้น

ซัลฟาดอกซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาซัลฟาดอกซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • เป็นยาป้องกันและบำบัดรักษาการติดเชื้อมาลาเรีย อันมีสาเหตุจากโปโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว ที่มีชื่อเรียกว่า Plasmodium falciparum(P. falciparum) และจากเชื้อดื้อต่อยา Chloroquine

ซัลฟาดอกซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัลฟาดอกซีน มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้สร้างสารอาหารบางชนิดในการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรียที่มีชื่อว่า ‘Dihydropteroate synthase’  รวมถึงรบกวนการสังเคราะห์ กรดโฟลิก /โฟเลท/Folate ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้เชื้อหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

ซัลฟาดอกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟาดอกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ผสมร่วมกับยา Pyrimethamine (Sulfadoxine 500 มิลลิกรัม + Pyrimethamine 25 มิลลิกรัม/เม็ด)

ซัลฟาดอกซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาซัลฟาดอกซีนเฉพาะกรณีสำหรับรักษาการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น  เช่น

ก. ผู้ใหญ่: รับประทาน 2 – 3 เม็ด ครั้งเดียวพร้อมอาหาร, หากต้องรับประทานซ้ำ ต้องเว้นเวลาห่างจากการรับประทานยาครั้งแรก 7 วัน เป็นอย่างต่ำ

ข. เด็กที่อายุตั้งแต่ 2 เดือน ขึ้นไป: โดยเทียบจากน้ำหนักตัว: เช่น

  • น้ำหนัก 5 – 10 กิโลกรัม: รับประทานยา ½ เม็ด, ครั้งเดียว
  • น้ำหนัก 11 – 20 กิโลกรัมรับประทานยา 1 เม็ด, ครั้งเดียว
  • น้ำหนัก 21 – 30 กิโลกรัม: รับประทานยา 1.5 เม็ด, ครั้งเดียว
  • น้ำหนัก 31 – 45 กิโลกรัม: รับประทานยา 2 เม็ด, ครั้งเดียว
  • น้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยา 2-3 เม็ด, ครั้งเดียว โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เป็นกรณีไป
  • น้ำหนักน้อยกว่า 5 กิโลกรัม: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ค. เด็กอายุต่ำกว่า 2เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงผลข้างเคียงจากยานี้ที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • แพทย์อาจเพิ่มการให้ยา Quinine กับผู้ป่วยหลังจากรับประทานยาซัลฟาดอกซีนกับยา Pyrimethamine ไปแล้ว 3 – 5 วัน, ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ขนาดและระยะเวลาการใช้ยาซัลฟาดอกซีนเพื่อการป้องกันมาลาเรีย ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้, และการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซัลฟาดอกซีน  ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร  เช่น              

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟาดอกซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร  เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซัลฟาดอกซีน  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาซัลฟาดอกซีน ตรงเวลา

ซัลฟาดอกซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่สามารถพบเห็นได้จากการใช้ยาซัลฟาดอกซีน: เช่น

  • อาการทางผิวหนัง: เช่น เกิดลมพิษ, ผิวแพ้แสงแดดง่าย,   Stevens-Johnson syndrome
  • อาการต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน   ปวดท้อง   ท้องเสีย
  • อาการต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว  ปลายประสาทอักเสบ/โรคเส้นประสาท  วิงเวียน  เกิดอาการลมชัก
  • อาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น การควบคุมการทรงตัวผิดปกติ  ปวดข้อ
  • อาการทางหู: เช่น  มีเสียงอื้อในหู/หูอื้อ

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟาดอกซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาดอกซีน: เช่น           

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาซัลฟาดอกซีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไตขั้นรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคเลือด ผู้ที่มีภาวะซีดชนิดโลหิตจางจากขาดวิตามินบี
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือนลงมา   
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • หลังรับประทานยานี้ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว, ก่อนวันแพทย์นัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีร่างกายขาดสาร Folate, ผู้ป่วยด้วยโรคหืด,  ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี/G6PD
  • ดื่มน้ำตามอย่างเพียงพอขณะรับประทานยานี้ เพื่อป้องกันการตกตะกอนผลึกของยานี้ ในปัสสาวะของผู้ป่วย
  • *ระหว่างใช้ยานี้ หากพบอาการผื่นคัน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน เพื่อแพทย์ตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้หรือไม่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลฟาดอกซีน)  ยาแผนโบราณทุกชนิด อาการเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน

ซัลฟาดอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟาดอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาซัลฟาดอกซีน ร่วมกับยา Cyclosporine ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจเกิดความเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซัลฟาดอกซีน ร่วมกับยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย และเกิดความเสียหายต่อ ไต และ ตับของผู้ป่วย  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาซัลฟาดอกซีน ร่วมกับยา Methenamine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะตกตะกอนของยาซัลฟาดอกซีนในปัสสาวะของผู้ป่วย
  • การใช้ยาซัลฟาดอกซีน ร่วมกับยา Methotrexate  สามารถทำให้ระดับยา Methotrexate ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการผิวซีด  มีภาวะเลือดออกง่าย  อ่อนเพลียอย่างผิดปกติ  เกิดแผลในปาก  คลื่นไส้อาเจียน  อุจจาระมีสีคล้ำออกดำ  ปัสสาวะน้อยลง  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาซัลฟาดอกซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาซัลฟาดอกซีน: เช่น 

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือใน

ซัลฟาดอกซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟาดอกซีน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Vinsilar (วินซิลาร์) Chew Brothers

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfadoxine  [2022,Sept24]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vinsilar/  [2022,Sept24]
  3. http://www.mims.com/India/drug/info/sulfadoxine%20%2b%20pyrimethamine/?type=full&mtype=generic#Over dosage  [2022,Sept24]  
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB01299 [2022,Sept24]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/pyrimethamine-sulfadoxine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Sept24]