จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 386: - งานวิจัยของอัลเฟรด บีเนต์ (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 386: - งานวิจัยของอัลเฟรด บีเนต์ (2)

บททดสอบทางสติปัญญาแบบใหม่นี้สามารถแยกแยะว่า เด็กจะแสดงผลลัพธ์เหมาะสมกับช่วงอายุไหน โดยเฉพาะถ้าเด็กสามารถทำข้อสอบได้ทุกข้อ ในส่วนของตัววัดสติปัญญาของเด็กอายุ 3 ขวบ แต่ไม่สามารถตอบคำถามสำหรับเด็กที่โตกว่าได้ จะถือว่าเด็กคนนั้นมีระดับความสามารถทางสมอง (Mental Age) เทียบเท่าเด็ก 3 ขวบ

ดังนั้นเด็กอายุ 6 ขวบที่สามารถตอบได้เพียงคำถามสำหรับเด็ก 3 ขวบ จะมีการสรุปว่าเขามีระดับความสามารถทางสมองเทียบเท่ากับเด็ก 3 ขวบ และจะได้รับพิจารณาว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องการพัฒนาทางสติปัญญา สิ่งนี้ทำให้แบบทดสอบทางสติปัญญาของ อัลเฟร็ด บีเนต์ (Alfred Binet) กลายเป็นที่โด่งดัง เพราะว่าคะแนนสามารถแสดงให้เห็นถึงระดับความสามารถทางสมองได้

ระดับความสามารถทางสมองเป็นกระบวนการที่ใช้ประเมิณค่าพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็ก โดยเปรียบเทียบผลคะแนนจากแบบทดสอบทางสติปัญญาที่เด็กทำได้ กับค่าเฉลี่ยคะแนนของเด็กคนอื่นในอายุวัยเดียวกัน

ณ เวลานั้น แบบทดสอบทางสติปัญญาของบีเนต์และ ธีโอดอร์ ไซมอน (Theodore Simon) สามารถให้ผลลัพธ์ในมุมมองของความสามารถทางสติปัญญา แต่ไม่นับเป็นว่าคะแนนไอคิว (IQ score) เพราะว่าการเปรียบเทียบคะแนนไอคิวไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่เป็นแนวความคิดที่ได้รับการพัฒนาหลายปีหลังจากนั้นโดย แอล เอ็ม เทอร์แมน (L.M. Terman)

ต้องถือว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อบีเนต์และไซม่อน ได้นำเสนอแนวคิดของระดับความสามารถทางสมองและแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อมาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1916 เมื่อเทอร์แมนและเพื่อนร่วมทีมของเขาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ค้นพบวิธีการที่ดีกว่า เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของแบบทดสอบโดยการพัฒนาแนวคิดของคะแนนสอบในมุมมองระดับความสามารถทางสมอง โดยเทอร์แมนได้สร้างสมการเพื่อคำนวณผลหารของค่าสติปัญญา (Intelligence Quotient : IQ) หรือคะแนนไอคิว

ผลหารของค่าสติปัญญาเป็นสมการที่เกิดขึ้น จากการนำคะแนนของระดับความสามารถทางสมองหารด้วยอายุจริง (Chronological age) และคูณด้วย 100

ในแบบทดสอบของบีเนต์ การวัดค่าทางสมองคำนวณโดยจำนวนข้อที่เด็กสามารถตอบได้และเหมาะสมกับช่วงอายุวัยนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ สามารถทำแบบทดสอบและได้คะแนนเทียบเท่ากับเด็กอายุ 5 ขวบ จะพิจารณาว่าเธอมีอายุทางสมองเท่ากับเด็กอายุ 5 ขวบ และอายุจริงของเด็กคนนั้นจะเทียบเท่ากับจำนวนเดือนตั้งแต่ปีที่เขาได้เกิดมา เพื่อวัดคะแนนไอคิว เราสามารถใช้สมการของเทอร์แมนได้

จากตัวอย่างข้างต้นเด็กหญิงคนดังกล่าวได้คะแนนความสามารถทางสมองอยู่ที่ 5 ปขวบ และอายุจริงของเธอคือ 4 ขวบให้นำเข้าสมการของเทอร์แมนโดยการนำ 5/4 = 1.25 แล้ว x 100 = 125 เพราะฉะนั้นไอคิวของเด็กผู้หญิงคนนี้จะเท่ากับ 125 คะแนนซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ เรียกว่าอัตราส่วนของตัวหารทางสติปัญญา (Ratio IQ) เพราะว่าคะแนนแสดงให้เห็นอัตราส่วนของสมองและอายุจริง

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed).  Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
  2. Intelligence - https://en.wikipedia.org/wiki/Intelligence [2022, Oct 1].
  3. Alfred Binet - https://en.wikipedia.org/wiki/Alfred_Binet [2022, Oct 1].
  4. Lewis Terman - https://en.wikipedia.org/wiki/Lewis_Terman [2022, October 1]